อุทยานแห่งชาติทับลานมีอาณาเขตครอบคลุมทั่วทั้งภาคอีสานและภาคตะวันออกในเขตทิวเขาพนมดงรักที่มีภูเขาสลับซับซ้อนเอื้อต่อการเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญอย่าง แม่น้ำบางประกง มีต้นลานขึ้นอย่างแน่นหนาในธรรมชาติส่งผลให้เป็นที่มาของคำเรียกป่าอีกชนิดหนึ่งว่า ‘ป่าลาน’ ซึ่งเป็นป่าผลัดใบมีลักษณะเด่นคือสภาพจะเป็นป่าโปร่งและเป็นบ่อเกิดที่หลากหลายของชนิดพันธุ์โดยมีชนิดป่าที่โดดเด่นอยู่ 4 ชนิดคือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบชื้น อีกทั้งยังมีคุณค่าความสำคัญในระดับโลกเพราะผืนป่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งได้ถูกยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติในปี พ.ศ. 2548
“พื้นที่บริเวณนี้มีสภาพเป็นเหมือนไข่แดง ท่ามกลางผืนป่าทั้งสองฝั่ง โดยฝั่งนึงคืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ส่วนอีกฝั่งเป็นอุทยานแห่งชาติตาพระยาและอุทยานแห่งชาติปางสีดา ซึ่งอุทยานแห่งชาติทับลานเป็นทางเชื่อม (corridor) ทางธรรมชาติของสัตว์ป่า หรือก็คือเป็นตัวเชื่อมระหว่างสองผืนป่าของสัตว์ป่าในการเดินทางข้ามไปมาระหว่างสองพื้นที่นั่นเอง”
มีการพบการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าในพื้นที่ รวมถึงการเพิ่มจำนวนของประชาการเสือโคร่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งบ่งชี้ให้เราเห็นว่าผืนป่าบริเวณดังกล่าวมีศักยภาพและความอุดมสมบูรณ์มากพอต่อการขยายตัวของจำนวนเสือโคร่ง เมื่อเกิดการจัดการในลักษณะนี้ของภาครัฐขึ้นมา มันอาจส่งผลต่อแนวการเชื่อมต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่า ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์ป่าที่ใช้พื้นที่ในการข้ามไปมา และท้ายที่สุดมันอาจทำให้ผืนป่าขาดความสมดุลทางธรรมชาติไป
พื้นที่ทับลานในอดีตก่อนที่จะถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ.2524 นั้นในทางกฎหมายเป็น ‘ป่าไม้ถาวร’ ได้เกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2504 โดยแบ่งการจัดการเป็นสองประเภทคือพื้นที่ป่าไม้ที่ให้คงไว้ตามธรรมชาติ และพื้นที่ป่าที่จะเปิดจัดสรรเพื่อกำรเกษตรกรรมหรือเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่น โดยดำเนินการสำรวจ จำแนกประเภทที่ดินตามขั้นตอนว่าพื้นที่ใดสมควรสงวนเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่แน่นอน และให้ถือเขตพื้นที่ป่าไม้บริเวณนั้นตามที่คณะกรรมการจำประเภทที่ดินได้จำแนกไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ถาวร ส่วนพื้นที่ที่เหลือจากการกำหนดไว้เป็นป่าไม้ถาวรให้จำแนกเป็นที่จัดสรร ซึ่งพื้นที่ป่าไม้ถาวรถือเป็นที่ดินของรัฐ
ความเป็นมาแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและนโยบายของรัฐ
โดยพื้นที่บริเวณนี้ถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ถาวรในปี พ.ศ. 2506 ซึ่งประกอบไปด้วย อำเภอปักธงชัย ครบุรี เสิงสาง วังน้ำเขียว และนาคี หลังจากนั้นก็ได้ถูกประกาศเป็นป่าสงวนตามลำดับโดยเริ่มจากป่าสงวนแห่งชาติครบุรี ในปี พ.ศ. 2509 ป่าสงวนแห่งชาติแก่งดินสอและเขาสะโตน ในปี พ.ศ. 2510 ป่าสงวนแห่งชาติวังน้ำเขียวในปี พ.ศ. 2515 แต่พระราชกฤษฎีกาปฎิรูปที่ดินปี พ.ศ. 2521 ได้ครอบคลุมพื้นป่าวังน้ำเขียวในขณะนั้นแต่ยังไม่มีการเพิกถอนออกจากป่าสงวนเพื่อนำไปจัดสรรทำแปลงที่ดินและสุดท้ายคือป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาจอมทองในปี พ.ศ. 2523 หลังจากทับลานถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ก็ได้มีการเพิกถอนพื้นที่บางส่วนเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำมูลบนในปี พ.ศ. 2532 ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 2,625 ไร่ ต่อมาในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2540 ได้มีมติของคณะรัฐมนตรีให้นำป่าอนุรักษ์มอบให้ สำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ไปปฏิรูปที่ดินเพื่อจัดสรรในการใช้ประโยชน์ ต่อมาภายในระยะเวลาเพียงแค่หนึ่งปี ก็ได้มีการยกเลิกมติข้างต้นและไม่นำพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ ส.ป.ก. ไปปฎิรูปที่ดินโดยเด็ดขาด
โดยสภาพปัญหาภายในพื้นที่นั้นมีมากมายซึ่งส่วนมากเกี่ยวข้องกับการประกาศพื้นที่ซ้อนทับกับเขตบริหารเดิมที่มีเป้าประสงค์ในการใช้ที่ดินอีกแบบนึง อีกทั้ง แต่ละหน่วนงานในพื้นที่ต่างก็ดำเนินกิจกรรมตามกฎหมายของตนเอง จึงเกิดปัญหาคาราคาซังระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน อาทิเช่น แนวเขตป่าไม้ของอุทยานซ้อนทับกับ ส.ป.ก. การเกิดโครงการที่มีพื้นที่เกี่ยวของกับเขตอุทยานอย่าง โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) หรือ โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง (พมพ.) โดยส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหานี้ดำเนินมาถึงปัจจุบันคือการรับผิดชอบพื้นที่นอกเหนืออาณาเขตหน่วยงานอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ อีกทั้งยังมีการดำเนินคดีหลายครั้งกับผู้ถือครองที่ดินอย่างผิดกฎหมาย
ป่าทับลานหายไปกว่า 260,000 ไร่
การประชุมของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ในระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเพื่อทราบ 3.5 การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งถือเป็นการข้ามขั้นตอนการให้ข้อเสนอแนะอย่างละเอียดรอบคอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ โดยประเด็นการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวได้มีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมาแล้ว 2 ครั้ง โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะให้มีการใช้แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
โดยที่ประชุมดังกล่าวได้มีการนำเสนอข้อมูล มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ได้เห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เรื่องผลการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ และปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One map) ที่ให้ดำเนินการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ. 2543 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งจะเป็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานถึง 265,286.58 ไร่
โดยปกติแล้ว การประกาศพื้นที่ส.ป.ก.ได้นั้นจะต้องมาจากกฤษฎีกา และจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีสภาพเสื่อมโทรมชัดเจน ตัวอย่างเช่น พื้นที่ป่าสงวนฯ ที่เกิดความเสื่อมโทรม ทางกรมป่าไม้ก็ต้องทำเรื่องยกพื้นที่นี้ให้กับส.ป.ก. นำไปจัดสรรต่อ ภายใต้กติกาที่กำหนดร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งสัดส่วนชัดเจนกับพื้นที่ที่คงสภาพเป็นป่าชัดเจน ในปัจจุบันยังไม่มีพื้นที่ส.ป.ก.ส่วนไหนเลยส่งคืนให้กรมป่าไม้ในสภาพที่เป็นป่าเลยแม้แต่พื้นที่เดียว แต่กลับพบการออกที่ดินโดยส.ป.ก.อย่างมิชอบ
ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสถานะของพื้นที่จากพื้นที่อุทยาน ให้กลายเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ขัดต่อการดำเนินงานของคณะติดตามการแก้ปัญหาเรื่องของชุมชนในพื้นที่ป่า หากเราดูตามพื้นที่เดิมของอุทยานแห่งชาติทับลานซึ่งเป็นป่าไม้ถาวรตามมติรัฐมนตรี 2506 ซึ่งถูกสงวนไว้สำหรับเรื่องของการคุ้มครองพื้นที่ป่า อีกทั้งภาพถ่ายทางอากาศแทบจะไม่พบเรื่องของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เลย ยกเว้นส่วนพื้นที่ของวังน้ำเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตอุทยานอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าหากพื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศเป็นป่าไม้ถาวรแล้วการจะดำเนินการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงสภาพใดก็ตาม จำเป็นต้องดำเนินการผ่านคณะรัฐมนตรี โดยจะต้องออกมาเป็นมติในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ และต้องมีกรมป่าไม้เข้ามาเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการในส่วนนี้
ในด้านของพลเรือนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องของที่ดินเราสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ กลุ่มคนที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานซึ่งพวกเขาควรมีสิทธิ์ตามกระบวนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ต่อมาคือกลุ่มคนที่ได้เอกสารสิทธิ์ที่ดินไปแล้วอยู่ระหว่างการดำเนินการประกาศเขตโดยบางคนได้มีการขยายหรือจับจอง เปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินพื้นที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่มีการตกลงกันไว้ และสุดท้ายคือกลุ่มคนที่เข้ามาครอบครองอย่างผิดกฎหมาย เช่น ‘กลุ่มทุนที่เข้ามาพัฒนาที่ดินให้กลายเป็นธุรกิจก็ต้องถูกนำพาออกไปจากพื้นที่นั้น’
ในส่วนของแนวทางการแก้ไขปัญหานั้นโดยส่วนมากการกระทำอันใดที่เป็นการลดพื้นที่ป่านั้นก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 65 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่กำหนดให้มีการเพิ่มพื้นที่ป่าในช่วงปี พ.ศ.2566 – 2570 ร้อยละ 33 และในห้วงปี 2576 – 2580 ต้องเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35 ของพื้นที่ประเทศและขัดต่อนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ
หากเราไม่พิจารณาพื้นที่ให้ละเอียดถี่ถ้วนในการเพิกถอน ก็อาจจะเสียบรรทัดฐานในการแก้ไขปัญหาระดับประเทศในลักษณะที่จะเพิกถอนพื้นที่อื่นๆ ต่อไป อาจจะเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายย่อย
ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี พ.ศ.2562 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมาตรา 16 วรรค (2) เสนอแนะการกำหนพื้นที่ใดเป็นอุทยานแห่งชาติ การขยายหรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรของประเทศ
พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานถือเป็นสมบัติทางธรรมชาติที่ขาดไม่ได้ทั้งในประเทศไทยและในประชาคมโลก เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งในการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากเป็นองค์ประกอบหลักของป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ แหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่านานาชนิด รวมถึงสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แต่ยังให้บริการระบบนิเวศที่สำคัญที่ค้ำจุน สิ่งแวดล้อมและชุมชนมนุษย์โดยรอบ การพิจารณาเพิกถอนพื้นที่กว่าสองแสนไร่นั้น ถือเป็นการทำลายความมั่นคงของระบบนิเวศ บนพื้นที่อุทยานที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ อีกทั้งหากเราไม่ทำการคัดค้านและยึดความสำคัญของธรรมชาติเป็นอันดับแรก ป่าส่วนอื่นของไทยก็อาจจะโดนเพิกถอน จากการขยายตัวของกิจกรรมมนุษย์อย่างไร้ขอบเขตมากขึ้นไปอีก
“เราไม่สามารถทดแทนด้วยการสร้างป่าอีกบริเวณหนึ่งมาทดแทนพื้นที่ธรรมชาติที่เป็นป่าผืนเดียวกันอยู่แล้ว เพราะป่าที่ไม่ต่อเนื่องกันและเป็นเกาะแก่งไม่สามารถก่อให้เกิดความหลากหลายที่ยั่งยืนได้”
ภาพประกอบ