ต้นเดือนกุมภาพันธ์ กรมประมงได้แถลงความสำเร็จเรื่อง ‘ผลิตปลาหมอคางดำ 4n’ และคาดหวังว่าปลาที่ผ่านการเหนี่ยวนำโครโมโซมจะเป็นการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำระบาดได้อีกวิธี
โดยปลาหมอคางดำ 4n หรือปลาหมอคางดำที่มีโครโมโซมพิเศษ 4 ชุด (4n) จะแตกต่างจากปลาหมอคางดำปกติที่ระบาดอยู่ซึ่งมีจำนวนโครโมโซมตามธรรมชาติ 2 ชุด หรือ 2n หากโครโมโซมทั้งสองแบบมาผสมพันธุ์กัน จะให้กำเนิดรุ่นลูกที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ ตัดวงจรการเพิ่มจำนวน และควบคุมการระบาดต่อไป
ระหว่างนี้ขั้นตอนดำเนินงาน ยังอยู่ระหว่างการศึกษาในบ่อทดลองเลียนแบบธรรมชาติ ของศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี ที่ยังต้องวิจัยต่ออีกประมาณ 18 เดือน หากได้ผลตามที่ต้องการ จึงค่อยนำปล่อยไปยังแหล่งน้ำอื่นๆ
เรื่องนี้นับเป็นอีกหนึ่งความคืบหน้า จากวันที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหา ‘ปลาหมอคางดำระบาด’ ด้วยงบประมาณ 450 ล้านบาท ให้ดำเนินมาตรการหลัก 7 ข้อ ตามที่ ‘กรมประมง’ เจ้าภาพหลักได้กำหนดรายละเอียดไว้
7 มาตรการ แก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำระบาด 1. กำจัดออกจากระบบนิเวศให้มากที่สุด 2. หลังจากจับออกแล้วจะดำเนินการปล่อยปลานักล่า อาทิ ปลากะพง ปลาอีกง ตามแต่ความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งเรามีความเชื่อว่าถ้าปล่อยในพื้นที่และในเวลาที่เหมาะสม ปลานักล่าจะช่วยลดปริมาณของปลาหมอคางดำได้ 3. นำปลาที่จับได้ไปแปรรูป โดยเราตั้งเป้าไว้ว่าตั้งแต่ตอนนี้จนถึงครึ่งปีหน้าจะจับให้ได้ไม่ต่ำกว่า 4 พันตัน หรือ 4 ล้านกิโลกรัม 4. เฝ้าระวังไม่ให้มีพื้นที่ระบาดเพิ่ม 5. ทำความเข้าใจสถานการณ์การแพร่ระบาดกับพื่น้องประชาชน 6. ใช้นวัตกรรม การวิจัย ไม่ว่าจะเป็นการเหนี่ยวนำโครโมโซมทำให้ลูกปลาที่เกิดใหม่เป็นหมัน การใช้ฟีโรโมน ใช้แสงมาล่อให้ปลาหมอคางดำมาอยู่รวมกันเพื่อให้ง่ายต่อการกำจัด 7. การฟื้นฟูระบบนิเวศโดยการศึกษาว่าก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดในแต่ละพื้นที่มีพันธุ์สัตว์น้ำชนิดไหนอาศัยอยู่บ้างเพื่อเป็นข้อมูลให้กับกรมประมงดำเนินการเพาะพันธุ์ต่อไป เพื่อเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศให้กับชาวประมงให้สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนตอนก่อนการแพร่ระบาด |
ทำหมัน ทางรอง ไม่ใช่ทางหลัก
สถานการณ์ระบาดของปลาหมอคางดำในปัจจุบัน พบการระบาดในพื้นที่ 19 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นนทบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ชลบุรี พัทลุง และปราจีนบุรี
การแพร่ขยายที่เกิดอย่างรวดเร็ว คาดว่าเกิดจากการขนย้ายปลาไปยังสถานที่ต่างๆ โดยมนุษย์ (ยังต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริง) ประกอบกับเมื่อปลาหมอคางดำแพร่กระจายลงแหล่งน้ำแล้วยังพบว่าปลาชนิดสามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี แม่ปลาหนึ่งตัวสามารถให้ไข่ได้ 50 – 300 ฟอง หรือมากกว่าโดยขึ้นกับขนาด ใช้เวลาฟักไข่ในระยะไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ (4 – 6 วัน) มีพ่อปลาคอยดูแลลูกด้วยการอมไว้ในปากนานอีก 2 – 3 สัปดาห์
ที่ผ่านมา กรมประมง ร่วมกับหน่วยงานเอกชน ตลอดจนภาคประชาชนช่วยกันจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งได้แล้วจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่มากพอสำหรับลดการระบาดหรือเป็นทางรอดให้สัตว์น้ำอื่นๆ ได้ โดยมีเหตุและปัจจัยต่างๆ ผสมรวม เช่น การรับซื้อที่ไม่ได้ดำเนินการต่อเนื่อง ราคาปลาที่ไม่ได้มีมูลค่าสูงนัก จึงทำให้ประชาชนขาดแรงจูงใจในการจับ ตลอดจนข้อจำกัดเรื่องการใช้เครื่องมือจับปลา แม้มีการผ่อนผันให้ใช้อวนรุนในบางพื้นที่แล้วก็ตาม
การหยุดยั้งการเพิ่มปริมาณด้วยการทำหมัน จึงเป็นอีกแนวทางที่ถูกยกมา หวังใช้ควบคู่กับวิธีการอื่นๆ
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้มีความเสี่ยงที่ควรระวังควบคู่กัน
อาจารย์วินิจ ตันสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตั้งข้อสังเกตถึงการแก้ไขปัญหาวิธีนี้ว่า การทำหมันปลามีโอกาสแก้ไขปัญหาการระบาดได้ในกรณีที่เป็นการเลี้ยงแบบปิด หรือการระบาดในฟาร์มสัตว์น้ำ เนื่องจากสามารถติดตามประเมินผลได้ง่าย (ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม) แต่ในแหล่งน้ำธรรมชาติอาจประเมินผลได้ยาก รวมถึงวันนี้ยังไม่ทราบว่าภาครัฐจะใช้วิธีการใดตรวจสอบเพื่อยืนยันว่าวิธีนี้ช่วยลดจำนวนประชากรปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติได้จริง พร้อมยังตั้งข้อสังเกตถึงการปล่อยปลาจำนวนหนึ่งลงสู่แหล่งน้ำ จะทำให้ระบบนิเวศได้รับความเสียหายหนักกว่าเดิมหรือไม่
“เมื่อเราปล่อยปลาลงไป เท่ากับเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรปลาหมอคางดำเข้าสู่ระบบนิเวศไปก่อน ปลาพวกนี้อาจเข้าไปกินหรือทำลายสัตว์น้ำท้องถิ่น ทำลายระบบนิเวศให้เกิดความเสียหายก่อนจะสืบพันธุ์ และกว่าที่มันจะออกลูก (รุ่นที่เป็นหมัน) ต้องใช้เวลา”
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ยังแสดงความเห็นถึงข้อจำกัดเรื่องที่ไม่อาจควบคุมการผสมพันธุ์ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าปลาหมอคางดำเพศผู้ตัวอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเดิม จะเข้าแย่งผสมพันธุ์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังเสนอขั้นตอนการประเมินและติดตามปริมาณไข่ที่หมันและไม่เป็นหมันเก็บเป็นข้อมูลประกอบ เพราะไม่มีอะไรการันตีได้ว่าไข่ปลาที่ออกมาจะเป็นหมันทั้งหมด
ดร.สรวิศ เผ่าทองศุข ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำฯ อธิบายถึงเรื่องทำหมันว่าเป็นเพียงมาตรการเสริม และยังอยู่ในขั้นตอนของการทำวิจัย ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษาอีกระยะ ถึงจะนำไปใช้ในพื้นที่จริง และยังต้องผ่านขั้นตอนการประเมินด้านต่างๆ ทดลองให้มั่นใจจะมีความปลอดภัยต่อระบบนิเวศให้เรียบร้อยเสียก่อน
โดยที่ปรึกษาฯ เน้นย้ำว่า การศึกษาเรื่องการทำหมันปลาหมอคางดำ ควรส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยควบคู่ไปกับการจัดการด้านอื่นๆ แม้อาจไม่ได้ใช้จริงในทันที แต่ผลของงานวิจัยอาจนำไปใช้ในบางพื้นที่ได้ในอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นศึกษาใหม่ทั้งหมดหรือต้องรอทำวิจัยเสียก่อนแล้วจึงค่อยลงมือปฏิบัติ เพราะอาจทำให้การดำเนินงานล่าช้าไปยิ่งกว่าเดิม
ทางเลือกอื่นๆ ในการกำจัด
ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำและที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำฯ เห็นตรงกันว่า มาตรการจับออกจากแหล่งน้ำควรมาเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ดียังต้องบูรณาการแนวทางการจับให้มากขึ้น
ดร.สรวิศ เผ่าทองศุข อธิบายรายละเอียดของเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมากรมประมงได้ผ่อนผันกฎหมายอนุมัติให้ใช้อวนรุนเข้าช่วยจับปลาหมอคางดำ ซึ่งสามารถนำปลาออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่สามารถทำได้ในทุกพื้นที่ เช่น การระบาดในคลองขนาดเล็ก จำเป็นต้องหาเครื่องมืออื่นๆ มาใช้เสริม
โดยหนึ่งตัวอย่างที่มีการหารือกัน คือ แนวทางการใช้กระแสไฟฟ้าจับปลา แม้วิธีดังกล่าวอาจเป็นเรื่องผิดกฎหมายและอาจส่งผลกระทบต่อปลาชนิดอื่นๆ แต่สามารถทำได้ในบางพื้นที่อย่างในคลองขนาดเล็ก และควรใช้กระแสไฟฟ้าในระดับที่เหมาะสม ทำให้ปลาสลบเพียงเล็กน้อย แล้วช้อนจับปลาหมอคางดำออกมา ส่วนปลาอื่นๆ ที่จับได้ก็ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำตามเดิม ซึ่งตอนนี้มีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษากำลังช่วยกันศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบเครื่องมือที่เหมาะสมอยู่
ส่วนกรณีการปล่อยปลากระพง เพื่อหวังให้เป็นปลานักล่าไปกำจัดเอเลี่ยนสปีชีส์ วิธีการนี้อาจมองเห็นผลสำเร็จยาก เนื่องจากปลากระพงเป็นปลาที่ต้องอยู่ในระบบนิเวศที่น้ำดี สวนทางกับปลาหมอคางดำที่ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีความหลากหลายต่ำ หากปล่อยไปในถิ่นที่ปลาหมอคางดำระบาดก็อาจไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของปลากระพงสักเท่าไหร่
นอกจากเรื่องเครื่งมือแล้ว ดร.สรวิศ ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงเรื่องแรงจูงใจในการส่งเสริมการจับที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง และหาวิธีนำปลาหมอคางดำที่จับได้ไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมและมีมูลค่าเพียงพอให้เกิดการจับต่อไปได้เรื่อยๆ
รวมถึงเรื่องงบประมาณที่อนุมัติมาในขั้นต้น 450 ล้านบาท อาจไม่เพียงพอสำหรับการกำจัดปลาหมอคางดำให้หมดไป จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากกว่าพันล้านบาท ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือในส่วนนี้
ปลาหมอคางดำรุกรานไปแล้วแค่ไหน
ปัจจุบันปลาหมอคางดำระบาดไปแล้วในพื้นที่ 19 จังหวัด (ตามที่กล่าวไปข้างต้น) และเมื่อไม่นานมานี้ มีการพบปลาหมอคางดำในพื้นที่ ต.แหลมกลัด อ.เมืองตราด สร้างความกังวลว่า ‘ตราด’ จะกลายเป็นพื้นที่ระบาดจังหวัดที่ 20 หรือไม่ อย่างไรก็ดีปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันถึงการระบาด เนื่องจากในความหมายของการระบาดจะต้องพบเป็นกลุ่มหรือเป็นฝูง และกรมประมงยังไม่ยืนยันในเรื่องนี้
วินิจ ตันสกุล เผยว่า จากการติดตามพื้นที่ปลาหมอคางดำระบาดโดยดูจากการเหวี่ยงแหจับปลาในแต่ละครั้ง ปลาที่ติดขึ้นมาเป็นปลาหมอคางดำมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ อาจมีปลาธรรมชาติสักตัวสองตัวเท่านั้น
“ที่ไหนที่มันระบาด มันได้ยึดครองพื้นที่ของมันสำเร็จไปแล้ว” ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกล่าว
ในลักษณะการระบาดปัจจุบัน แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกที่พบการระบาดหนักคือบ่อหรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่วนกลุ่มที่สองคือแหล่งน้ำตามธรรมชาติซึ่งในภาพรวมยังถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบสัดส่วนกับบ่อหรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ
ซึ่งกรณีการระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาตินั้น พบว่า ปลาหมอคางดำมักระบาดในพื้นที่ที่ความหลากหลายทางชีวภาพต่ำ คุณภาพแหล่งน้ำไม่ค่อยดี และเป็นพื้นที่น้ำกร่อย (บริเวณชายฝั่ง) เสียเป็นส่วนใหญ่ ยังพบไม่มากในแหล่งน้ำจืด แต่ยังไม่สามารถการันตีได้ว่าปลาหมอคางดำชอบน้ำกร่อยมากกว่าน้ำจืด โดยที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ น้ำจืดจำนวนมากดันออกมาสู่ปากแม่น้ำ ด้วยข้อมูลที่มีอยู่จึงยังไม่เพียงพอสำหรับการยืนยัน และจำเป็นต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลในทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี
“เราอยากเน้นย้ำให้เกิดข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ ที่ต้องได้มาจากงานวิจัย เพราะฉะนั้นมันไม่ง่ายที่จะบอกว่ามีปริมาณมากน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และหน่วยงานที่รับผิดชอบ (กรมประมง) ควรออกมานำเสนอข้อมูลเป็นระยะ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร” ดร.สรวิศ กล่าว
ทั้งนี้ ปลายปี 2567 ที่ผ่านมา ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาไทย และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ประเมินว่า สถานการณ์ความจริงล่าสุดยังน่าเป็นห่วง เพราะปลาหมอคางดำกระจายตัวเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ และเป็นไปอย่างรวดเร็ว
“ในภาพรวมทั่วประเทศ เราสามารถกำจัดปลาหมอคางดำได้แล้วราว 30 เปอร์เซ็นต์ อีก 70 เปอร์เซ็นต์ ยังเหลืออยู่ ซึ่งต้องพยายามกำจัดต่อไป เราตั้งเป้าให้เหลือ 0 ตัว คือให้หมดไปเลย” ดร.ชวลิต กล่าว
สุดท้ายของเรื่องนี้ เชื่อว่าสิ่งที่ภาคประชาชนยังรอคำตอบอยู่ คงไม่พ้นเรื่องที่ว่าใครเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายในครั้งนี้ ต้นตอของหายนะครั้งที่ยังไม่ถูกสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นทางการ ใครที่ควรต้องออกหน้ามารับผิดชอบความเสียหายต่อการระบาดในครั้งนี้
อ้างอิง
- กรมประมง เดินหน้างานวิจัยพันธุกรรม ทำให้ปลาหมอคางดำ เป็นหมัน แพร่พันธุ์ไม่ได้
- เปิดศึกกำจัด “ปลาหมอคางดำ” ซีซั่น 2
- ปลาหมอคางดำ บทเรียนของปลาต่างถิ่นเพื่อธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
- หมอคางดำยังระบาดไม่แผ่ว กำจัดได้แค่ 30% ยังเหลือเพียบ หยุดจับเมื่อไหร่จำนวนจะพุ่งอีก
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม