งานวันช้างไทยการอนุรักษ์และการอยู่ร่วมกัน ความหวังของวิถียั่งยืนท่างกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก

งานวันช้างไทยการอนุรักษ์และการอยู่ร่วมกัน ความหวังของวิถียั่งยืนท่างกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีเวทีเสวนาเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่ส่งผลกระทบต่อช้างและผู้คน จนนำมาซึ่ง ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างได้ก่อให้เกิดความท้าทายต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงเพื่อแสวงหาสมดุลให้คนรอบพื้นที่

สมาคมนิเวศยั่งยืน (Ecoexist Society) สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน ประเทศไทย (ZSL) ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) ได้ทำการแลกเปลี่ยน ผลงานวิจัยในเชิงของนิเวศและชุมชนโดยรอบเพื่อหาทางออกอย่างยั่งยืนของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและช้าง

ในเวทีเสวนาได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับนิเวศของช้างป่านั้นได้แตกต่างจากความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ อาทิ ช้างเป็นสัตว์ที่ต้องการผืนป่าที่เปิดโล่งมากกว่าผืนป่าสมบูรณ์หนาทึบที่ปกคลุมไปด้วยไม้เรือนยอด ทำให้การออกที่ดินการเกษตรในบริเวณป่าไม้เสื่อมโทรม รอบแนวเขตของผืนป่านั้นก็ยังสามารถพบเจอช้างป่าออกมาใช้เส้นทางเหล่านี้ได้ เช่น การมาหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่บริเวณชุมชน อีกทั้งยังทำให้พืชไร่ของชาวบ้านเสียหายอย่างหนักจากการถล่มของฝูงช้างที่แสวงหาแหล่งอาหารภายนอกผืนป่า 

คุณเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงปัญหาช้างป่า ว่าการกระทบกระทั่งระหว่างคนกับช้างมาจากปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินซึ่งมีความสำคัญกับทั้งคนและช้างป่า และปัญหาได้กระจายไปในหลายพื้นที่ของประเทศ ยากที่กระทรวงทรัพย์ฯ เพียงหน่วยงานเดียวจะแก้ปัญหาได้ การที่มีทุกคน และองค์กรต่างๆ มาร่วมแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่ดี และทำให้การแก้ปัญหามีแนวโน้มในทางที่ดี เพื่อให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งการอยู่ร่วมไม่ได้หมายถึงอยู่ด้วย แต่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ดีขึ้น

คุณวรลักษณ์ ศรีใย นายกสมาคมนิเวศยั่งยืน (Ecoexist Society) กล่าวถึง ข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่า 3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2563 – 2566 เกิดเหตุการณ์ของความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง มากกว่า 3,800 ครั้ง สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ ขณะเดียวกันช้างป่าก็บาดเจ็บและเสียชีวิตอันเนื่องมาจากความขัดแย้ง และนั่นส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของชุมชนและลดพลังการสนับสนุนการอนุรักษ์ช้างป่าของประชาชนรอบพื้นที่อนุรักษ์ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อช้างและผู้คน ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเกิดความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคีเครือข่ายทั้งหลายเพื่อให้ทัศนคติของคนที่มีต่อช้างเป็นไปในแง่บวกมากขึ้น

พื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งที่เป็นถิ่นอาศัยของช้างป่าถูกแบ่งแยกเป็นหย่อมป่า (Habitat Fragmentation) ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัจจัยหลักก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่ช้างออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎรที่อาศัยใกล้ชิดตามแนวขอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์  “แนวเชื่อมต่อผืนป่า (Ecological corridor)” จึงเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญ 

คุณศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาช้างป่า ไม่ใช่แค่ทรัพยากร หรือช้าง เรื่องคนก็สำคัญ และปัจจัยที่สำคัญในการแก้ปัญหา คือ ‘คน’ ที่เข้าใจที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งไม่ใช่แค่ในระดับนำอย่างอธิบดีแต่รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วย ที่ต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจกับชุมชน เพราะที่ผ่านมาปัญหาสำคัญคือเรื่องการสื่อสาร ในส่วนของท้องถิ่นก็สำคัญต้องมีความรู้ความเข้าใจ อีกกลไกลที่สำคัญคืออาสาสมัครป้องกันช้างป่าที่มีความเข้าใจพฤติกรรมช้าง มีข้อมูล ต้องผ่านการฝึกอบรม ซึ่งตรงนี้ก็เกี่ยวข้องกับนักวิชาการและกรมอุทยานแห่งชาติฯ ด้วย

