1. โลกเราร้อนขึ้นทุกปี
แม้อุณหภูมิโลกจะขึ้นบ้างลงบ้างในแต่ละปี แต่เมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาอุณหภูมิของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลักฐานสำคัญ เช่น อุณหภูมิเฉลี่ยในปี พ.ศ. 2559 ทุบสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งทุบสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยในปีพ.ศ. 2557
เมื่อปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกซึ่งรวบรวมข้อมูลจากศูนย์วัดสภาพภูมิอากาศ ทุ่นลอยน้ำ และเรือหลายพันแห่งสรุปว่า โลกร้อนขึ้น 1.69 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส) โดยเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิในคริสตศตวรรษที่ 20 ดาวเทียมที่สำรวจรอบโลกยังจับได้ถึงแนวโน้มว่าโลกจะร้อนขึ้นอีกด้วย
2. โลกเราร้อนเพราะเรา
แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้โลกร้อนขึ้น และปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศก็เพิ่มขึ้นเกือบครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2500
เมื่อปีที่ผ่านมา ปรากฎการณ์เอลนิโญ่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น โดยปลดปล่อยความร้อนจากมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ไม่มีสาเหตุทางธรรมชาติใดที่สามารถอธิบายแนวโน้มอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษได้ สาเหตุจากธรรมชาติเช่นวงจรของดวงอาทิตย์นั้นขึ้นและลงทุกๆ 11 ปี ส่วนการระเบิดของภูเขาไฟก็ทำให้โลกเย็นลงเป็นช่วงๆ มีเพียงแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์เท่านั้นที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสัมพันธ์กับแนวโน้มดังกล่าว
3. เรามั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดจากมนุษย์
นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศมากกว่าร้อยละ 90 ยืนยันว่าการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของมนุษย์คือสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เรารู้จักปรากฎการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ตั้งแต่เมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว Svante Arrhenius นักฟิสิกส์ชาวสวีเดนเคยทำนายไว้ว่าการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาถ่านหินจะทำให้โลกร้อนขึ้น แม้ ณ เวลานั้น เขามองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะสร้างผลลัพธ์เชิงบวก แต่ก็มีการถกเถียงกันค่อนข้างมากเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีด้านที่อันตราย แต่หัวใจสำคัญของงานวิจัยที่ว่าคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเกิดขึ้นแล้วและเกิดขึ้นจริง
4. น้ำแข็งกำลังละลาย
น้ำแข็งที่ขั้วโลกลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ธารน้ำแข็งทั่วโลกก็หดหายลงเรื่อยๆ หากเหตุการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ทะเลอาจสูงขึ้น 3 ฟุต หรือมากกว่า ภายใน พ.ศ. 2643
ทวีปอาร์กติกนั้นร้อนขึ้นมากกว่าส่วนที่เหลือของโลก โดยพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งนั้นลดน้อยลงและแผ่นน้ำแข็งบางลง เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาสิ้นสุดฤดูร้อน แผ่นน้ำแข็งมีพื้นที่ลดลงถึง 825,000 ตารางไมล์จากค่าเฉลี่ยในระยะยาว พื้นที่ดังกล่าวมีขนาดประมาณ 1.6 เท่าของประเทศไทย
น้ำแข็งที่ลดลงทำให้โลกร้อนเร็วขึ้น เนื่องจากแสงอาทิตย์จะถูกดูดซับโดยมหาสมุทรสีดำมากกว่าน้ำแข็งสีขาวที่สะท้อนแสงคืนสู่อวกาศ
แม้ว่าการละลายของน้ำแข็งในน้ำอาจไม่ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น (เพราะน้ำแข็งลอยอยู่ในน้ำ!) แต่น้ำแข็งที่ละลายจากพื้นดิน เช่น น้ำแข็งจากธารน้ำแข็งคือตัวการหลักที่ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น 8 หรือ 9 นิ้วโดยเมื่อเทียบกับระดับน้ำทะเลเมื่อ 100 ปีก่อน
ภัยคุกคามหลักคือแผ่นน้ำแข็งที่อยู่บนกรีนแลนด์ และแอนตาร์กติกา ซึ่งมีน้ำแข็งปริมาตรเพียงพอที่จะทำให้น้ำทะเลเพิ่มขึ้นประมาณ 200 ฟุต นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า เมื่อ 125,000 ปีในอดีต โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าในปัจจุบันเพียงเล็กน้อย แต่ก็มีระดับน้ำทะเลสูงกว่าปัจจุบันราว 20 – 30 ฟุต ซึ่ง ณ ระดับน้ำทะเลดังกล่าว เมืองริมชายฝั่งจะกลายสภาพไม่ต่างจากบึงน้ำ
5. สภาพภูมิอากาศเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม
จำนวนภัยพิบัติซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เทียบกับเมื่อ พ.ศ. 2523
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจไม่ใช่สาเหตุของพายุหรือภัยแล้งอย่างเฉพาะเจาะจง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้โอกาสเกิดภัยบัตินั้นเพิ่มขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นคลื่นความร้อน
คลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตประชาชนในทวีปยุโรปกว่า 70,000 ชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2003 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 1 ครั้งในทุกๆ 500 ปี แต่ด้วยอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวมีโอกาสเกิดเพิ่มขึ้นเป็น 1 ครั้งทุกๆ 40 ปี โดยในปีดังกล่าว มีการศึกษาระบุว่าความร้อนทำให้ประชาชนในกรุงปารีสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 203 คน และหากเรายังไม่จัดการปัญหาดังกล่าว ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณอ่าวเปอร์เซียอาจต้องหลบอยู่ในบ้านบางวันเนื่องจากความร้อนที่สูงจนทำให้การอยู่นอกอาคารไม่ปลอดภัย
นอกจากคลื่นความร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเพิ่มความชื้นในอากาศ โดยดูดซับจากพื้นดินและมหาสมุทร เมื่อใดที่ฝนตกน้อยลง ปัญหาภัยแล้งก็จะรุนแรงมากขึ้น และจะทำให้หิมะหรือฝนมีความรุนแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เรายังไม่มีงานวิจัยที่แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลอย่างไรต่อการเกิดเฮอร์ริเคนและไซโคลน มหาสมุทรที่ร้อนขึ้นจะทำให้พายุรุนแรงขึ้น แต่ก็อาจเกิดถี่น้อยลง
6. ชนิดพันธุ์พืชและสัตว์กำลังลดจำนวนลง
สัตว์และพืชเริ่มหดหายไปจากพื้นที่ที่เคยอยู่อาศัย เนื่องจากอุณภูมิปัจจุบันที่ร้อนเกินไป และในอีกไม่นานก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดการสูญพันธุ์
พ.ศ. 2559 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบการสูญพันธุ์ของ Bramble Cay Malomys สัตว์หน้าตาคล้ายหนูที่มีที่อยู่อาศัยแหล่งเดียวคือเกาะในช่องแคบตอเรส (Torres Strait) ประเทศออสเตรเลีย การสูญพันธุ์ดังกล่าวส่วนหนึ่งเนื่องจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น การค้นพบข้างต้นนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีหลักฐานยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูญพันธุ์ และนี่อาจไม่ใช่กรณีสุดท้าย
อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังกดดันทั้งพืชและสัตว์หลายชนิด โดยบังคับให้พืชและสัตว์เริ่มอพยพไปยังขั้วโลก เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอพยพย้ายถิ่นฐาน เช่น เพนกวินอาเดลีที่ลดจำนวนลดอย่างฮวบฮาบ นกที่อาศัยอยู่บริเวณอาร์กติก อย่าง นกน็อตเล็ก (Red Knot) ก็มีขนาดเล็กลง การสูญเสียพื้นที่น้ำแข็งทำให้วอลรัสต้องย้ายมาอยู่บนผืนดินในอลาสกา ระบบนิเวศหลายแห่งก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตนเอง ป่าอัลไพน์บนยอดเขาเริ่มร่อยหรอ ในขณะที่อุณหภูมิมหาสมุทรที่สูงขึ้นทำให้ปะการังฟอกขาว
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมมีผู้ชนะ เช่น วาฬหลังค่อมที่สามารถหากินได้ไกลขึ้นในมหาสมุทรที่ไม่มีน้ำแข็ง เม่นทะเลก็ดูจะไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าไรนัก อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ภัยคุกคามเดียวของมนุษย์ การตั้งถิ่นฐานและทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยก็เป็นปัญหาไม่ต่างกัน แน่นอนว่าบางชนิดพันธุ์จะสามารถปรับตัวได้ แต่คำถามคือมีกี่ชนิดพันธุ์ และอีกนานเท่าไหร่
7. เรายังมีทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าภายในปี พ.ศ. 2583
ตลาดเสรีมักได้รับคำชื่นชมว่าเป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพ ในยุคที่ใครๆ ต่างก็เชื่อมต่อกันได้ผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ตซึ่งมีสภาพไม่ต่างจากตลาดเสรีของข้อมูล ผู้เขียนชวนคุณลองถามตัวเองว่า หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ปัญหาร้ายแรง จะเป็นไปได้หรือที่ 195 ประเทศทั่วลงจะร่วมลงนามในข้อตกลงปารีสเพื่อจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียส
แม้จะมีเรื่องแย่ๆ อย่างการที่สหรัฐอเมริกาจะถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าว แต่ข้อตกลงปารีสก็เป็นเสมือนแสงแห่งความหวัง กราฟด้านล่างแสดงให้เห็นว่า ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์กำลังลดต่ำลง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาภาษีคาร์บอน ซึ่งนับเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านเชื้อเพลิงฟอสซิลออกจากระบบเศรษฐกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2558 พลังงานแสงอาทิตย์คิดเป็นครึ่งหนึ่งของพลังงานติดตั้งทั่วโลก และในสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ก็มีการจ้างงานมากกว่าแรงงานในอุตสาหกรรมถ่านหิน น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติรวมกัน