ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะปีละประมาณ 38,000 คน มีการคาดการณ์โดยนักวิชาการต่างประเทศว่า สถานการณ์ทั่วโลกในปีพ.ศ. 2593 จะมีคนตายเพราะเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ 1 คน ในทุก ๆ 3 วินาที หรือประมาณ 10 ล้านคนต่อปี โดยครึ่งหนึ่งจะอยู่ในทวีปเอเชีย และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.5 พันล้านล้านบาท
เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะมาจากไหน? ส่วนหนึ่งมาจากการใช้ยาที่ไม่เป็นไปตามแนวทางรักษาของแพทย์และเภสัชกร ทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO พบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของการใช้ยาปฏิชีวนะในประเทศกำลังพัฒนาเป็นการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมและสูญเปล่า โดยเฉพาะการใช้ยาปฏิชีวนะที่มีความซับซ้อนขึ้นเพราะมีการนำไปใช้ในภาคการเกษตรและการปศุสัตว์ ผลกระทบที่ตามมาคือ มีการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะที่กระจายลงสู่ดินและแหล่งน้ำที่อยู่บริเวณใกล้เคียงฟาร์มอุตสาหกรรม
โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 25 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา สมาคมและองค์กรวิชาชีพ ตลอดจนเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้จัดเวทีการประชุมระดับชาติเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ ครั้งที่ 3 (The 3rd National Forum on Antimicrobial Resistance) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการ สถานการณ์การดื้อยาต้านจุลชีพในระดับประเทศและระดับโลก โอกาสนี้ได้เชิญผู้แทนจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก โดย นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้นำเสนอสถานการณ์ที่น่ากังวลในปัจจุบันภายใต้หัวข้อ “ภัยเงียบจากเชื้อดื้อยาในแม่น้ำใกล้คุณและแนวคิดด้านสุขภาพหนึ่งเดียวที่ยังถูกละเลย”
สวัสดิภาพของสัตว์ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรม เชื่อมโยงกับสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อม
ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้ศึกษาความเชื่อมโยงเรื่องของสวัสดิภาพของสัตว์ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรม (กรณีตัวอย่างฟาร์มหมู) กับการใช้ยาปฏิชีวนะภาคการปศุสัตว์ ใน 4 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา สเปน อเมริกา และไทย พบว่า การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมหาศาลในภาคการเกษตร ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะมีการแพร่กระจายจากฟาร์มไปสู่คนได้โดยช่องทางต่าง ๆ เช่น การสัมผัสโดยตรงของคนงาน ปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร รวมถึงปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้กล่าวบนเวทีการประชุมว่า “ถึงแม้ว่าหัวใจการทำงานของเราจะมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ แต่เราไม่สามารถปฏิเสธความเชื่อมโยงของสุขภาพของคน สวัสดิภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อมออกจากกันได้เลย
ยาปฏิชีวนะถูกใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสวัสดิภาพสัตว์ที่ย่ำแย่ ยกตัวอย่างเช่น การตัดตอนอวัยวะในลูกหมู เช่น การตอนสด การตัดหาง การตัดฟัน ซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติที่แพร่หลายในระบบฟาร์มอุตสาหกรรม โดยหมูเหล่านี้จะได้รับยาปฏิชีวนะผสมในน้ำและอาหารให้กินเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ด้วยวิธีการปฏิบัติและสภาพแวดล้อมเช่นนี้ส่งผลให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมหาศาล”
จากการศึกษาพบว่าแหล่งน้ำและดินที่อยู่บริเวณใกล้กับฟาร์มตัวอย่าง มีการพบการปนเปื้อนยีนดื้อยาปฏิชีวนะหลายกลุ่มที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอยู่ในกลุ่มที่มีความสำคัญสูงและสูงสุด (Highly and Critically Important) หลายตัว ซึ่งสอดคล้องกับผลของต่างประเทศ แต่สิ่งที่แตกต่างจากประเทศอื่นคือ ในไทยมีการพบ mcr-1 ซึ่งเป็นยีนที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะในกลุ่ม polymyxins หรือโคลิสติน ซึ่งถือเป็นยาที่มีการควบคุมและจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดในประเทศไทย
“ยีนดื้อยาปฏิชีวนะเหล่านี้ถูกพบมากขึ้นในพื้นที่ที่มีการนำเอามูลสุกรไปใช้เป็นปุ๋ยคอกในภาคการเกษตร หรือปล่อยน้ำเสียจากฟาร์มโดยตรงสู่สิ่งแวดล้อม ราว 70% ของยาปฏิชีวนะที่สัตว์ได้รับผ่านการกินอาหารและน้ำ ไม่สามารถดูดซึมและย่อยได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงออกมาในรูปของมูลสัตว์ และเป็นที่รู้กันดีว่ามูลสัตว์ มีการจำหน่ายเพื่อนำไปเป็นปุ๋ยคอกในภาคการเกษตรอีกด้วย แบคทีเรียที่อยู่ในมูลสัตว์สามารถมีอายุได้ถึง 2-12 เดือน ซึ่งอาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการกระจายของยีนดื้อยา และยาปฏิชีวนะตกค้างในมูลสัตว์มากยิ่งขึ้น” นายโชคดีกล่าว
การส่งเสริมสวัสดิภาพของสัตว์ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรม หนึ่งในทางออกเพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในระบบนิเวศ
นายโชคดีระบุว่า “แม้ว่าเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะจะมีการปนเปื้อนทางสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง แต่การเฝ้าระวังและตรวจสอบในเรื่องนี้ยังคงมีอยู่น้อยมาก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น ในปี 2019 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ทำการสำรวจประเทศสมาชิกทั้ง 78 ประเทศ พบว่ามีเพียง 10 ประเทศที่มีข้อกำหนดเรื่องการปล่อยน้ำเสียออกจากฟาร์ม ที่มีการควบคุมการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยารวมถึงยาปฏิชีวนะตกค้าง
ซึ่งขัดต่อสิ่งที่องค์การสหประชาชาติที่พยายามผลักดันให้แต่ละประเทศใส่ใจในเรื่องของการปนเปื้อนเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อม และเป็นเรื่องที่น่าตกใจว่าในปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานสากลใด ๆ ที่กำหนดเรื่องความเข้มข้นของเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในแหล่งน้ำที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ในปัจจุบัน และยังไม่มีแนวทางในการเฝ้าระวังปัญหาในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม”
กุญแจสำคัญที่ทำให้การใช้ยาปฏิชีวนะน้อยลงคือการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรมให้มีชีวิตที่ดีขึ้น จากการสำรวจในประเทศอังกฤษพบว่าการทำฟาร์มหมูแบบมีสวัสดิภาพที่ดี สามารถช่วยลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะได้มากถึง 77%
องค์กรด้านสวัสดิภาพสัตว์ทั่วโลก รวมถึงองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้จัดทำแนวทางมาตรฐานขั้นต่ำการเลี้ยงสัตว์ฟาร์มขึ้น ซึ่งรวมถึงสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มในทุกประเภท หรือเรียกกว่า FARMS (Farms Animals Responsible Minimum Standard) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ผลิตและภาครัฐในการกำหนดมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มที่เหมาะสมในแต่ละประเภท
ปัจจุบันการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในหลาย ๆ ประเทศยังเป็นโมเดลแบบสมัครใจสำหรับฟาร์มที่มีความต้องการและความพร้อมเท่านั้น ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหายังไม่ครอบคลุมทั้งระบบ ซึ่งที่สุดแล้วควรจะมีการผลักดันเข้าสู่วาระที่สำคัญระดับชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยที่กำลังพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ชาติเรื่องเชื้อดื้อยาฉบับใหม่อยู่ เราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเด็นด้านสวัสดิภาพสัตว์จะถูกความสำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องวิกฤติเชื้อดื้อยาที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้
อ้างอิง อัตราตายจาก ‘เชื้อดื้อยา’ ของไทย สูงกว่า ‘สหรัฐ-ยุโรป’ ถึง 6 เท่า
ภาพประกอบ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection Thailand)
ผู้เขียน
นัก (อยาก) เขียน ผู้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านภาษาและเหตุการณ์ทางเมือง