ท่ามกลางสภาพภูมิอากาศที่ไม่แน่นอนนั้นได้ส่งผลกระทบต่อช้างหลายอย่างเช่น การผสมพันธุ์ ความเครียด และแหล่งอาหาร องค์ประกอบเหล่านี้นำไปสู่พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของช้างรวมถึงเส้นทางการออกหารกิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนเกษตiกรโดยรอบทั้งโดนทำร้ายและความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร

เครือข่ายภาคประชาชนยังมองว่า การจัดการปัญหาช้างป่านอกพื้นอนุรักษ์ยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และยังมีช่องว่างในเรื่องความเข้าใจต่อบทบาท นโยบาย และข้อกฎหมายที่เอื้อต่อการบริหารจัดการช้างป่านอกพื้นที่อนุรักษ์ เนื่องจากยังเป็นการกำหนดนโยบายที่เน้นการออกแบบและตัดสินใจจากส่วนกลางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า ยังขาดการมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย ติดตามผล และร่วมตัดสินใจในการบริหารจัดการจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากพื้นที่ รวมถึงขาดการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าอย่างทันท่วงที

รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า การกระจายอำนาจจะทำให้การจัดการปัญหารวดเร็วขึ้น แต่ต้องอยู่บนฐานองค์ความรู้หลักวิชาการด้วย เพราะหากตัดสินใจเร็วเกินไปหรือช้าเกินไปก็จะเกิดผลกระทบได้ 

การ ‘กระจายอำนาจ’ ทั้งการจัดการ และการใช้เงินงบประมาณ รวมทั้งสร้างกระบวนการที่มีส่วนร่วม จึงกลายเป็นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาและยับยั้งความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสัตว์ป่าโดยสวัสดิภาพ

ตัวอย่างของการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ได้รับความช่วยเหลือจากภาคีเครือข่าย อาทิ โครงการต้มยำที่ (Tom Yum project) ที่ริเริ่มโดย มูลนิธิพาช้างกลับบ้าน (Bring The Elephant Home Foundation) ได้สนับสนุนให้ชาวบ้านนั้นปลูกพืชผลตามส่วนผสมของเครื่องต้มยำเช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด บริเวณพื้นที่ความขัดแย้งซึ่งช้างไม่กินโดยเป็นตัวกลางรับซื้อเพื่อไปจำหน่ายในตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ อีกทั้งได้มีการสร้างรั้วรังผึ้งกันช้างที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและความปลอดภัยของช้างที่ไม่โดนช๊อตจากรั้วไฟฟ้าในอดีต หรือ กาแฟช้างป่า จากชุมชนที่มีความพยายามปรับตัวอยู่ร่วมกับช้างป่าอย่างสันติโดยชาวไร่นักวิจัยเพื่อท้องถิ่นในพื้นที่ ต.ห้วยขาแข้ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยและสำรวจหาพืชที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบน้อยกว่าเมื่อช้างเดินผ่านแปลงเพาะปลูกจนเป็นที่มาของการริเริ่มเพาะปลูกและแปรรูปกาแฟในพื้นที่ไร่ของชุมชนที่มีข้อตกลงร่วมกัน ที่จะยุติความรุนแรงและไม่ทำร้ายช้างป่าเมื่อเดินผ่านแปลงเพาะปลูก 

แม้ว่าความท้าทายที่ต้องเผชิญในการอนุรักษ์ช้างจะมีความสำคัญ แต่ก็ยังมีโอกาสสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนที่มนุษย์และช้างสามารถอยู่ร่วมกันได้ เรื่องราวความสำเร็จของภาคส่วนต่างๆ แสดงให้เห็นว่าการทำงานร่วมกัน นวัตกรรม และความมุ่งมั่นในการอยู่ร่วมกันสามารถเอาชนะความขัดแย้งและสร้างสมดุลที่กลมกลืนกับธรรมชาติได้ ขณะที่เราสำรวจความซับซ้อนของการอนุรักษ์ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ช้างยังคงเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังของการฟื้นฟูระบบนิเวศในไทย ที่เตือนเราถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการอนุรักษ์ไว้

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia