นักอนุรักษ์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอ่าวไทยฝั่งตะวันออกของประเทศไทยสัมผัสฉลามกบวัยอ่อนที่ยังมีลวดลายขาวสลับดำเพื่อปล่อยพวกมันลงสู่ทะเล นี่คือผลลัพธ์ของ ‘โครงการอนุบาลฉลามกบ… คืนสู่อ่าวไทย’ เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรฉลามที่เผชิญภาวะถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง เพราะถูกจับไปกับอวนประมงทั้งที่ไม่ใช่ปลาเศรษฐกิจ หรือบางครั้งอาจกลายเป็นสัตว์เลี้ยงของนักสะสมพันธุ์ปลาหายาก
.
ณ อ่าวไทย นักวิจัยด้านประมงไทยดำลงสู่พื้นใต้สมุทรพร้อมกับตะกร้าเพื่อปล่อยเหล่าลูกฉลามกบกลับคืนสู่ทะเล เจ้าฉลามพื้นสมุทรขนาดจิ๋วที่เคลื่อนที่เชื่องช้า ลำตัวมีลายขาวสลับดำ และหางที่ยาวเป็นพิเศษ อยู่ในรายชื่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เมื่อไม่กี่ปีก่อน เนื่องจากฉลามกบเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมปลาหายากและเหล่าผู้รักการทานอาหารจากวัตถุดิบพิสดาร
ทีมนักวิจัยไทยปล่อยฉลามกบวัยรุ่นจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โดยหวังผลักดันให้จำนวนประชากรฟื้นกลับมาอีกครั้งจน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) หรือ IUCN ถอดรายชื่อชนิดพันธุ์ดังกล่าวออกจากบัญชีแดง
“เราดำดิ่งลงสู้พื้นสมุทรเพื่อปล่อยปลาเหล่านี้ในพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้พวกมันมีโอกาสที่จะรอดในธรรมชาติได้สูงขึ้น แทนที่จะปล่อยบริเวณผิวน้ำเหมือนปลาชนิดอื่น ๆ” อุดม เครือเนียม นักวิชาการจากกรมประมง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์บนเรือเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา “หากพวกเราปล่อยฉลามกบที่ผิวน้ำก็เสี่ยงที่มันจะถูกกินโดยปลาที่มีขนาดใหญ่กว่า หรือไม่สามารถหาที่หลบภัยได้”
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมวิจัยไทยปล่อยฉลามกบลายขาวสลับดำอายุประมาณ 2 ถึง 3 เดือนจำนวน 40 ตัว บริเวณปะการังเทียมที่ระดับความลึก 18 เมตร ฉลามกับเป็นปลาฉลามท้องถิ่นของอ่าวไทย โดยพบได้ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น และทางเหนือของออสเตรเลีย
ฉลามกบนับเป็นหนึ่งในปลานักล่าขนาดเล็กที่สุดในมหาสมุทร โดยมีขนาดโตเต็มวัยเพียง 1.2 เมตร และไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ มันมักจะหากินในเวลากลางคืนเป็นหลักโดยใช้ฟันซี่เล็กๆ งับหรือขย้ำเหยื่อ
ทีมวิจัยหวังว่าปลาฉลามที่ถูกปล่อยจะสามารถอาศัยได้ในบ้านหลังใหม่ สามารถใช้ปะการังเทียมเพื่อหลบภัยและผลิตลูกหลานออกมาในอนาคต
ย้อนกลับมาที่ศูนย์วิจัย ปนิดา บัวลังกา เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์กำลังค่อยๆ ใช้กรรไกรตัดเปลือกไข่ฉลามอย่างระมัดระวังเพื่อช่วยให้ฉลามน้อยข้างในออกมาสู่โลกภายนอก นักวิจัยจะต้องช่วยฟักไข่ฉลามในพื้นที่เพาะเลี้ยง เพราะการฟักไข่ในมหาสมุทรอาจเสี่ยงต่อการถูกล่าโดยสารพัดนักล่า
อุดมเล่าว่าโครงการฟักไข่ที่ประสบความสำเร็จเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้นักวิจัยสามารถปล่อยลูกฉลามคืนสู่ทะเลได้จำนวนมากในปีนี้ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวช่วยฟักและปล่อยฉลามกบคืนสู่อ่าวไทยได้กว่า 200 ชีวิต
ภาพเปิดเรื่อง ไทยโพสต์
ถอดความและเรียบเรียงจาก Endangered bamboo sharks given helping hand in Gulf of Thailand
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก