ความหลากหลายทางชีวภาพจะเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อเราเข้าร่วม CPTPP

ความหลากหลายทางชีวภาพจะเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อเราเข้าร่วม CPTPP

การตีแผ่ข้อมูลการประชุมลับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ว่าด้วยมติครม.เห็นชอบดำเนินขั้นตอน นำไทยเดินหน้าเข้าสู่การเป็นสมาชิก CPTPP ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ขึ้นอยู่กับความเห็นของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะตวัดปากกาเซ็นเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบจนเกิดต่อต้านจากสังคม

โดยแคมเปญ หยุดทำลายความมั่นคงทางอาหาร #NoCPTPP’ ที่ถูกสร้างขึ้นโดย greenpeace Thailand มียอดลงชื่อสนับสนุนกว่า 166,018 รายชื่อ ขณะที่การรณรงค์#NoCPTPPบนเว็บไซต์ Change.org มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนกว่า 70,220 รายชื่อ

อะไรคือปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้คนบนโซเชียลมีเดียจำนวนเรือนแสนต่างพร้อมใจออกมาคัดค้านการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ของรัฐบาลไทย
.

อะไรคือ CPTPP

ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุน เพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

ความตกลงนี้ริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2549 มีชื่อเดิมว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) และมีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในตอนนั้นถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2560 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อโดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP ปัจจุบัน มีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม

โดยประเทศไทยเริ่มมีกระแสเข้ามาพัวพันกับการดำเนินขั้นตอนเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเกิดจากแนวคิดของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ที่จะเสนอต่อการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 พิจารณาวาระสำคัญเรื่องการเจรจาความตกลง CPTPP

แต่การเสนอพิจารณาในวันดังกล่าว ถูกถอดถอนจากในประชุมครม.โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ด้วยเหตุผลว่า ยังมีกระแสการคัดค้านและยังหาข้อสรุปไม่ได้หลายประการ
.

สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาของชนกสิกรรม

มีเหตุผลหลายประการที่ภาคประชาสังคมไม่ยอมรับ หากประเทศไทยลงนามข้อตกลงและเป็นสมาชิก CPTPP  อาทิ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน การเข้าถึงยา และเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในมิติความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหาร

แต่โบราณมาชนกสิกรรมไทยมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ อันเป็นการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ จากการเป็นผู้ควบคุมการผลิตด้วยตัวเอง ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยว เมื่อสิ้นฤดูการทำเกษตรเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ จะถูกเก็บไว้เพื่อใช้ในการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่ดีย่อมเกิดจากผลผลิตที่ดีมีคุณค่าทางโภชนาการ

ดังนั้น เกษตรกรย่อมเลือกสรรสิ่งที่ดีเพื่อเก็บไว้ และแบ่งปันเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ให้เพื่อนร่วมอาชีพตามวิถีสังคมบรรพบุรุษ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นพืชหลายชนิดมีสายพันธุ์ที่หลากหลาย อาทิ มะม่วง ทุเรียน ขนุน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาที่ถูกสืบทอดมาจนถึงสังคมเกษตรยุคปัจจุบัน

หากประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของ CPTPP ความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้อาจหายไป เนื่องจากการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ซึ่งตัดสิทธิพื้นฐานของเกษตรกรในการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ ข้อกำหนดนี้ต่างจาก พ...คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ที่ให้สิทธิ์เกษตรกรเก็บส่วนขยายพันธุ์ของพืชไว้เพื่อขยายพันธุ์ต่อไปได้ ดังนั้น เพียงแค่เก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อไปปลูกต่อ ก็จะมีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 แสนบาท

นอกจากนี้ อนุสัญญาดังกล่าวยังกำหนดให้ผู้ทรงสิทธิ์ในพันธุ์พืชคุ้มครองที่ถูกผู้อื่นนำไปศึกษาวิจัยสามารถอ้างสิทธิ์ในผลงานการวิจัยหรือการพัฒนาพันธุ์พืชขึ้นใหม่ได้ หากพิสูจน์ได้ว่าพันธุ์พืชใหม่ที่ได้ไม่มีความแตกต่างจากพันธุ์พืชคุ้มครอง

พันธุ์พืชใหม่ที่เกิดจากการวิจัยก็จะตกเป็นสิทธิ์ของผู้ทรงสิทธิ์เดิม ในฐานะที่เป็นพันธุ์พืชที่ได้มาจากพันธุ์พืชคุ้มครอง (essentially derived varieties) (TDRI, 2017) และมีการขยายระยะเวลาคุ้มครองสายพันธุ์พืชถึง 20 ปี ทำให้นักพัฒนาพันธุ์ในไทยพัฒนาสายพันธุ์ต่อไม่ได้ เพราะมีระยะเวลาคุ้มครองยาวนาน ข้อผูกมัดทางกฎหมายนี้ ทำให้วิถีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรอินทรีย์รายย่อยถูกทำลายไป เสมอการถูกลิดรอนภูมิปัญญาของเกษตรชนรากหญ้า
.


.

CPTPP กับความมั่งคงทางอาหารในยุคไวรัสระบาด

เมื่อเมล็ดพันธุ์ถูกจำกัดสิทธิ์ในการเพาะปลูกตามความตกลง CPTPP ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงถึงอาหารอันเป็นปัจจัยสำคัญที่มนุษย์ขาดไม่ได้ 

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI (ไบโอไทย) กล่าวว่า ในเชิงเศรษฐกิจหากมีการขึ้นทะเบียนเมล็ดพันธุ์จากนายทุนใหญ่ ย่อมส่งผลให้เมล็ดพันธุ์มีราคาสูงขึ้น โดยจากการคำนวณเบื้องต้นพบว่า เมล็ดพืชบางสายพันธุ์อาจมีราคาสูงขึ้นถึง 2 – 6 เท่าตัวเกษตรกรรายย่อยจะกลายเป็นผู้แบกรับภาระโดยตรงซึ่งผลกระทบนี้กลายเป็นปัญหาแบบลูกโซ่ที่ผู้บริโภคจะต้องแบกรับต่อกับราคาอาหารและสินค้าที่สูงขึ้นเนื่องจากต้นทุนในการเพาะปลูกที่แพงกว่าทั่วไป

ความหลากหลายของอาหารในจานก็จะน้อยลงไปด้วย เนื่องจากกระบวนการส่งเสริมการผลิตในรูปแบบดังกล่าว มุ่งเน้นไปที่รูปแบบการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งจะเป็นกลไกในการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพไปพร้อมกัน

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีกล่าวต่อว่า ปัญหาสถานการณ์การระบาดโควิด – 19 ในทุกวันนี้เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ทำให้สาธาณชนตระหนักถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหารมันชี้ให้เห็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเพราะมันเป็นฐานรากสำคัญ ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถเอาตัวรอดจากภาวะความขาดแคลนอาหาร

กรณีกลับกัน หากไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP อาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลน เมื่อการขนส่งภายนอกมีปัญหา อย่างกรณีไวรัสระบาดเมืองในปัจจุบัน ส่งผลให้หลายประเทศที่ต้องพึ่งการนำทรัพยากรภายนอกต้องประสบกับปัญหาปากท้องที่หนักหน่วงกว่าประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารสูง

ความเห็นของผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี สอดคล้องกับมุมมองของ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่มองว่าหากรัฐบาลจะตัดสินใจเข้าเป็นภาคีสมาชิกจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบอย่างกว้างขวางต่อภาคเกษตร โดยเฉพาะรายย่อยที่ยากจนมีภาวะด้อยโอกาสในด้านต่างๆ รวมทั้งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพ การพึ่งพาตนเองในด้านพันธุ์พืช ส่งผลไปยังความมั่นคงด้านอาหาร

ทั้งนี้ เกษตรกรซึ่งเป็นกระดูกสันหลังแห่งชาติ ต้องออกมาคัดค้านเพื่อรักษาสิทธิ์ที่พึงมี และรักษาศักดิ์ศรีของความเกษตรไม่ให้ใครมาย่ำยี ปกป้องผลประโยชน์ของครัวเรือนประเทศชาติจากการเอาเปรียบของนายทุน
.

ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของรัฐบาลประยุทธ์

ในวันเดียวกันที่โลกออนไลน์เต็มไปด้วย #NoCPTPP (6 พฤษภาคม) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงว่า ครม.ยังไม่ได้มีการเห็นชอบให้ไทยไปขอเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP แต่อย่างใด มีเพียงการอนุมัติให้ขยายระยะเวลาเพิ่มเติมอีก 50 วัน เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) หารือกับภาคส่วนต่างๆให้ครอบคลุมครบถ้วนและรอบคอบมากที่สุด

อย่างไรก็ดี ในถ้อยแถลงของรองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ไม่ได้มีหลักประกันที่จะยุติการเดินหน้า CPTPP ดังนั้น หลายฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่า ประชาชนต้องเฝ้าจับตามองกลไกของรัฐ ในในอีก 50 วันข้างหน้าก่อนจะมีการสรุปผลเรื่องนี้

ในความเป็นจริงคงต้องยกเครดิตเหล่านี้ให้กับคนรุ่นใหม่ ที่ช่วยส่งเสียงคัดค้านบนโลกโซเชียล จนกลายเป็นกระแสให้เกิดการตั้งคำถาม กับการพิจารณาเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ซึ่งพวกเขามีสิทธิ์ที่จะออกมาคัดค้าน เพราะในอนาคตเขาต้องใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่เกิดจากการตัดสินใจของเรื่องนี้

ดังนั้น เขาพวกจึงมีสิทธิ์ที่จะออกมาปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งหากมีการตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP ก็คงจะเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของรัฐบาล ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เกษตรกร แต่ยังเป็นการทำลายโอกาส และอนาคตของประเทศที่คนรุ่นใหม่กำลังมีความหวังอยู่

หากไม่มีคนรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียมาขับเคลื่อนกระแส #NoCPTPP การชะลอพิจารณาความตกลง CPTPP คงไม่เกิดซึ่งผมยอมรับว่าเอนจีโอหรือวงการวิชาการคงไม่มีพลังพอในการสร้างกระแสให้ผู้คนทั่วไปเห็นความสำคัญ

ดังนั้นผมจึงยกเครดิตคนรุ่นใหม่ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องแปลกเลยเพราะพวกเขามีสิทธิ์ที่จะรักษาทรัพยากรเหล่านี้ไว้ เพื่อผดุงความหลากหลายชีวภาพ อันจะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารในอนาคต ที่พวกเขาจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ต่อไปผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวทิ้งท้าย

 


หมายเหตุ
  • แคมเปญหยุดทำลายความมั่นคงทางอาหาร #NoCPTPP ข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 เวลา 15.25 .
  • แคมเปญ ‘#NoCPTPP’ บนเว็บไซต์ Change.org ข้อมูล วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 เวลา 15.28 .

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