คำวิงวอน ของข้าพเจ้า ถึง กรมชลประทาน

คำวิงวอน ของข้าพเจ้า ถึง กรมชลประทาน

ผมทราบมาว่า กรมชลประทาน​มีโครงการจะสร้างเขื่อน ในอุทยานแห่งชาติ​ดอยภูนาง จ.พะเยา 

โดยสันเขื่อนจะลึกเข้าไปในอุทยานประมาณ​ 5 กม. กินพื้นที่ในป่าอนุรักษ์ ราว 400 ไร่ 

พื้นที่โครงการจะมีผลกระทบกับป่าไม้และสัตว์ป่า​จำนวนมาก

โดยเฉพาะยิ่ง ดอยภูนาง เป็นบ้านสำคัญที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่หลังของเผ่าพันธุ์นกยูงไทย Green Peafowl Pavo muticus ในธรรมชาติซึ่งเป็นสัตว์ที่มีสถานภาพ ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ในระดับโลก 

การกระจายของนกยูงไทย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง ไม่ได้กระจายตัวเท่ากันไปทั่วๆ บริเวณ 

แต่กระจุกตัวอยู่บริเวณ พื้นลุ่มริมน้ำ ที่เหมาะกับการดำรงชีวิตของนกยูง

จากการสำรวจ พบว่าพื้นที่ห้วยแม่เมาะที่จะถูกทำลายจมใต้น้ำ หากมีการสร้างเขื่อนนี้ มีนกยูงไทย อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น (20 ตัว ต่อ ตร.กม.) 

หลายคนอาจมองว่า พื้นที่น้ำท่วมตรงนี้ เราก็จัดการให้ นกยูงย้ายไปอาศัยที่อื่นได้ 

แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น

สัตว์แต่ละชนิด มีความต้องการทางชีววิทยาที่จำเพาะ

พื้นที่ที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตของนกยูงที่ดีที่สุด คือ พื้นที่ราบลุ่มริมลำห้วย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ และนกยูงต้องใช้ลานหาดริมห้วยเป็นพื้นที่ในการเกี้ยวพาราสี จับคู่ผสมพันธุ์

ทุกวันนี้ เราอยู่ในวิกฤตของการ สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรุนแรง

สัตว์ป่าหลายชนิดประสบปัญหารายล้อม

เราจึงจำเป็นต้องทำทุกวิธีทาง ที่จะหลีกเลี่ยงการสร้างปัจจัยเชิงลบ ต่อการการดำรงชีวิต สืบทอดเผ่าพันธุ์ของพวกมัน 

ในประเด็นความจำเป็นการจัดหาแหล่งน้ำให้ชุมชนนั้น เรามีทางเลือกอื่นมากมาย คณะกรรมการ​อุทยาน​แห่งชาติ เคยมีมติให้กรมชลฯ ​ขยับพื้นที่โครงการออกไปนอกเขตอุทยานฯ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่และสัตว์ป่า

แต่วันนี้กรมชลประทาน ส่งเรื่องกลับมาให้คณกรรมการอุทยานแห่งชาติ พิจารณาใหม่ โดยยืนยันจะสร้างในจุดเดิม 

การรักษาป่าอนุรักษ์ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ยังคงหลงเหลือน้อยนิดนี้

เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด

เพื่อคงไว้ซึ่ง ความสมดุลทางธรรมชาติ และบริการทางนิเวศ ที่ ประชาชนทุกคนต่างพึ่งพา

เป็นหลักประกันของการกินดีอยู่ดี ความปกติสุขของเราในระยะยาว 

ผมจึงใคร่ขอวิงวอน กรมชลประทาน พิจารณาแผนทางเลือก ปรับแผนโครงการบริหารจัดการน้ำไม่ให้กระทบกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ของอุทยานดอยภูนาง 

เราไม่อาจสูญเสียพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ไปได้อีกแล้วครับ 

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code


นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์
ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพ : Conservation Ecology Program, King Mongkut’s University of technology Thonburi ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช