‘ปัญหาสิ่งแวดล้อม’ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราต้องประสบพบหลายเรื่องราวสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทุกวัน จนดูเป็น ‘เรื่องปกติ’ ที่เรา ‘ยอมรับสภาพ’ และหันไปกล่าวโทษฟ้า โทษฝน หาว่าเป็นความผิดของธรรมชาติไปเสียแทน
ขณะเดียวกันวิธีแก้ไขปัญหาของรัฐบาลกลับเน้นไปในเรื่องการหาเงินมาชดเชยเยียวยา ตามมีตามเกิด จนเราสูญเสียงบประมาณประเทศกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่ละปีเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล แต่ผลที่ได้เป็นเพียงการแก้ปัญหาแบบลิงแก้แห แก้อย่างหนึ่งแล้วไปเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาแทน และผ่านมายังไม่เคยเห็นรัฐบาลเอาจริงเอาจริงกับสิ่งที่สมควรลงมือทำ เพราะมีปัญหาใหญ่เรื่อง ‘โครงสร้างทางการเมือง’ ไปผูกกับ ‘กลุ่มทุน’ ผู้ก่อมลพิษ หรือผู้ใช้ทรัพยากรรายใหญ่ตัวจริง
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงไม่ค่อยถูกพูดถึงในสภา หรือพูดง่ายๆ ว่าผลงานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ยังสอบไม่ผ่าน หรือในบางเรื่องอาจยังไม่เคยเริ่มทำข้อสอบเลยเสียด้วยซ้ำ โดยประกอบด้วยเรื่องต่างๆ ดังนี้
1. การบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ เปลี่ยนมาเป็นแปลงเกษตรหรือรีสอร์ต ที่ดินจัดสรรขาย ล่าสุดคือแปลงทุเรียนบุกรุกพื้นที่ป่าทางภาคตะวันออก สะท้อนความล้มเหลวของการแก้ปัญหาที่ดินของรัฐบาล และเป็นเหตุสำคัญทำให้ผืนป่าลดลง เพราะ (1) ที่ดินที่จัดสรรส่วนใหญ่ดำเนินงานโดยหน่วยงานหลัก คือ สคทช. และสปก. เข้ามาเอาที่ดินที่ยังมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติมาจัดสรรให้ราษฎร แต่กลับพบว่าที่ดินหลายแห่งยังคงมีสภาพป่าอยู่ (2) ผู้มีรายชื่อเป็นผู้ถูกสวมสิทธิ์มาโดยเจ้าตัวไม่รู้เรื่องและที่ดินถูกเปลี่ยนมือในเวลาต่อมา (3) ที่ดินถูกฟอกและขายให้กับทุนต่างชาติ โดยกลุ่มผู้ได้ประโยชน์มีทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐเอง ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และนักการเมือง
จากข้อมูลของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2565 – 2566 ที่ผ่านมา พื้นที่ป่าของไทยลดลงกว่า 3 แสนไร่ จากการเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่เกษตร เรื่องนี้คาบเกี่ยวกับประเด็นการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ที่คุณธีรัจชัย พันธุมาศ (พรรคประชาชน) ได้อภิปรายในครั้งนี้ด้วย
2. จากเรื่องแรก ส่งผลมาถึงวิกฤติน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม ที่วันนี้งบประมาณความช่วยเหลือในหลายพื้นที่ยังไม่ได้รับ ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2567) ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤตินี้ทั่วประเทศ และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจนไม่สามารถคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยได้จากกรณี ‘Rain Bomb’ หรือฝนตกหนักเฉพาะจุด
สิ่งที่สะท้อนออกมาชัดเจน คือ รัฐบาลขาดการวางแผนและการบริหารจัดการทั้งช่วงก่อนเกิดเหตุ ระหว่างการเกิดเหตุ และการจัดการหลังเกิดเหตุ หลายๆ พื้นที่ถูกปล่อยไปตามมีตามเกิด แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป บทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหากลายเป็นภาคเอกชนที่เข้าถึงพื้นที่อย่างรวดเร็ว เชื่อว่าในปี พ.ศ. 2568 นี้ เหตุการณ์ในปีก่อนๆ จะวนกลับมาเกิดซ้ำอีกครั้ง
3. ปัญหาฝุ่นควัน และ PM 2.5 วิกฤติของคนในประเทศที่รัฐบาลไม่มีวิสัยทัศน์การแก้ปัญหาในระยะยาวที่ชัดเจน จริงจัง และคำนึงถึงบริบทของปัญหาในทุกมิติ ปัจจุบันมีเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ลดการเผาป่า เผาพื้นที่เกษตร เรื่องนี้มีการอภิปรายโดยคุณภัทรพงศ์ ลีลาภัทร (รองโฆษกพรรคประชาชน) แต่ผลงานที่นายกรัฐมนตรีตอบมีเพียงเรื่องพื้นฐานที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ของบกลางมาเสริม และมีกระทรวงมหาดไทยแข็งขันในการสั่งการ แต่ยังขาดวิธีบูรณาการ และการปรับโครงสร้างการทำงาน
ปัจจุบัน ประชาชนมีอากาศดีๆ ให้พอหายใจปีละไม่ถึงสามเดือน มลพิษฝุ่นจากการเผาซังข้าววิกฤติมาตั้งแต่ธันวาคมปีที่แล้วจนวันนี้ยังไม่มีทีท่าลดลง ส่งผลเสียหายต่อสุขภาพประชาชนคนไทยโดยตรง และกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจจากมลพิษที่เกิด ทั้งความเจ็บไข้ได้ป่วย และเสียงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การของบกลางเพื่อชดเชยรายได้จากมาตรการรถไฟฟ้าและรถโดยสารสาธารณะองค์การขนส่งมวชนฟรี
4. วิกฤติสิ่งแวดล้อมทางทะเล ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก เมื่อทะเลไทยมีปัญหา คนไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งจากมลพิษที่ลงสู่ทะเล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อระะบบนิเวศทางทะเล ทำให้หญ้าทะเลตาย ปะการังฟอกขาว จากน้ำที่อุณหภูมิร้อนขึ้น มีสัตว์ทะเลตาย เช่น พะยูนที่ตายไปเกือบร้อยตัวในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาพื้นที่ และการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นมิตรกับทะเล รวมถึงการปรับปรุง พ.ร.บ. ประมงใหม่ ที่เปิดโอกาสให้เกิดการทำประมงแบบล้างผลาญ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเลย แถมยังพร้อมประเคนทรัพยากรให้กับกลุ่มทุนอย่างไม่เห็นหัวประมงพื้นบ้านและระบบนิเวศสัตว์เล็กสัตว์น้อยเลยด้วยซ้ำ
5. กรณีปลาหมอคางดำ มีคุณณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ (พรรคประชาชน) อภิปรายในสภา ซึ่งเป็นอีกบทสรุปที่สะท้อนความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เพราะการตอบคำถามพยายามชี้แจงไปอีกเรื่อง จนกรมประมงเองออกมาให้ข่าวว่าไม่พบแหล่งต้นกำเนิดการระบาด และเสนอมาตราการแก้ปัญหาที่ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ นั่นเท่ากับการโยนภาระไปให้ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาและหาวิธีการแก้ไขกันเอง สะท้อนภาพผู้นำที่ขาดความรับผิดชอบ และขาดภาวะความเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาต่อประชาชนผู้เดือดร้อนจาก 19 จังหวัด ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2568 ผู้ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำได้มาขอพบนายกรัฐมนตรีที่หน้าสภา พร้อมเทปลาหมอคางดำ 5 ตัน กันที่หน้าทำเนียบ เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ยอมออกมาพบกับประชาชน
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร