1. สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา กลุ่มรักษ์หนองมะค่า ตำบลสองพี่น้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ได้เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ตรวจสอบการดำเนินธุรกิจและการพิจารณาใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของบริษัททำเหมืองแร่แห่งหนึ่ง
2. วันที่ 11 – 12 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้ลงพื้นที่เพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับฟังปัญหาประชาชนในพื้นที่ รวมถึงมาดูสภาพพื้นที่จริงบริเวณที่จะมีการขออนุญาตทำเหมืองแร่โดโลไมต์ตามที่กลุ่มรักษ์หนองมะค่าได้ยื่นเรื่องไว้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือและป่ายางน้ำกลัดใต้ ในเขตหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 8 ตำบลสองพี่น้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ถือได้ว่าเป็นพื้นที่เขตกันชนของผืนป่ามรดกโลกแก่งกระจานและมีระยะห่างจากป่ามรดกโลกไม่เกิน 2 กิโลเมตร อีกทั้งยังมีชุมชนอยู่อาศัยและทำกินล้อมรอบพื้นที่ที่จะขอทำเหมืองแร่อีกด้วย






3. บริษัทขอทำเหมืองแร่ชนิดโดโลไมต์ เนื้อที่ขอประทานบัตรรวมทั้งสิ้น 540 – 3 – 70 ไร่ แต่จากข้อมูลล่าสุด (ก.ย. 2567) บริษัทขอลดขนาดพื้นที่ในการทำเหมืองลงเหลือ 240 กว่าไร่ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าถ้ามีการขอลดขนาดพื้นที่ กระบวนการต่างๆ ที่ทางบริษัทเคยเข้ามารับฟังความคิดเห็นประชาคมชุมชนต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่


4. ผู้เขียนได้มีโอกาสนำเสนอข้อมูลความสำคัญของพื้นที่มรดกโลกแก่งกระจานกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และได้ร่วมเดินสำรวจพื้นที่ป่าบริเวณที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่กับคนในชุมชน ถ้าให้เปรียบเทียบถือว่าที่แห่งนี้เป็นตู้กับข้าวชั้นดีของชุมชนโดยรอบ เช่น หน่อไม้ บุก เห็ดโคน เปราะ กระทือฯ โดยเฉพาะฝนแรกของปีที่อาหารชั้นดีเหล่านี้จะถูกผลิตขึ้นจากผืนป่าที่สมบูรณ์ให้ชุมชนได้เก็บกิน ผู้เขียนเดินไปเจอพืชหลายชนิดที่มีดอกเล็กๆ สวยๆ สีชมพู สีม่วง บางชนิดเป็นพืชสมุนไพร เดินๆ ไปคุณอาจเจอทั้งรอยตีนและตัวสัตว์ เช่น กระจง ชะมด หมาใน กระต่ายป่า พังพอน เก้ง เลียงผาก็สามารถถ่ายภาพได้จากบนเขาลูกนี้ และสามารถพบนกได้หลากหลายชนิดเช่นกัน จากข้อมูลของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย พบว่าบริเวณหนองมะค่า ป่าชายขอบและข้างในป่าส่วนที่จะมีโครงการทำเหมือง สามารถพบเจอนกได้มากถึงสองร้อยกว่าชนิด นกชนิดเด่นๆ เช่น แต้วแล้วหูยาว นกอัญชันป่าขาเทา นกอัญชันป่าขาแดง นกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาล ที่นี่ถือได้ว่าเป็นแหล่งดูนกระดับโลก ที่นักดูนกจากทั่วสารทิศบินลัดฟ้ามาถ่ายนกที่สวยงามและหายากบริเวณพื้นที่แห่งนี้








5. ชุมชนยืนยันว่าจะไม่ประนีประนอม เขาไม่ต้องการเหมือง เขาต้องการอยู่กับธรรมชาติแบบนี้ไปจนชั่วลูกหลาน เพราะหากเหมืองเกิดขึ้นจริงมลพิษที่จะเกิดขึ้นจากการทำเหมืองทั้งน้ำที่อาจปนเปื้อน ฝุ่นละอองรวมถึงเสียงและแรงสั่นสะเทือนหากมีการระเบิดในกระบวนการทำเหมืองแร่ นอกจากสิ่งแวดล้อมที่จะต้องสูญเสีย วิถีชีวิตการทำมาหากินของเขาจะต้องสูญเสียตามไปด้วย รวมถึงเศรษฐกิจชุมชนที่ส่วนหนึ่งมีรายได้จากการท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้ก็จะตายตามไปด้วย
“เดี๋ยวนี้ป่าถูกทำลายไม่ใช่จากชาวบ้านหรอก แต่ป่าถูกทำลายจากหน่วยงานรัฐที่เซ็นอนุมัติให้มีโครงการในป่าได้” ความในใจของคนในพื้นที่
ติดตามข่าวสารกลุ่มรักษ์หนองมะค่าได้ที่
ภาพถ่าย
- อรยุพา สังขะมาน
- สุขวัสชัย ฤทธิเดช
- ภาพนก โดย คุณเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
- ภาพเลียงผา โดย กลุ่มรักษ์หนองมะค่า
- ภาพแผนที่ โดบ ศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดเพชรบุรี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ผู้เขียน
ตำแหน่ง หมาเฝ้าป่า ผู้มีความหลงใหลในโลกใบจิ๋วของพืชและสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย มีความสุขกับการปั่นจักรยาน ทำขนมปัง และชอบใช้ของมือสอง