กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีสั่งยกเลิกโครงการเหมืองแร่โปแตชสกลนคร

กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีสั่งยกเลิกโครงการเหมืองแร่โปแตชสกลนคร

18 กุมภาพันธ์ 2567 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ยื่นหนังสือต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้มีคำสั่งยกเลิกโครงการเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส ขณะนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยโทง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 

โดยในช่วงเช้าก่อนเดินทาง ผู้ใหญ่บ้านได้ประกาศเสียงตามสายของหมู่บ้านสั่งห้ามลูกบ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่มว่าห้ามทำการตะโกนหรือชูป้ายใดๆ ขณะที่ทำการยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเด็ดขาด ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เกิดความรู้สึกว่าเป็นการสร้างบรรยากาศให้เกิดความหวาดกลัวในรูปแบบเดียวกันกับรัฐบาลเผด็จการทหาร

โดยเวลาประมาณ 15.30 น. ระหว่างที่นักปกป้องสิทธิฯ กำลังนั่งพักรอยื่นหนังสืออยู่ภายในเต็นท์เจ้าหน้าที่จำนวนหลายนายได้เดินเข้ามาหานักปกป้องสิทธิฯ ซึ่งนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีที่มาจากสำนักนายกรู้ว่าชาวบ้านต้องการยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรี อยากให้ชาวบ้านยื่นหนังสือกับตนไปเลย แล้วให้บอกกับนายกรัฐมนตรีว่าได้ยื่นหนังสือกับตนแล้ว ไม่เช่นนั้นเรื่องที่ยื่นจะหายเพราะตนเป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องร้องทุกข์ แต่ถ้าไม่สบายใจก็รออยู่ตรงนี้เพื่อยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งนักปกป้องสิทธิฯ ได้ยืนยันไปว่าต้องการยื่นกับมือนายกรัฐมนตรีเท่านั้นและกลุ่มได้ทำการประสานกับนายอำเภอวานรนิวาสเพื่อให้อำนวยความสะดวกให้แล้ว

ต่อมาเวลาประมาณ 17.30 น. ขณะที่นายเศรษฐากำลังจะเดินไปขึ้นรถเพื่อเดินทางกลับ นักปกป้องสิทธิฯ ที่เป็นตัวแทนกลุ่มก็ได้ทำการยื่นหนังสือต่อนายเศรษฐา 

โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า กลุ่มทราบว่าบริษัท ไชน่า หมิ่งต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษใหม่ในเขตพื้นที่เพื่อขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชอีกครั้ง ตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมากลุ่มได้ติดตามสถานการณ์การขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชในพื้นที่พบประเด็นปัญหาสำคัญ ดังนี้ 

(1) การขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชของบริษัทฯมีการทำผิดข้อตกลงท้ายอาชญาบัตรพิเศษ ในข้อที่ 6 พบว่ามีการเข้าเจาะสำรวจในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต 

(2) การขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชของบริษัทฯ ทำให้ประชาชนวานิวาสเกิดความหวาดกลัวที่จะเกิดผลกระทบจากขั้นตอนการขุดเจาะสำรวจและการทำเหมืองใต้ดินในอนาคต 

(3) การเข้ามาของบริษัทฯทำให้เกิดความแตกแยกภายในชุมชน ทั้งยังมีการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยการฟ้องปิดปาก (SLAPP) กลุ่มผู้คัดค้าน 

และ (4) ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ได้ระบุการบริหารจัดการแร่ต้องอยู่ภายในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ดังนั้นต้องทำตามขั้นตอนพระราชบัญญัติแร่ใหม่ ที่ระบุให้มีการทำข้อมูล ตามมาตรา 16 ให้ครบถ้วน คือ การประเมินคุณค่า ทางเศรษฐกิจและสังคม ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และต้องกันเขตพื้นที่ต้องห้ามตามมาตรา 17 วรรคสี่ ออก 

ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการทำข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด จึงให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งยกเลิกการยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่และทำเหมืองแร่โปแตช ในพื้นอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร โดยเด็ดขาด

และระหว่างยื่นหนังสือนักปกป้องสิทธิฯ ได้กล่าวย้ำต่อนายเศรษฐาว่า การทำเหมืองแร่โปแตชเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก พวกเรากังวลว่าจะเกิดแผนดินเค็ม กระทบถึงพื้นที่ทางการเกษตร พวกเราไม่ต้องการให้มีการทำเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส

โดยในเวลาเดียวกันกับที่มีการยื่นหนังสือ สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ต้องการจะชูป้ายผ้าเพื่อยืนหยัดในการใช้เสรีภาพในการแสดงออก แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ประกบติดและขัดขวางไม่ให้ชูป้าย ทำให้เห็นว่ารัฐบาลประยุทธ์ กับรัฐบาลเพื่อไทย กลัวป้ายผ้าไม่ต่างกันเลย และต้องการกดประชาชนไม่ให้มีความเห็นต่างกับแนวนโยบายของตน

อย่างไรก็ตามกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสจะยังคงยืนหยัดเพื่อปกป้องพื้นที่อำเภอวานรนิวาสไม่ให้มีการทำเหมืองแร่โปแตชโดยเด็ดขาด และจะคัดค้านการทำเหมืองแร่โปแตชให้ถึงที่สุด เพราะหากมีการทำเหมืองแร่โปแตชเกิดขึ้นหายนะครั้งยิ่งใหญ่ก็จะเกิดขึ้นกับคนวารนนิวาสอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อวิถีชีวิต ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และอาชีพของคนในพื้นที่ ซึ่งในประเทศไทยได้มีตัวอย่างผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตชในเห็นแล้วที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา

รายงานโดย กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร