13 มกราคม 2568 เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อสมาชิกวุฒิสภา ขอให้ทบทวนการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ห่วงเปิดช่องใช้อวนตาถี่ล้อมจับตอนกลางคืน
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ แก้ไขมาตรา 69 ในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. … หรือ ร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่ ซึ่งทางเครือข่ายประมงพื้นบ้าน รวมถึงกลุ่มนักตกปลา นักดำน้ำ นักวิชาการด้านทะเล และภาคประชาชน เห็นตรงกันว่า การแก้ไขในครั้งนี้จะส่งผลให้ภาคการประมงทางทะเลของประเทศไทยกลับสู่การประมงที่ปราศจากความรับผิดชอบเช่นในอดีต รวมทั้งก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศทะเลและความยั่งยืน
จากเหตุนั้น เครือข่ายตามที่กล่าวมาจึงรวมตัวกันเพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อสมาชิกวุฒิสภา ขอให้ทบทวนการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558
โดยหนึ่งในข้อห่วงกังวลที่กล่าวถึงอย่างเข้มข้น นับตั้งแต่ที่ประชุมสภามีมติแก้ไขเพิ่มเติม คือ การอนุญาตให้อวนล้อมที่มีขนาดตาอวนต่ำกว่า 2.5 เซนติเมตร สามารถทำการประมงในเวลากลางคืน ซึ่งอวนล้อมดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือประมงที่ถูกห้ามใช้มากว่า 40 ปี เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าจะก่อให้เกิดการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนในปริมาณมาก อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสมดุลของห่วงโซ่นิเวศ
และบอกอีกด้วยว่า หากร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ถูกบังคับใช้ในวันใด วันนั้นก็อาจจะถึงจุดจบของสัตว์น้ำหลายชนิด
โดยคุณจิรศักดิ์ มีฤทธิ์ แกนนำประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ความเห็นว่า การแก้ไขมาตรา 69 นับเป็นข้อกังวลของชาวประมงแทบทั่วประเทศ เพราะที่ผ่านมาประมงพื้นบ้านมีความพยายามในการอนุรักษ์ และฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเล ด้วยการใช้เครื่องมือจับปลาที่ถูกกฎหมาย ไม่ทำลายระบบนิเวศ แต่รัฐกลับจะอนุญาตให้ใช้เครื่องมือที่ทำลายล้างสูงอย่างอวนมุ้ง มาทำการประมง ซึ่งส่งผลต่อการขยายพันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะสัตว์น้ำขนาดเล็กที่จะถูกจับไปทั้งหมด
แกนนำประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได ยังยกตัวอย่างต่อว่า การทำประมงในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีฤดูกาลเปิดอ่าวและปิดอ่าว โดยในช่วงปิดอ่าว ชาวประมงพื้นบ้านต่างร่วมมือร่วมใจไม่จับสัตว์น้ำในช่วงนี้ เพราะต้องการให้เกิดการขยายพันธุ์ แต่เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายแบบนี้ สิ่งที่ชาวบ้านทำจะไร้ความหมาย
“หากร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ถูกบังคับใช้วันใด วันนั้นก็อาจถึงจุดจบของสัตว์น้ำหลายชนิด โดยเฉพาะลูกปลาทู และลูกปลาหมึก สองชนิดนี้มีความเสี่ยงหายไปจากอ่าวประจวบฯ เพราะสัญชาตญาณของลูกปลา เมื่อเห็นแสงไฟก็จะเข้ามาว่ายเล่นทำให้ถูกล้อมจับไป ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีการแก้ไขอนุญาตอวนล้อมปั่นไฟปลากระตักที่มีตาอวนขนาดเล็กเพียง 6 มิลลิเมตรเท่านั้น นั่นหมายความว่า เรือจับปลากระตักสามารถใช้แสงไฟล่อลูกปลา แล้วใช้อวนตาถี่ตักปลาไปได้ทั้งหมดทุกชนิด จะไม่มีอะไรเหลือรอดในทะเลเลย”
“คำถามจึงเกิดขึ้นว่า การที่ชาวบ้านหยุดจับสัตว์น้ำในช่วงฤดูปิดอ่าวนาน 3 – 5 เดือน เราทำไปเพื่อให้ประมงพาณิชย์ได้กอบโกยหรือ” ตัวแทนประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระไดกล่าว
ทั้งนี้ คุณจิรศักดิ์ ได้เสนอว่า รัฐควรส่งเสริมเครื่องมือที่จับสัตว์น้ำโตเต็มวัย ไม่ใช่ส่งเสริมให้จับสัตว์น้ำขนาดเล็กแบบนี้ หรือไปส่งเสริมจับปลากระตักในเวลากลางวันอย่างที่เคยทำกันมา ไม่ควรใช้ไฟล่อในเวลากลางคืน เพราะเสี่ยงกับสัตว์น้ำขนาดเล็ก ซึ่งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เกิดเฉพาะแค่ชาวประมงพื้นบ้านเท่านั้น แต่สุดท้ายจะกระทบต่อไปยังผู้บริโภค ที่ในอนาคตจะต้องเผชิญกับราคาปลาที่สูงขึ้น เพราะจำนวนทรัพยากรในทะเลลดลง
เช่นเดียวกับความเห็นของชุมชนประมงท้องถิ่น จังหวัดพังงา ที่มองเรื่องนี้ด้วยความกังวลเช่นกัน โดยคุณพล ศรีรัฐ ประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น จังหวดพังงา เห็นว่า การแก้ไขมาตรา 69 เป็นการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
โดยในพื้นที่จังหวัดพังงามีเรือประมงพื้นบ้านประมาณ 3,000 – 4,000 ลำ ที่ผ่านมาทรัพยากรในน้ำเริ่มลดจำนวนลง ประมงพื้นบ้านได้ช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟู อีกทั้งเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ทั้งปลา ปลาหมึก และกุ้ง ของประมงพื้นบ้านจะมีเครื่องมือเฉพาะแยกแต่ละชนิด จับเฉพาะปลาที่โตเต็มวัยเพื่อรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรในทะเล แต่ประมงพาณิชย์ใช้เครื่องมือชนิดเดียว ตาอวนถี่ และใช้ไฟล่อลูกปลาในเวลากลางคืน ถือเป็นการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน ในพื้นที่จังหวัดพังงา ปลาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ปลาสีเสียด และปลากระพง
“วันนี้เรามาต่อสู้เพื่อปกป้องระบบนิเวศ สัตว์น้ำทุกชนิดต้องพึ่งพากันทั้งห่วงโซ่ เมื่อประมงพาณิชย์มากวาดสัตว์น้ำไปทั้งหมด จะไม่ได้มีแต่ปลาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่จะกระทบต่อสัตว์น้ำขนาดใหญ่ อย่างวาฬบรูด้าด้วย จึงขอวิงวอนต่อวุฒิสภาทบทวนการแก้ไขกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ เพื่อความยั่งยืนของระบบนิเวศในท้องทะเล และรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชนด้วย” ประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น จังหวดพังงา ระบุ
นอกเหนือจากประเด็นเรื่องความกังวลต่อระบบนิเวศแล้ว ทางกลุ่มประมงพื้นบ้านที่มารวมตัวกัน ณ รัฐสภา ยังมีข้อห่วงกังวลอื่นๆ อีกหลายประเด็น เช่น การยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมประมงทั้งหมด การปรับเปลี่ยนบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสั่งริบเรือ และเครื่องมือประมงในกรณีฝ่าฝืนกฎหมายร้ายแรง เปลี่ยนเป็นให้ศาลมีดุลพินิจในการสั่งริบเรือและเครื่องมือหรือไม่ก็ได้ รวมถึงยังมีประเด็นการลดโทษ ปรับลงเหลือเพียงร้อยละ 10 ของอัตราโทษเดิม
ซึ่งในหนังสือเปิดผนึกถึงสมาชิกวุฒิสภา ได้ระบุข้อเสนอไว้ 5 เรื่องประกอบด้วย
(1) ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหรดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 69 ให้กลับไปใช้บทบัญญัติที่ตราไว้เดิมความว่า “ห้ามใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน”
(2) ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 10/1, 11/ 11/1 ซึ่งเป็นการผ่อนคลายมาตรการคุ้มครองแรงงานเด็ก และแรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการแปรรูปอาหารทะเล
(3) ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 85/1 ซึ่งคือการกลับมาอนุญาตให้ขนถ่ายสัตว์สัตว์น้ำกลางทะเลระหว่างเรือประมง
(4) เสนอผู้แทนจากประมงพื้นบ้าน ผู้แทนองค์กรด้านแรงงาน ผู้แทนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. แก้ไขพ.ร.ก. การประมงฯ จำนวน 3 คน
(5) ขอให้กมธ.วิสามัญที่จะตั้งขึ้นพิจารณาแต่งตั้งที่ปรึกษาจากนักวิชาการด้านการประมง ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และด้านแรงงานเป็นที่ปรึกษากมธ.วิสามัญฯ
คุณวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า การออกมาคัดค้านการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เป็นเรื่องความยั่งยืนขอทรัพยากรธรรมชาติ และความมั่นคงทางอาหาร หวังมีการนำมาตรา 69 มาพิจารณาใหม่ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่สร้างผลกระทบให้กับประชาชนและผู้บริโภค และไม่มีปะเทศใดในโลกอนุญาตให้อวนตาถี่ขาดนี้ทำการประมง เพราะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำ และถือเป็นมาตรฐานตามหลักสากลที่ทุกประเทศตระหนักและยึดถือกันมาตลอด
“มีแต่ประเทศไทยประเทศเดียวที่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุญาตเหมือนกับกำลังถอยหลังกลับไปในยุคหลายสิบปีก่อน” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยกล่าวย้ำ
ทั้งนี้ ที่ประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 6 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง วันที่ 13 มกราคม 2568 มีการลงมติ เห็นด้วย 165 ต่อ 11 งดออกเสียง 7 และ ไม่ลงคะแนน 1 เสียง เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมงปี 2558 โดยตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษา 21 คน โดยมีกำหนดระยะเวลาแปรญัติภายใน 7 วัน
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม