21 มีนาคม 2568 กลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรัง เดินทางยื่นหนังสือคัดค้านและขอให้ยุติโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสะแกกรัง แก่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่ฃแวดล้อม (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สาเหตุของการยื่นหนังสือ มาจากวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2567 ได้มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการฯ โดยบริษัทที่ปรึกษาที่กรมชลประทานว่าจ้าง แต่กลุ่มคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรังเห็นต่างว่า เวทีดังกล่าวไม่สามารถสะท้อนข้อเท็จจริงในพื้นที่ได้ สถานที่จัดประชุมรวมถึงระยะเวลาดำเนินการไม่เหมาะสม มีเวลาในการทำกิจกรรมจำกัด และยังมีข้อบกพร่องของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านหลายประการ
ที่ผ่านมา กลุ่มฯ ได้ยื่นหนังสือข้อกังวลและห่วงใยไปยังกรมชลประทาน บริษัทที่ปรึกษา (จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) คณะกรรมการลุ่มน้ำสะแกกรัง แต่ยังมิได้รับการอธิบาย จึงได้ออกมาแสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วย และขอให้ทาง คชก. ทบทวนรายงานฯ และพิจารณาให้ยุติ โครงการก่อสร้างประตูระบายกั้นแม่น้ำสะแกกรัง
โดยมีเหตุผลประกอบว่า เนื่องจากโครงการฯ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสียได้จริงตามวัตถุประสงค์ และส่งผลกระทบกับวิถีชีวิต และสิทธิของชุมชนในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร เป็นโปรตีนราคาถูก และมีความหลากหลายทางชีวภาพ
รวมถึงยังเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญของจังหวัดอุทัยธานี (พื้นที่ชุ่มน้ำระดับท้องถิ่น) และยังเป็นระบบนิเวศที่เอื้อต่อสัตว์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ประชาชนทุกคน ในพื้นที่ลุ่มน้ำมีสิทธิเจ้าถึง และใช้ประโยชน์ในทรัพยากรน้ำสาธารณะได้
พร้อมกันนั้น กลุ่มฯ ได้ยื่นข้อเสนอทางการเลือกการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย แก่คชก. ในวันเดียวกัน



ข้อเสนอทางเลือกการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย
1. ปัญหาน้ำเสีย : ควรเร่งรัดบังคับใช้กฎหมาย พรบ.ทรัพยากรน้ำ 2561 หมวด 6 การอนุรักษ์ และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ ทั้งหน่วยงานหลัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำธรรมชาติ และพื้นที่ชุ่มน้ำ และมติ ครม. 2552 ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยให้ทางเทศบาลเมืองอุทัยธานีดำเนินการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมของเมืองให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากมีการดำเนินก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย มาตั้งแต่ ปี 2550 จนถึงปัจจุบันการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ และควรศึกษาระบบบำบัดน้ำเสีย ที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อรองรับกับการการขยายตัวของเมือง และประชากรที่เพิ่มขึ้นในเขตเทศบาลเมือง อบต.สะแกกรัง อบต.น้ำซึม อบต.ท่าซุง อาทิเช่น ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ (Constructed Wetland) เนื่องจากมีพื้นที่จำนวนมาก ที่มีลักษณะเป็นบึงธรรมชาติอยู่แล้ว เป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่อาศัยกระบวนการทางธรรมชาติ กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้ว แต่ต้องการลดปริมาณไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ก่อนระบายออกสู่แหล่งรองรับน้ำทิ้ง
นอกจากนี้ ระบบบึงประดิษฐ์ ก็ยังสามารถใช้เป็นระบบบำบัดน้ำเสียในขั้นที่ 2 (Secondary Treatment) สำหรับบำบัดน้ำเสียจากชุมชน ได้อีกด้วย ซึ่งข้อดีของระบบนี้ คือ ไม่ซับซ้อน และไม่ต้องใช้เทคโนโลยีในการบำบัดสูง และควรมีแผนงานโครงการ มาตรการส่งเสริม และสนับสนุนให้กับเกษตรกรที่ทำนา อยู่ติดกับแม่น้ำ ทำนา แบบปลอดภัย ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตราย ลงสู่แหล่งน้ำ
2. การฟื้นฟูแม่น้ำสะแกกรัง : ควรให้ความสำคัญกับกับภารกิจการฟื้นฟูแม่น้ำสะแกกรัง ให้กลับสภาพมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ของท้องถิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ เนื่องจากมี คลอง หนองน้ำ และบึง หลายแห่ง อาทิเช่น คลองยาง บึงขุมทรัพย์ (หนองขุนหมา) บึงพระชนก (หนองผีเผา) บึงพะเนียด หนองปลากราย หนองเดิมพัน หนองแกแล หนองปลามัน หนองใหญ่ ฯลฯที่เป็นที่เหมาะสำหรับเป็นที่หลบภัยของปลาวัยอ่อน และถิ่นที่อยู่อาศัยของปลาในช่วงฤดูวางไข่ ที่ปลาในแม่น้ำเจ้าพระยา จะอพยพ และวางไข่ตามหนองน้ำต่างๆ ในแม่น้ำสะแกรัง และแม่น้ำตากแดด พอถึงฤดูน้ำท่วม ปลาก็จะแพร่กระจายไปในระบบนิเวศของหนองน้ำต่างๆ จึงทำให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร แหล่งวางไข่ ฟูมฟักตัวอ่อนและ/หรือเส้นทางอพยพที่สำคัญของปลา ที่พึ่งพาอาศัยอยู่ภายในพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ชุ่มน้ำ นั้น จึงควรยกระดับให้เป็น พื้นที่คุ้มครองทางสิ่งแวดล้อม
การกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลไกทางกฎหมายอย่างหนึ่งที่ควรนำมาใช้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไข และฟื้นฟูสภาพความวิกฤตของคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดจนป้องกันเหตุแห่งความวิกฤตในด้านต่างๆ อันจะเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ เพื่อให้การคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลให้การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามหลักของ SDG
ตลอดจนป้องกันความเสียหาย ที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีอยู่มิให้เสื่อมสภาพลงไป เนื่องจากในปัจจุบันได้มีโครงการพัฒนาของภาครัฐหลายโครงการ ส่งผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน และมีการใช้สารเคมีจากการเกษตรเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนั้น ยังมีโครงการขุดลอกแม่น้ำสะแกกรัง โครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง การบุกรุกที่หนองน้ำสาธารณะ เพื่อออกเอกสารสิทธิ์ เป็นต้น
3. ปัญหาน้ำแล้ง : การขยายพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ 13,906 ไร่ ควรมีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม และบริหารจัดการร่วมกันในพื้นที่ชลประทานเดิม และพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ และควรสร้างระบบกระจายน้ำต่อจากระบบสถานีสูบไฟฟ้าเดิม ที่บึงทับแต้หรือคลองยาง เนื่องจากระดับน้ำในคลองยาง เชื่อมต่อกับแม่น้ำสะแกกรัง และแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีน้ำไหลเข้าสู่บึงทับแต้/คลองยาง โดยไม่มีความจำเป็นต้องไปก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแห่งใหม่ที่บ้านภูมิธรรม เพื่อผันน้ำไปยังพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ และควรศึกษาแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan : NAP) เป็นกรอบการดำเนินงาน ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ เพื่อมุ่งสู่การมีภูมิคุ้มกันลดความเปราะบาง สร้างขีดความสามารถในการปรับตัวที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยใช้การปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA) จัดเป็นหนึ่งใน แนวทางภายใต้ NbS ซึ่งให้ความสำคัญกับ “การใช้ความ หลากหลายทางชีวภาพ และประโยชน์ต่างๆ จากระบบ นิเวศเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการปรับตัว เพื่อช่วยให้มนุษย์สามารถรับมือกับผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง เป็นพื้นที่มีความอ่อนไหว และเปราะบาง ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และต้องให้ความสำคัญในการหาผู้เชี่ยวชาญ มาจัดทำแผนแม่บท และแผนค่าใช้จ่าย ในการจัดทำแผนการอนุรักษ์ และฟื้นฟู แม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำธรรมชาติ และพื้นที่ชุ่มน้ำ อย่างเร่งด่วน
ควรทำการปรับปรุงประตูระบายน้ำเสด็จประพาสต้น 3 บาน เพื่อให้น้ำในแม่น้ำในเจ้าพระยา ไหลเข้าได้สะดวก เนื่องจากปัจจุบันได้มีการปรับปรุงพัฒนาบึงขุมทรัพย์ให้เป็นสวนสาธารณะ และสถานที่จัดกิจกรรม จึงทำให้มีการสร้างถนนกีดขวางทางน้ำ และมีการขุดลอก ระดับน้ำในบึงให้มีความลึก ซึ่งส่งผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่อาศัย (Habitat) ของนก และสัตว์น้ำ และควรมีการเพิ่มช่องทางของประตูระบายน้ำให้กว้างขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการปิดประตูระบายน้ำที่เชื่อมระหว่างบึงขุมทรัพย์และแม่น้ำสะแกกรัง ทำให้น้ำเจ้าพระยาที่จะไหลผ่านในบึงขุมทรัพย์ไม่สามารถไหลเข้าสู่แม่น้ำสะแกกรังได้ และ ควรบริหารจัดการน้ำร่วมกับเขื่อนเจ้าพระยา โดยควบคุมให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +15.80 เมตร (รทก.) ถึง +16.00 เมตร (รทก.) เพื่อรักษาระดับน้ำในแม่น้ำสะแกกรังและควรพิจารณาเพิ่มปริมาณการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิตต์ มาเพื่อรักษาระบบนิเวศของแม่น้ำสะแกกรัง และแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อทำภารกิจผลักดันน้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ จากภูเขาสู่ทะเล
4. ปัญหาน้ำท่วม : โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสะแกกรัง ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ และจะกลายเป็นสิ่งที่ก่อสร้างที่กีดขวางทางน้ำ เพราะต่อให้มีการก่อสร้างหรือไม่ก่อสร้าง ปตร. กั้นแม่น้ำสะแกกรังในฤดูน้ำหลากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถข้ามเกาะเทโพเข้าท่วมแม่น้ำสะแกรัง อีกทั้งน้ำจากแม่วงก์ คลองโพ ห้วยทับเสลา ไหลงมารวมกันที่แม่น้ำตากแดด แล้วก็ไหลมาสมทบเข้าท่วม แม่น้ำสะแกรัง บริเวณ พื้นที่ ต.ท่าซุง ต.น้ำซึม ต.สะแกกรัง ต.เกาะเทโพ ต.หาดทนง ตามลำดับ
ดังนั้น การก่อสร้างประตูระบายน้ำ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ดังที่ได้กล่าวมาได้ ถ้าไม่บริหารจัดการการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา ร่วมกับแม่น้ำสะแกกรัง
เครือข่ายคนรักษ์แม่น้ำสะแกกรัง จึงขอแสดงจุดยืนว่า พวกเราไม่เห็นด้วย จึงส่งตัวแทนมายื่นหนังสือคัดค้าน และขอให้ยุติโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสะแกกรัง ขอให้ท่านได้โปรดพิจารณาความคิดเห็น และข้อกังวลของพวกเราต่อโครงการดังกล่าวทางนี้ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และเป็นการฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง