ปัญหามลพิษจากปรอท กับกลไกการป้องกัน (?) ในประเทศไทย

ปัญหามลพิษจากปรอท กับกลไกการป้องกัน (?) ในประเทศไทย

เหตุการณ์ ‘ปรอท’ ปนเปื้อนในเมืองมินามาตะ จนก่อเกิด ‘โรคมินามาตะ’ ที่ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นหายนะทางสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ของดินแดนอาทิตย์อุทัยและในระดับสากล นำมาสู่การจัดทำอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท (Minamata Convention on Mercury) ในปี พ.ศ. 2556

หมุดหมายสำคัญของอนุสัญญาฯ มีขึ้นเพื่อปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากสารปรอทจากกิจกรรมของมนุษย์ และมุ่งให้เกิดความตระหนัก การศึกษาวิจัย ติดตามตรวจสอบ และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็น เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดหายนะซ้ำอีกครั้ง

ในการลงนามที่เมืองมินามาตะ จังหวัดคุมาโมโต ประเทศไทยไม่ได้ร่วมลงนามด้วย กระทั่งในปี พ.ศ. 2560 เราถึงเข้าเป็นภาคยานุวัติ หรือการยินยอมเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาและผูกพันตามสนธิสัญญาที่รัฐอื่นๆ ได้ทำการวินิจฉัยตกลงก่อนแล้ว และสนธิสัญญานั้นได้มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนแล้ว 

หลังจากนั้น นำมาสู่การออกมาตรการเพื่อควบคุมการปนเปื้อนของสารปรอทในสิ่งแวดล้อม อาทิ กำหนดห้ามผลิต น้ำเข้า และส่งออกยาฆ่าเชื้อที่มีปรอท ห้ามนำเข้าส่งออกเครื่องมือวัดที่มีปรอท ตลอดจนการพิจารณากำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นมาตรแบบบังคับ 

ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังพิจารณาปรับกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ รวมถึงปรับ (ร่าง) ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องห้ามตั้งหรือขยายโรงงานที่ใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในการบวนการผลิต และอื่นๆ มีหลายกรม กระทรวงเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม หากมองไปที่เรื่องการเฝ้าระวัง การดำเนินงานเรื่องนี้กลับไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่างชัดนัก ตัวอย่างเช่น ใน พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ก็ไม่ได้บรรจุโรคจากปรอทไว้ในเนื้อหา หรือการเฝ้าระวังของสาธารณชนในกลุ่มเสี่ยงก็ยังห่างไกลกับการรับรู้อีกมาก เหล่านี้อาจนำมาซึ่งปัญหาที่สายเกินแก้… 

ในวาระ 8 ปี ที่ไทยเข้าเป็นภาคยานุวัติ เราจะเฝ้าระวังและป้องกันปัญหานี้ต่อไปอย่างไร เป็นประเด็นที่น่าขบคิดกันอย่างยิ่ง

อันตรายจากสารปรอท

เมื่อพูดปัญหาการปนเปื้อนสารปรอทในสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศถือเป็นองค์กรแรกๆ ที่ติดตามเรื่องนี้ผ่านการศึกษา เก็บข้อมูล และผลักดันให้เกิดการแก้ไขทั้งในเชิงพื้นที่และในระดับนโยบาย 

คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ ได้ยกตัวอย่างผลการศึกษาหนึ่งเป็นการสำรวจสารปรอทในเส้นผมของประชาชนพื้นที่ท่าตูม จังหวัดปราจีนบุรี การศึกษาครั้งนั้นพบสารปรอทปนเปื้อนในทุกตัวอย่างที่ตรวจ มีปริมาณสูงถึง 4.60 ppm (สูงที่สุดเมื่อเทียบกับการศึกษาแบบเดียวกันในต่างประเทศ) โดยทุกตัวอย่างที่เก็บมาจากชาวบ้านที่เคยกินปลาช่อนในคลองชลองแวง ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินแหล่งปล่อยสารปรอท สะท้อนการปนเปื้อนสารปรอทในห่วงโซ่อาหารที่ส่งมาถึงคน

การศึกษานั้นมีรายงานความสูญเสียผลิตภาพทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ระบุว่า มลพิษสารปรอทในพื้นที่ก่อให้เกิดค่าเชาว์ปัญญา (IQ) ที่ลดต่ำลงเฉลี่ย 77 คะแนนต่อปี ที่นำไปสู่ความสูญเสียผลิตภาพทางเศรษฐกิจ หรือโอกาสรายได้ที่สูญเสียไปจาก IQ ที่ลดลง คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่าประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี และความเสียหายทางเศรษฐกิจจากภาระโรค คิดเป็นมูลค่าระมาณ 5.5 ล้านบาทต่อปี (เมื่อเทียบกับเกณฑ์สารปรอท 1.00 ppm)

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวต่อว่า การเฝ้าระวังสารปรอทในประเทศไทยไม่ได้เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือโรงไฟฟ้าเท่านั้น ยังพบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีวางจำหน่ายอยู่ทั่วไปด้วย 

ผศ.ดร.ยุพาภรณ์ ติรไพรวงศ์ คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข เผยว่าหญิงตั้งครรภ์และเด็กปฐมวัยถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อมลพิษจากปรอทและจำเป็นต้องจัดทำแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยงของกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ

ผศ.ดร.ยุพาภรณ์ อธิบายว่า สารปรอทมีหลายชนิด ชนิดที่กังวลเป็นพิเศษ คือ Oraganic Mercury หรือปรอทอินทรีย์ สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านอาหาร การหายใจ ดูดซึมผ่านกระแสเลือด ทั้งยังละลายในไขมันได้ดี กระจายผ่านทางรกเด็กได้ง่าย ในทางตรงกันข้ามร่างกายมนุษย์สามารถขับปรอทได้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัวต่อวันเท่านั้น 

“ดังนั้นปรอทจะสะสมอยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน ทำให้มีผลกระทบหลายส่วน แต่ที่กระทบมากสุด คือ พัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ นอกจากนั้นยังมีผลต่อระบบประสาท ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หัวใจผิดปกติ น้ำหนักแรกเกิดน้อย มีปัญหาเรื่องการหายใจ และพิการแต่กำเนิด” ผศ.ดร.ยุพาภรณ์ กล่าว 

นอกจากนี้ ข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมยังพบกรณีศึกษาที่น่าสนใจในสหรัฐอเมริกา พบว่า เด็กที่อาศัยอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าหรือแหล่งที่ปรอทแพร่กระจายมักมีปัญหาการเข้าสังคม เป็นคนวิตกกังวล สมาธิสั้น  

โมเดลวิทยาศาสตร์พลเมืองช่วยติดตาม

ในการเวทีเสวนาวิชาการเรื่องอนุสัญญามินามาตะ สู่การควบคุมปรอทในประเทศไทย ได้ยกประเด็นการนำวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองกับการเฝ้าระวังปรอทไว้อย่างน่าสนใจ 

คุณพิภพ พานิชภักดิ์ จากห้องเรียนสุดขอบฟ้า ได้ยกตัวอย่างโครงการ Dragonfly Mercury Project ซึ่งเป็นการตรวจสอบสารปรอทในแหล่งน้ำโดยใช้ตัวอ่อนแมลงปอเป็นตัวชี้วัด จุดเด่นของโครงการเป็นการอบรมเยาวชนในท้องถิ่นรวมถึงนักท่องเที่ยวให้ช่วยเก็บข้อมูลแบบง่ายๆ มีหน่วยงานอุทยานแห่งชาติสนับสนุนอำนวยความสะดวก และมีนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพเป็นผู้วิเคราะห์ตรวจสอบสารตกค้างในแมลงปอตามหลักวิทยาศาสตร์ ข้อมูลที่ได้ก็ถูกนำมาเผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้

พิภพ ย้ำว่าการเปิดเผยข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ ประชาชนควรเข้าถึงข้อมูลได้ สามารถมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ นำไปสู่การเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมที่ได้รับจากหลักฐานหรือข้อค้นพบในงานวิจัย หรือยังสามารถคิดการใหญ่ถึงการผลักดันนโยบายและกฎหมายโดยพลังพลเมืองได้

คุณศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ความเห็นถึงการนำวิทยาศาสตร์พลเมืองเข้ามาใช้ว่า เทคนิคนี้ควรถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเลย เพราะเป็นแนวทางช่วยสร้างความเข้าใจให้ประชาชน และกล่าวเสริมว่า ภาครัฐควรต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจเรื่องมลพิษและการเฝ้าระวัง รวมถึงไม่เคยทราบถึงวิธีจัดการกับปัญหาของภาครัฐ ความคืบหน้าต่างๆ และจำเป็นต้องยกระดับการตรวจสอบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะยาวเพื่อลดการสูญเสียมากกว่าที่เป็นอยู่ 

“แม้ชาวบ้านหลายพื้นที่สามารถคัดค้านโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้สำเร็จ แต่พบว่าหากเป็นการเฝ้าระวังโครงการที่เกิดขึ้นแล้ว มักแก้ไขปัญหาไม่ค่อยสำเร็จ เพราะชุมชนไม่มีองค์ความรู้ ไม่รู้วิธีเฝ้าระวัง ไม่รู้ว่าต้องตรวจสอบอย่างไร” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวและชี้ต่อว่า 

ที่ผ่านมาอาการเจ็บป่วยของชาวบ้านไม่อาจระบุได้ชัดว่าป่วยจากผลกระทบของโครงการใด เพราะขาดการจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นระบบ และไม่มีผู้เชี่ยวชาญช่วยให้ความเห็นประกอบ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญมักเป็นไปในทำนองว่า ‘มีความเป็นไปได้’ (เพราะไม่มีข้อมูลสนับสนุนให้ระบุได้อย่างชัดเจน) ซึ่งคำว่า ‘มีความเป็นไปได้’ นำไปใช้ในศาลไม่ได้ 

คุณศยามล ได้ยกตัวอย่างปัญหาเรื่องความเข้าใจของประชาชนอีกเรื่องว่า ที่ผ่านมาได้มีการตั้งกองทุนเฝ้าระวังสุขภาพสำหรับโครงการอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ชุมชนสามารถบริหารจัดการกองทุนด้วยตนเอง วัตถุประสงค์หลักๆ ของกองทุน คือ การตรวจสุขภาพประชาชนโดยรอบพื้นที่โครงการ แต่พบว่าชุมชนนำไปใช้พัฒนาด้านอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สะท้อนถึงความไม่เข้าใจของประชาชน และย้ำว่าหน่วยงานรัฐต้องสื่อสารแนะแนวสร้างความเข้ากับประชาชนให้มากกว่านี้ 

เรื่องที่ต้องทำต่อ

ต่องานเฝ้าระวังภัยจากสารปรอทที่ควรเกิดขึ้นในอนาคต ผศ.ดร.ยุพาภรณ์ เสนอว่า อยากให้เกิดแนวปฏิบัติการเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงทั้งหญิงมีครรภ์และปฐมวัยที่ชัดเจนมากกว่านี้ รวมถึงการสื่อสารให้ความรู้กับประชาชน อาจเริ่มจากเรื่องง่ายๆ เช่น ปลาชนิดใดทานได้ ปลาชนิดใดเสี่ยงมีปรอทปนเปื้อนสูงเพื่อให้ประชาชนรู้วิธีหลีกเลี่ยง

คุณศยามล เสนอว่า การเฝ้าระวังต้องดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น และภาคอุตสาหกรรมต้องเข้ามารับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้มากขึ้นในฐานะเป็นผู้ก่อมลพิษโดยมีภาครัฐกำกับดูแล และต้องเริ่มดำเนินการทันที หากชักช้าผลกระทบอาจลามไปเรื่องอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว

คุณเพ็ญโฉม ให้ความเห็นว่า 8 ปีที่ไทยเข้าเป็นภาคยานุวัติ มีความคืบหน้าในการควบคุมและเฝ้าระวังจากภาคอุตสาหกรรมน้อยมาก ปัจจุบันยังไม่มีแม้ฐานข้อมูลแหล่งปล่อยมลพิษปรอทเลย 

“ผู้มีอำนาจและกำหนดนโยบายต้องยอมรับว่ามีปรอทปนเปื้อนอยู่จริงและเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ต้องลงไปดูว่ามันเป็นอย่างไรบ้าง”

“การยอมรับความจริงอย่างกล้าหาญของผู้กำกับดูแลเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ถ้าไม่ยอมรับตรงนี้ ปัญหาก็แก้ไม่ได้ การพยายามกลบปัญหาไปเรื่อยๆ มันจะทำให้ด้านล่างเน่าเฟะไปหมด แล้วมันจะเกินเยียวยา”

“อยากเรียกร้องให้รัฐบาลและทุกหน่วยงานเข้าไปดูปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ต่างๆ แล้วมาวางแผนร่วมกันว่า เราจะเริ่มต้นนับหนึ่งในการแก้ไขปัญหาได้อย่างไร”

อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม