หากกล่าวถึงพื้นที่อนุรักษ์ที่สำคัญของประเทศไทย หลายคนคงนึกถึงอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าขนาดใหญ่ ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งสถานที่ดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรฐานการดูแลที่สูงกว่าพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ทั่วไป
ดังนั้นบุคลากรที่จะเข้าไปดูแลพื้นที่ จึงต้องเป็นบุลคลสำคัญและต้องเพียบพร้อมไปด้วยองค์ความรู้ และประสบการณ์ในจัดการดูแลผืนป่าอนุรักษ์สำคัญเหล่านี้ ซึ่งตำแหน่ง ‘หัวหน้า’ อันเปรียบเสมือนหัวเรือใหญ่ในการป้องกันดูแลอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ‘เกรดเอ’ จึงต้องมาจากผู้ที่คร่ำหวอดในวงการอนุรักษ์ ที่ผ่านการทำงานมาอย่างโชกโชน และมีดีกรีทางคุณวุฒิสูงตามความเหมาะสม
ซึ่งหากย้อนดูขั้นตอนการแต่งตั้งหัวหน้าผู้ดูแลพื้นที่อนุรักษ์สำคัญ ๆ ข้างต้น ที่รับผิดชอบโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ผ่านมา ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่อง ‘หลักเกณฑ์’ พิจารณาความเหมาะสมของบุคลากรในการเข้าไปบริหารดูแลป้องกัน และพัฒนาพื้นที่อย่างชัดเจน
กระนั้น มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเคยมีข้อเสนอถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 โดยมีหัวใจสำคัญเรื่อง ‘โครงสร้างบุคลากรและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช’ โดยมุ่งไปที่เรื่อง ‘การโยกย้ายและการเข้าสู่ตำแหน่งของบุคลากร ตามหลักธรรมมาภิบาล’
เนื่องจากที่ผ่านมา การได้มาซึ่งตำแหน่งโดยมิชอบได้เกิดขึ้นอยู่ในทุกยุคสมัย ซึ่งได้สร้างความคลุมเครือในภาวะการบริหารของบุคลากรในพื้นที่ โดยทางกรมอุทยานฯ ได้มีความพยายามที่จะปรับแก้ปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ได้มีการสำรวจจากข้อมูลเชิงประจักษ์ กรณีการเก็บเงินรายได้ของอุทยานแห่งชาติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมหลายเท่า ทั้งที่จำนวนของนักท่องเที่ยวมีไม่ต่างจากเดิม ซึ่งถือเป็นภาพสะท้อนของความไม่ปรกติในอดีตที่ผ่านมา และมีโอกาสที่ปัญหาดังกล่าวจะกลับมา หากทางผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียในเรื่องของโครงสร้างและประสิทธิภาพในการทำงาน ตลอดจนส่งผลกระทบถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคต
ประการแรกที่น่าสนใจคือ ‘การได้มาซึ่งตำแหน่งโดยมิชอบ’ ซึ่งจะนำไปสู่การคอรัปชั่นในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทองและหน้าที่ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนางานอนุรักษ์ตามแผนงานที่ควรจะเป็น เพราะผลประโยชน์ไม่ได้จบลงแค่การได้มาซึ่งตำแหน่ง แต่จะขยับต่อไปถึงการเรียกเงินเพื่อรักษาตำแหน่งให้อยู่ได้นานขึ้นอีกด้วย
เมื่อผู้เข้ามาบริหารพื้นที่อนุรักษ์ไม่ได้มาซึ่งตำแหน่งโดยความชอบ อาจส่งผลให้หัวหน้าผู้ดูแลพื้นที่ขาดประสิทธิภาพในการพัฒนาบุคลากร ซึ่งหากยังคงมีการซื้อขายตำแหน่งอยู่ อาจจะส่งผลต่อขวัญและกำลังใจของเจ้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจให้เกิดความท้อถอย และนำไปสู่ประสิทธิภาพในทำงานที่ล้มเหลว
ลำดับถัดมาที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร อยากให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ ดำเนินการแก้ไขคือ การจัดจ้างลูกจ้างชั่วคราวรายวัน เช่น พนักงาน TOR พนักงานราชการ ไม่ตรงตามที่จัดจ้างจริง หรือที่เรียกกันว่า ‘ลูกจ้างผี’ ซึ่งยังคงพบข้อมูลอยู่ในหลายพื้นที่อนุรักษ์ โดยลูกจ้างผีคือ มีชื่อแต่ไม่มีผู้ปฏิบัติงานจริง อันจะมีผลกระทบต่อหน่วยงานโดยตรง เนื่องจากบุคลากรมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการทำงานในพื้นที่ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องมองถึงระดับผู้บริหารจากส่วนกลางไปจนถึงผู้ดูแลในพื้นที่
ประการสุดท้ายคือ เร่งรัดให้กรมอุทยานฯ จัดทำระเบียบ ว่าด้วยการเข้าสู่ตำแหน่งโดยหลักความรู้ ความสามารถที่เหมาะสม เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาการโยกย้ายที่เปิดช่องทางการหาผลประโยชน์ของฝ่ายบริหารที่กล่าวมาข้างต้น
ดังนั้น เมื่อที่มาของผู้ดูแลพื้นที่ยังไม่มีระเบียบการแต่งตั้งที่ชัดเจน จึงส่งผลให้เกิดกรณีวิพากษ์วิจารณ์จากภายในและวงการอนุรักษ์ เรื่องการแต่งตั้งผู้บริหารพื้นที่ อาทิ กรณีการแต่งตั้งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 สำนักข่าวมติชนออนไลน์ได้รายงานว่า หลังจากที่มีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ที่มาจากส่วนฟื้นฟูอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) มาเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แทนหัวหน้าคนเก่าที่ย้ายไปรับตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดปราจีนบุรี
โดยคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันภายในกระทรวงและกรมอุทยานฯ รวมไปถึงแวดวงอนุรักษ์ที่ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า หัวหน้าอุทยานฯ เขาใหญ่คนใหม่ ไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากไม่เคยผ่านการทำงานในตำแหน่ง ‘หัวหน้าอุทยานฯ’ มาก่อนเลย ซึ่งมติชนออนไลน์รายงานเพิ่มเติมว่า หัวหน้าเขาใหญ่คนใหม่ ‘มีความใกล้ชิด’ กับผู้บริหารในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ขณะที่ ดร. อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ได้ออกจดหมายเปิดผนึกตั้งข้อสังเกตกับประเด็นดังกล่าวว่า หัวหน้าอุทยานฯ เขาใหญ่คนใหม่ ไม่มีประสบการณ์งานด้านอุทยานแห่งชาติมาก่อน จึงอาจกระทบต่องานอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า พร้อมเรียกร้องให้นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทบทวนคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า การแต่งตั้งหัวหน้าอุทยานฯ เขาใหญ่ เป็นเรื่องของอธิบดีกรมอุทยานฯ ซึ่งการที่มีคนพูดว่า หัวหน้าเขาใหญ่คนใหม่ เป็น ‘เด็ก’ ของตน จึงส่งเข้าไปทำงานในพื้นที่นั้น นายจตุพรชี้แจงว่า บุคลากรที่อยู่ภายใต้กระทรวงถือเป็นเด็กของตนทั้งหมด เพราะถือเป็นลูกน้องของตน โดยมติชนออนไลน์ได้นำเสนอบทสนทนาดังกล่าว่า ‘หากทำงานไม่ได้ก็จะเปลี่ยนให้คนอื่นทำ ตำแหน่งนี้ไม่ใช่ตำแหน่งตายตัวอะไร’
ประเด็นข้างต้นจึงถือเป็นกรณีสำคัญ ที่ส่งผลให้เกิดความสนใจเป็นวงกว้าง เรื่องการแต่งตั้งตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติและหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมกับ นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นายจงคล้ายอธิบายว่า ขณะนี้ทางกรมอุทยานฯ ได้กำลังจัดทำหลักเกณฑ์หรือระเบียบการแต่งตั้งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งจะต้องมีการ ‘แบ่งเกรด’ โดยจะเป็นไปตามระดับความสำคัญของพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งพิจารณาจากตัวชี้วัดต่าง ๆ อาทิ ด้านกายภาพ ด้านชีวภาพ ด้านนันทนาการและการท่องเที่ยว โดยปัจจุบันได้มีการจัดสรรและแบ่งพื้นที่ครบตามจำนวนแล้ว โดยจะมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ระดับ คือ เกรดเอ เกรดบี และเกรดซี ซึ่งจะเรียงลำดับตามความสำคัญของพื้นที่
“สมัยก่อนมันค่อนข้างที่จะมั่วอยู่ แต่เราก็มีความพยายามตั้งหลักเกณฑ์ตรงนี้ขึ้นมาว่า มันควรจะมีระดับนะว่า ผู้ที่จะเข้าไปบริหารงานในพื้นที่เกรดเอ เกรดบี และเกรดซี จะต้องมีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการทำงานมากเท่าใด ถึงจะเข้าไปดูแลพื้นที่นั้น ๆ ได้” รองอธิบดี กรมอุทยานฯ กล่าว
ซึ่งที่ผ่านมา ทางกรมอุทยานฯ ยังไม่ได้มีการทำระเบียบการแต่งตั้งหัวหน้าที่ชัดเจน จึงส่งผลให้มีปัญหาเรื่องผู้ที่ถูกแต่งตั้ง ขาดประสบการณ์และความรู้ด้านการจัดการพื้นที่ โดยนายจงคล้าย ให้ความเห็นว่า การจัดทำหลักเกณฑ์ลักษณะดังกล่าว ได้มีการจัดทำมาแล้วกว่า 20 ปี แต่ในครั้งนี้ถือเป็น ‘การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีที่สุด’ ครั้งหนึ่งของกรมอุทยานฯ ซึ่งหัวใจของหลักเกณฑ์ดังกล่าวคือ ‘แนวทางการเข้าสู่ตำแหน่ง’ หรือ ‘Career Path’ อันเป็นเส้นทางในการเติบโตในสายอนุรักษ์ที่เด่นชัดและเที่ยงตรง
ดังนั้นผู้ที่ต้องการขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าอุทยานฯ หรือหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะต้องผ่านการพิจารณาทั้งด้าน คุณวุฒิ วัยวุฒิ และความรู้ที่เกิดมาจากประสบการณ์ ซึ่งจะต้องไต่ตามลำดับขั้นขึ้นไปตามหลักที่ระบุไว้อย่างชัดเจน รวมถึงหลักสูตรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ ‘ผู้นำ’ ในพื้นที่อนุรักษ์สำคัญของประเทศไทย
ยกตัวอย่าง หากคนไหนที่อยากจะเป็น หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเกรดเอ จะต้องเป็นข้าราชการระดับชั้นชำนาญการพิเศษ และเคยเป็นหัวหน้าหน่วยงานด้านสัตว์ป่าเกรดบีมาก่อนไม่น้อยกว่า 4 ปี และต้องผ่านการอบรมด้านอนุรักษ์สัตว์ป่าระดับสูงอีกด้วย ซึ่งในส่วนของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้มีการจัดทำหลักสูตรเพิ่มเติมที่ ‘ว่าที่หัวหน้า’ จะต้องผ่านการศึกษาคือ ‘หลักสูตรหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ’ อันถือเป็นปราการสำคัญ ที่ผู้มีความฝันอยากเป็น ‘ผู้นำ’ ในพื้นที่สำคัญ จะต้องต่อสู้ด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์ ก่อนที่จะก้าวขึ้นเป็นหัวเรือใหญ่ต่อไป
ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมองว่า ก่อนหน้านี้การบริหารพื้นที่อนุรักษ์ของเมืองไทยยังขาดหลักเกณฑ์เรื่องการแต่งตั้ง ‘ผู้นำ’ ในเขตอนุรักษ์สำคัญ ซึ่งมักจะส่งผลให้เกิดผลกระทบด้านการบริหารและจัดการพื้นที่ เนื่องจากบางคนถูกแต่งตั้งโยกย้ายมาด้วยปัจจัย ‘สีเทา’ ไม่ว่าจะเป็นความชิดกับผู้ใหญ่ในกรมหรือกระทรวง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาคอรัปชั่นในรูปแบบต่าง ๆ และผู้เข้ามาไม่มีความรู้มากเพียงพอในการดูแลและบริหารพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ
“หากเริ่มมีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในส่วนนี้อย่างจริงจัง ผมก็เชื่อว่า เราจะได้นักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่มีประสบการณ์และความเพียบพร้อมด้านความรู้และความสามารถ ที่จะเข้ามาดูแลงานในพื้นที่สำคัญ ๆ ซึ่งจะส่งผลให้งานป้องกันและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ในอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสำคัญ ๆ มีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น’ ศศิน กล่าว
อย่างไรก็ตาม การทำแนวทางการเข้าสู่ตำแหน่ง หรือ Career Path ที่เป็นขั้นเป็นตอนย่อมส่งผลให้ เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานที่มีความฝันอยากเป็นหัวหน้าเกิดความกระตือรือร้น ในการทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพส่วนตัว และพัฒนาพื้นที่ที่ตนดูแลให้ดีขึ้น ซึ่งนี่แหล่ะคือหัวใจสำคัญของเส้นทางการเป็น ‘หัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์’ ที่จะต้องก้าวเข้ามาด้วยใจอันมุ่งมั่นและแน่วแน่ ถือเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีให้กับผู้ทำหน้าที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าโดยแท้จริง
ท้ายที่สุดนี้ สิ่งที่ทุกคนต่างเฝ้าจับตามอง คือการเริ่มประกาศใช้ระเบียบการเข้าสู่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่มีความรู้และความสามารถ ตลอดเพื่อการพัฒนาศักยภาพงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ให้คงไว้ ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพและสัตว์ป่าให้คงอยู่คู่กับผืนป่าไทยตราบนานเท่านาน