อนาคตการจัดการมหาสมุทรอย่างยั่งยืน 

อนาคตการจัดการมหาสมุทรอย่างยั่งยืน 

คำถามที่เกิดขึ้นในกลุ่มวิทยาศาสตร์ทางทะเลแนวความคิดการประเมินผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ (Maximum Sustainable Yield : MSY) สอดคล้องหรือไม่ในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงเชิงระบบนิเวศ (Ecosystem-Based Fisheries Management : EBFM) ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการปรับแก้กฎหมายครั้งนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ ถึงแม้ว่าการจัดการทรัพยากรอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมประมงอยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะฉะนั้นการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ถูกแบ่งแยกออกจากกัน

ปัญหาพื้นฐานตั้งแต่แรกโดยการใช้ค่า MSY กลุ่มปลากะตักและการปรับเปลี่ยนกฎหมาย มุ่งเน้นการจับสัตว์น้ำให้ได้มากที่สุด โดยที่ไม่กระทบต่อความสามารถในการฟื้นตัวของชนิดพันธุ์นั้น นั่นหมายความว่า MSY เป็นการจัดการสปีชีส์หรือชนิดพันธุ์เดียว ซึ่งค่อนข้างจะขัดแย้ง เพราะระบบนิเวศมีความเชื่อมโยงกัน เพราะฉะนั้นแนวความคิด EBFM เป็นการมองภาพรวมบทบาทของชนิดพันธุ์แต่ละชนิดเกี่ยวข้องกันอย่างไรทั้งในเชิงทรัพยากรประมงและทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพอื่นๆ ด้วย ปลากะตักเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศ มันจึงส่งผลถึงห่วงโซ่อาหารทางทะเล ในเชิงหลักการการอาศัยค่า MSY อย่างเดียวอาจจะไม่พอ ถ้าเราจะเพิ่มการจับปลากะตักตามกฎหมายใหม่ เราได้มองปลากะตักที่เป็นเหยื่อของสัตว์ผู้ล่าขนาดอื่นหรือไม่  

อีกประการคือความแปรปรวนในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน การตายของหญ้าทะเลจำนวนมากที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะมีผลอย่างยิ่งในการคำนวนค่า MSY เราอยู่ในยุคที่มีการคาดการณ์สภาพแวดล้อมได้ยากมาก 

“ฉะนั้นการอาศัยอ้างอิงจาก MSY อย่างเดียวในการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบมันก็เป็นความเสี่ยงค่อนข้างเยอะและไม่สอดคล้องกับหลักการกันไว้ก่อน” 

การจัดการมหาสมุทรอย่างยั่งยืน การคุ้มครองพื้นที่ทางทะเล (Marine Protected Areas : MPAs) ก็เป็นอีกแนวทางที่มีความสอดคล้องกัน มองการจัดการในเชิงทรัพยากรระบบนิเวศมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันทรัพยากรเหลือน้อยเต็มที เราเคมีระบบนิเวศที่มีความซับซ้อน มีประชากรสัตว์ผู้ล่าอย่างฉลาม และในระบบนิเวศที่ไม่มีมนุษย์รบกวนจะมีชีวมวลค่อนข้างสูงพอสมควร ซึ่งจะมีความแตกต่างจากระบบนิเวศบนบก

อนาคตการจัดการเรามองอย่างไร

ทุกคนมีความคิดที่อยากให้ทะเลฟื้นคืนกลับมา และประเทศไทยเราก็ได้ลงนามภายใต้อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ เราตั้งเป้าว่า ‘เราจะต้องลดในการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพนั้นกลับมาให้ได้’ 

ตอนนี้เป้าหมายโลกเราต้องการยกระดับเพราะที่มาล้มเหลว และการที่จะให้ธรรมชาติเพียงพอและกลับมาเหมือนเดิมทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อให้มนุษย์ดำรงอยู่ต่อไปได้เราควรมีพื้นที่อนุรักษ์อย่างน้อย 30% ซึ่งทางบกเรามีประมาณ 18.35% ส่วนทางทะเล 4.79% แต่พอดูความจริงในพื้นที่แล้วเรามีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในรูปแบบที่มีกฎหมายจัดการ (อุทยานแห่งชาติทางทะเล) อยู่ประมาณ 2% 

พื้นที่คุ้มครองทางทะเล เคยได้รับการประเมินประสิทธิภาพการจัดการจากผู้เชี่ยวชาญ ประเทศไทยเราได้รับคำแนะนำการจัดการประมงที่ควบคุมไม่ได้หรือการประมงที่ไม่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยในปี 2021 มีการรวบรวมข้อมูลในส่วนพื้นที่คุ้มครองทางทะเลทั่วโลก ได้ผลสรุปว่า ถ้าเราไม่สามารถคุ้มครองพื้นที่ที่เป็นไข่แดงหรือพื้นที่ที่มีความหลากหลายไว้ได้ เราจะไม่มีทางที่จะฟื้นฟูความหลากหลายทางทะเลกลับมาได้ พื้นที่หลายๆ แห่ง จัดตั้งเป็นพื้นที่คุ้มครองแต่ไม่มีการจัดการอย่างเข้มแข็ง และข้อมูลที่สำคัญอีกอย่างคือพื้นที่อยู่อาศับและหากินของสัตว์น้ำ ซึ่งมากกว่า 12 ไมล์ทะเลอย่างแน่นอน

https://www.science.org/doi/full/10.1126/science.abf0861

ต้องยอมรับว่าเรายังมีความรู้น้อยมากๆ ในการฟื้นฟูประชากรสัตว์น้ำ อีกทั้งสัตว์น้ำวัยอ่อนไม่ได้ใช้แค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรืออยู่แค่ตามแนวปะการังหรือตามแนวป่าชายเลน เพราะในช่วงชีวิตของสัตว์น้ำจะใช้พื้นที่ที่แตกต่างกันไป การอนุรักษ์นอกเขต 12 ไมล์ทะเล จำเป็นต้องอยู่ในสมการด้วย จึงจะทำให้เครื่องมือในการแก้ไขกฎหมายในมาตรา 69 มีประสิทธิภาพที่สูง

ในพื้นที่ Great Barrier Reef ของประเทศออสเตรเลีย เป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศทางทะเลค่อนข้างใหญ่ สามารถนำมาเป็นตัวอย่างได้ โดย Great Barrier Reef มีส่วนที่เป็นพื้นที่คุ้มครอง 30% นอกพื้นที่มีการทำประมงพาณิชย์แบบปกติ ต่อมามีการนำข้อมูลความเชื่อมโยงของสิ่งมีชีวิตมาบริหารจัดการและกำหนดว่าพื้นที่ไหนควรบริหารแบบใด ส่วนประเทศไทยเราก็เริ่มมีแผนที่จะพัฒนาและขยายพื้นที่คุ้มครองทางทะเลตามพระราชบัญญัติใหม่ และการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายประมงอาจจะไม่สอดคล้องกับทิศทางอนุรักษ์มหาสมุทรในตอนนี้ อีกทั้งทั่วโลกยังเน้นในเรื่องการจัดการประมงเชิงระบบนิเวศ

ไม่ใช่แค่กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มอนุรักษ์ ที่ออกมาคัดค้านเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกลุ่มประมงที่เขาออกมาร่วมด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้ปกป้องแค่ชายฝั่งทะเลแต่ปกป้องพื้นที่นอก 12 ไมล์ทะเลด้วยเช่นกัน พวกเขาทนเห็นการใช้ประโยชน์แบบไม่ยั่งยืนไม่ได้

ร่วมลงชื่อคัดค้าน ยกเลิกการแก้ไขมาตรา 69 พรก. การประมง โดยอนุญาตให้ใช้อวนตาถี่และวิธีล้อมจับในเวลากลางคืน

ถอดความและเรียบเรียงจากเสวนาวิชาการ เรื่อง “ข้อคำนึงทางนิเวศวิทยา ต่อการทำประมงปลากะตักประกอบแสงไฟ” ในหัวข้อ อนาคตการจัดการมหาสมุทรอย่างยั่งยืน โดย ดร.เพชร มโนปวิตร จัดโดย สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย 25 มกราคม 2568