‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ เป็นคำที่ใช้อธิบายความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนโลก สิ่งนี้ครอบคลุมถึงความหลากหลายภายในสายพันธุ์ ระหว่างสายพันธุ์ และระบบนิเวศ ความหลากหลายต่างๆ เหล่านี้นับเป็นพื้นฐานการทำงานของระบบนิเวศที่ให้คุณประโยชน์แก่เรา อาทิ ความมั่นคงทางอาหารและน้ำ อีกทั้งมีส่วนในการสร้างประเพณี วัฒนธรรมให้แตกต่างออกไปในแต่ละพื้นที่
แต่กิจกรรมของมนุษย์ที่ได้เก็บเกี่ยวทรัพยากรชนิดต่างๆ ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ก่อให้เกิดการสูญเสียที่เป็นภัยคุกคามต่อระบบที่ค้ำจุนชีวิตมนุษย์อย่างยั่งยืนเสียเอง โดยหนทางหนึ่งที่จะหยุดยั้งความเสียหาย จำเป็นต้องมีมาตรการทางกฎหมายสำหรับรักษาความหลากหลายเหล่านั้นไว้ ซึ่งไม่เพียงต่อเพื่อปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อการอยู่รอดและความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์อีกด้วย
ปัจจุบันมีหลายๆ ประเทศเริ่มออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพมากำกับควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อม ขณะที่กฎหมายบางตัวยังทำงานในลักษณะข้ามพรมแดนในรูปแบบของอนุสัญญาที่ทำงานร่วมกันเป็นภาคี เนื่องจากมีระบบนิเวศที่เชื่อมร้อยถึงกัน รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดกับประเทศยังสามารถส่งผลกระทบไปยังประเทศข้างเคียงได้ ตัวอย่างเช่น ผลกระทบจากหมอกควันของไฟป่าเป็นต้น
โดยในภาพใหญ่ของการมีกฎหมายเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ คือ การอนุรักษ์ทั้งในและนอกพื้นที่คุ้มครองในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ผ่านการจัดระเบียบหรือจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการอนุรักษ์ ส่งเสริมคุ้มครองฟื้นฟู ถนอมรักษระบบนิเวศ ถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และประชากรของชนิดพันธุ์ ควบคุมดูแลสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องมีมาตรการสำหรับฟื้นฟูและบำรุงชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์
นอกจากคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในมิติต่างๆ แล้ว ก็ต้องมองถึงการใช้ประโยชน์จากองค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยการผสานการพิจารณาการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างไร ให้เข้ากับการตัดสินใจในระดับชาติ เพื่อป้องกันมิให้การพัฒนาใดๆ นำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบลดความเสียหายที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชนในการพัฒนาวิธีการเพื่อใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
สำหรับในประเทศไทย มีการวางกรอบการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพไว้ในแนวทางยุทธศาสตร์ และนโยบายอยู่หลายส่วน เช่น ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ด้านที่ 5 เรื่องการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดหลักการที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ดังนี้ อนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในและนอกถิ่นที่กำเนิด โดยเฉพาะสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยลดอัตราการสูญเสียชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น และแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ตลอดจนควบคุมชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเฉพาะถิ่น สัตว์ป่าและพันธุ์พืชหายากและใกล้สูญพันธุ์ให้เป็นฐานทรัพยากรที่มั่นคง ควบคู่กับการลดภัยคุกคามและการบริหารจัดการไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสัตว์ป่ากับคนและชุมชน รวมถึงการสร้างระบบฐานข้อมูลในรูปแบบธนาคารพันธุกรรม โดยให้ความสำคัญกับพันธุกรรมท้องถิ่นที่มีคุณค่าต่อระบบนิเวศและ/หรือมีความสำคัญทางเศรษฐกิจและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมเชื้อพันธุ์และองค์ความรู้สำหรับใช้ประโยชน์ในอนาคตและคงความหลากหลายทางพันธุกรรม มีการส่งเสริมมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ และมาตรการจูงใจในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างกลไกการใช้ประโยชน์ในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และพัฒนาระบบการแป่งปันผลประโยชน์ รวมถึงพัฒนาและบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกัน ในแผนการปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุง ก็ได้ให้รายละเอียดประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพไว้ในหัวข้อแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 เพิ่มและพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ตามเป้าหมาย โดยกำหนดให้เพิ่มและพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ และป่าชุมชน ให้เป็นไปตามเป้าหมายภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดในแผนแม่บทการพัฒนาป่าไม้แห่งชาติ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งป้องกันภัยธรรมชาติต่างๆ ตลอดจนเพื่อประโยชน์ในการศึกษา การวิจัย และนันทนาการ นอกจากนี้กำหนดให้มีการปฏิรูปกลไกด้านความหลากหลายทางชีวภาพทั้งระดับชาติและพื้นที่ และในการปฏิรูปกฎหมายกำหนดให้มีการดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. ที่นำไปสู่การบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพในบริบทของประเทศไทย โดยการพัฒนากฎหมายคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพโดยรวมของประเทศอย่างเป็นเอกภาพ
นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงความจำเป็นในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ใน แผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558 – 2564 และแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2560 – 2564 รวมถึงในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก็มีการกล่าวถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ไว้เป็นหนึ่งในหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่ต้อง “ร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรม
หรือในทางกฎหมาย ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอยู่หลายฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติคุ้มครองการใช้พันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เหล่านี้ต่างก็มีเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพทั้งด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพปรากฏ
อย่างไรก็ดี ในส่วนของมาตรการและกลไกทางกฎหมายต่างๆ เพื่อรองรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่มีเป็นลักษณะเป็นกฎหมายกลางโดยตรง (อยู่ระหว่างการดำเนินการ) ซึ่งนั่นทำให้การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในตอนนี้ ยังขาดความชัดเจนในเรื่องของขอบเขตการบังคับใช้และกลไกการบริหารจัดการ การมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ รูปธรรมของการอนุรักษ์ การเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร การควบคุมผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ จนถึงเรื่องความรับผิดชอบตามกฎหมายและบทลงโทษ
ตามข้อมูลของรายงาน (ฉบับร่าง) บนหน้าเว็บไซต์อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Convention on Biological Diversity (CBD) ได้กล่าวถึงสถานะและแนวโน้มความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยเอาไว้ว่า ประเทศไทยมีสัตว์ที่ถูกคุกคามมากมาย ประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 121 ชนิด นก 184 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 33 ชนิด ปลา 218 ชนิด และพันธุ์พืชไม่ต่ำกว่า 1,131 ชนิด เช่น ควายป่า เสือโคร่ง ช้างป่า มีรายงานสัตว์หลายชนิดที่สูญหายไปจากป่าเป็นเวลานาน เช่น กุปรี สมัน กระซู่ ตลอดจนโลมาอิรวดีก็ลดลง ปลาน้ำจืดบางชนิดได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ขณะที่ภูมิทัศน์ของความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยได้รับการคุกคามอย่างหนักจากกิจกรรมของมนุษย์ จากที่ปี พ.ศ. 2516 เคยมีพื้นที่ป่าครอบคลุมพื้นที่ 43.21 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ แต่ก็ลดลงตามลำดับ (ดูเพิ่มเติมที่รายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย) พืชป่าหลายชนิดได้สูญหายไปอย่างไม่อาจแก้ไขได้ มีกล้วยไม้ป่าหลายแสนต้นถูกลักลอบตัดไปขาย เกิดการพังทลายของพันธุกรรมข้าวเนื่องจากเกษตรกรปลูกพันธุ์ที่อุดมสมบูรณ์กว่า พื้ชที่ปลูกในท้องถิ่นจำนวมากได้หายไปหลังจาการทำลายพื้นที่อันเป็นผลมาจากภัยพิบัติ การขยายตัวของเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรม และการก่อสร้างเขื่อน
หรือในด้านความหลากหลายทางชีวภาพทางชายฝั่งและทะเลที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ ตามแนวป่าชายเลนถูกคุกคามด้วยการตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การก่อสร้างพื้นที่อยู่อาศัย การสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ป่าชายหาดได้รับความเสียหายจากการท่องเที่ยว การตั้งถิ่นฐานชุมชน กิจกรรมท่าเรือ โดยป่าชายหาดที่ยังอุดมสมบูรณ์เหลืออยู่ในเขตอนุรักษ์ทางทะเลเท่านั้น หญ้าทะเลมีแนวโน้มลดลงจากการประมง สิ่งปฏิกูลและของเสียจากป่าแม่น้ำ พื้นที่ปะการังส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ไม่ดี บางส่วนอยู่ในสภาพที่แย่มาก
ขณะที่ในรายสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ได้สรุปถึงความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย เอาไว้ว่าการประเมินสถานภาพการถูกคุกคาม มีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม 999 ชนิด สัตว์มีกระดูกสันหลังที่ถูกคุกคามจำนวน 676 ชนิด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง 304 ชนิดด้วยกัน
สถานการณ์ที่ยกมานี้ คือ ตัวอย่างภาพรวมของความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังถูกคุกคามอยู่ ซึ่งการอนุรักษ์และการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพไม่เพียงแต่มีความจำเป็นด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นแง่มุมพื้นฐานของสุขภาพของมนุษย์ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความยืดหยุ่นโดยรวมของโลกของเรา ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นตัวแทนของสายใยแห่งชีวิตที่ซับซ้อนซึ่งเป็นรากฐานของปฏิสัมพันธ์ในระบบนิเวศที่จำเป็นสำหรับการอยู่รอด ตั้งแต่อากาศที่เราหายใจไปจนถึงอาหารที่เรากิน
ท้ายที่สุดแล้ว การตัดสินใจอันใดที่เกิดขึ้นโดย คำนึงถึงความเชื่อมโยงกันของชีวิต และรับทราบถึงการพึ่งพาของเราต่อโลกธรรมชาติ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับรู้ว่าการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของเรา เนื่องจากเป็นการรักษารากฐานสำหรับสร้างอนาคตของเรา การดำเนินการอย่างเด็ดขาดผ่านตัวของกฎหมายตั้งแต่ตอนนี้จะทำให้เราสามารถรับประกันได้ว่าความหลากหลายทางชีวภาพยังคงเจริญเติบโตต่อไป โดยมอบความยืดหยุ่น ความงดงาม สู่การยังชีพสำหรับคนรุ่นต่อไป จากการปกป้องชนิดพันธุ์รวมถึงตัวเราเอง เพื่อให้มั่นใจว่าโลกมีสุขภาพที่ดีขึ้น ยั่งยืนมากขึ้น และเกิดความเท่าเทียมกัน
อ้างอิง
- ประกาศยุทธศาศตร์ชาติ
- แผนการปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุง
- Thailand – Country Profile Biodiversity Facts
- รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2565