ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บ้านของพะยูนในจังหวัดตรังได้ประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศอย่างรุนแรง จากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิน้ำเพิ่มสูงขึ้น
ผลประจักษ์หนึ่งที่ปรากฏเด่นชัด คือการสูญเสีย ‘หญ้าทะเล’ แหล่งอาหารหลักของพะยูน จากที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็ลดน้อยถอยลงจนทำให้พะยูนต้องย้ายถิ่นหากิน
จากที่เคยว่ายเวียนในท้องที่จังหวัดตรัง ก็ต้องโยกย้ายไปหาอาหารในพื้นที่อื่น เช่น ปรากฏทางสถานที่ท่องเที่ยวที่การจราจรทางน้ำคับคั่ง มีเรือสปีดโบ๊ทวิ่งด้วยความเร็ว ต่างจากบ้านเดิมที่ผู้คนต่างตระหนักและเข้าใจวิถีความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าสงวนชนิดนี้ และเอื้ออารีถิ่นอาศัยให้กับสัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์โดยไม่กระทำการคุกคามกันมากนัก
จนสุดท้ายเรื่องราวจบลงที่โศกนาฏกรรม
เรื่องราวที่เกริ่นมานี้เป็นเพียงฉากหนึ่งของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศทะเลและชายฝั่งของไทย หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์น้ำทะเลเดือดที่กำลังเป็นอยู่ คือการซ้ำเติมสภาพแวดล้อมที่ถูกกระทำชำเราซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาเกินครึ่งศตวรรษ
ที่ผ่านมา ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไทยต้องเผชิญกับการถูกคุกคามจากปัจจัยใดบ้าง เรากำลังสูญเสียสิ่งใดไป ชวนอ่าน ประวัติศาสตร์ฉบับย่อเกี่ยวกับการทำลายทะเลและชายฝั่งของไทย
ถอดความและเรียบเรียงจาก TALK ทะเลเดือด หญ้าทะเลตาย ระบบนิเวศพัง รำลึก 34 ปี สืบ นาคะเสถียร Journey Through Coordinates
พ.ศ. 2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม
นับจากปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ที่กระตุ้นให้เกิดการจับสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น ทั้งเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ ใช้ผลิตเป็นอาหารของสัตว์ และยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการนำ ‘อวนลาก’ เข้ามาใช้ในประเทศไทย
ในด้านหนึ่ง ไทยมีผลผลิตที่ได้จากการประมงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในทางตรงกันข้าม การใช้อวนลากกลับเป็นการทำลายระบบนิเวศที่อยู่ที่เกิดวงจรชีวิตของสัตว์น้ำขึ้นมาด้วย โดยการลากเอาทรัพยากรจากหน้าดินขึ้นมาทั้งหมด ไม่เฉพาะเพียงสัตว์น้ำอย่างเดียว (โขดหิน กัลปังหา ปะการัง ฟองน้ำทะเล)
ผลเหล่านั้น ทำให้ปัจจุบันพื้นที่หน้าดินในทะเลฝั่งอ่าวไทย จะพบเจอเพียงโคลน ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ขาดทั้งที่หลบภัย และทำลายแหล่งอาหารของสัตว์น้ำจนไม่เหลือหลอ
ผลอีกอย่างที่ประจักษ์ คือ การหายไปของปลาขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่นทรัพยากรหลักที่จับได้มากในอ่าวไทยในปัจจุบันจะพบปลาหมึกและปลากะตักเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องความผิดปกติของระบบนิเวศ ที่แสดงให้เห็นว่าปลาขนาดใหญ่ที่คอยกินปลากะตักลดน้อยลง ทั้งยังมีการใช้อวนที่ตาเล็กลงเรื่อยๆ เพื่อจับปลาที่เหลือเพียงขนาดเล็ก ก็ยิ่งช้ำเติมทำลายระบบนิเวศและตัดวงจรชีวิตไม่ให้สัตว์น้ำมีโอกาสเติบใหญ่ และมีแนวโน้มทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดปริมาณลงเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน พฤติกรรมการจับสัตว์น้ำที่อยู่ตามแนวปะการัง เช่น การจับปลากะตักใกล้ชายฝั่งหรือเกาะ ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการังที่เป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำวัยอ่อน ที่ส่งผลต่อจำนวนประชากรในอนาคต
พฤติกรรมอีกอย่างที่เปลี่ยนไป คือการจับปลาสวยงามไปขาย จากเดิมที่เมื่อจับปลาเหล่านี้ได้ ชาวประมงจะปล่อยให้เขากลับไปทำหน้าที่ทางระบบนิเวศ แต่ภายหลังเมื่อเกิดความนิยมปลาสวยงามมากขึ้น ปลาก็ถูกจับไปขายมากขึ้น จึงยิ่งเป็นการลดทอนความสมดุลของระบบนิเวศในท้องทะเลมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังสัตว์น้ำลดจำนวนลงและระบบนิเวศได้รับความเสียหาย มีการศึกษาพบว่าพื้นที่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นระบบนิเวศ 3 น้ำ (น้ำกร่อย น้ำจืด น้ำเค็ม) ต้องอาศัยการปล่อยสัตว์น้ำที่เกิดจากการเพาะเลี้ยง เพื่อให้มีทรัพยากรสำหรับใช้ประโยชน์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถทดแทนกับสิ่งที่เสียไป เพราะมนุษย์เราไม่สามารถเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ทุกชนิด จากข้อมูลระบุว่า ทะเลสาบสงขลาเคยสัตว์น้ำมากกว่า 450 ชนิด ปัจจุบันลดเหลือเพียง 200 ชนิด
ทะเลกลายเป็นถังขยะ
ทราบหรือไม่ อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศของทะเลและชายฝั่งอย่างรุนแรงมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง จากขยะจำนวนมหาศาลในแหล่งต่างๆ บนบก ถูกมวลน้ำพัดไหลลงสู่ทะเล และหลายปีต่อมาเรามักพบเห็นเหตุการณ์คลื่นได้พัดเอาขยะที่กองอยู่ใต้ทะเลย้อนคืนกลับมาบนชายหาดหลายแห่ง และเหตุการณ์เช่นนั้นยังปรากฏมาถึงปัจจุบัน
อีกด้านหนึ่งด้วยปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น อาทิ ขยะพลาสติก ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบถึงทะเลไทย โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งพบว่าขยะพลาสติกกลับมามีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง โดยขยะพลาสติกจากบนบกสามารถเดินทางสู่ทะเลได้ผ่านแม่น้ำลำคลองสายต่างๆ ที่มีปลายทางถึงทะเล ซึ่งมาตรการลดขยะพลาสติกที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนั้นยังไม่เพียงพอต่อการยับยั้งปัญหา
ยุคของกุ้งกุลาดำ และการฟื้นฟูแบบผิดฝาผิดฝั่ง
ในปี พ.ศ. 2530 เป็นยุคที่ป่าชายเลนถูกทำลายอย่างเร็วที่สุด จากการแย่งยึดพื้นที่ครอบครองป่าเพื่อใช้เป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ตามค่านิมที่เชื่อกันในสมัยนั้นว่า “ใครอยากรวยถ้าไม่ค้าเฮโรอีน ก็ต้องเลี้ยงกุ้งกุลาดำ” อย่างไรก็ดีถัดจากนั้นไม่นานการเลี้ยงกุ้งก็ต้องชงักลงเพราะประสบปัญหาส่งออกไม่ทัน กุ้งล้นตลาด ทำให้กุ้งราคาตก จนฟาร์มกุ้งประสบปัญหาขาดทุนและปิดตัวไปเป็นวงกว้าง
แม้ภายหลังจะมีกิจกรรมฟื้นฟูป่าชายเลนจากนากุ้งร้าง แต่กระบวนการฟื้นฟูป่าชายเลนกลับปลูกเพียงไม้โกงกางเพียงชนิดเดียว เพราะขาดความรู้ในการปลูกฟื้นฟู และมองเพียงผลตอบแทนที่ได้จากการจัดการทรัพยากรเชิงเศรษฐกิจ เพราะในอดีตประเทศไทยเคยมีการสัมปทานป่าชายเลนเพื่อใช้เป็นไม้ทำถ่าน ซึ่งเป็นชุดความรู้เก่า จึงไม่ตอบโจทย์การฟื้นฟูป่าอย่างที่ควรเป็น
ปัญหาการท่องเที่ยว
ในปี พ.ศ. 2532 เกิดกระแสการท่องเที่ยวทะเล นำมาซึ่งการพัฒนาบนพื้นที่เกาะต่างๆ เส้นทางคมนาคมบนบก มีการออกเอกสารสิทธิ์บนพื้นที่ลาดชันที่ไม่ปรากฏร่องรอยการใช้ประโยชน์พื้นที่มาก่อน ซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงพื้นทำให้เกิดตะกอนของดินไหลลงสู่ทะเลทำให้น้ำทะเลขุ่นข้น และตะกอนได้ไหลลงไปทับถมบนแนวปะการังทำให้ปะการังตาย แม้จะมีการกล่าวอ้างว่าได้ดำเนินการป้องกันตามแนวทางการแก้ไขผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่ก็ไม่สามารถหยุดการชะล้างของตะกอนจำนวนมหาศาลลงสู่ทะเลได้
รวมถึงยังมีปัญหาการขุดลอกล่องน้ำบริเวณชายฝั่งที่เป็นถิ่นอาศัยของปะการัง เพื่อให้เรือสามารถเข้าใกล้ฝั่งได้มากขึ้น และยังมีการทำลายปะการังของกลุ่มนักท่องเที่ยวและไกด์ เช่น การขีดเขียน การหัก การยืนเหยียบปะการัง หรือแม้กระทั่งการผูกเรือไว้กับก้อนปะการังขนาดใหญ่ โดยอ้างว่าเป็นการผูกกับหิน
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาสได้ส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงจนปะการังในหลายพื้นที่เกิดการฟอกขาว ซึ่งในปี พ.ศ. 2567 ถือเป็นอีกปีที่เกิดการฟอกขาวอย่างรุนแรง
โดยเมื่อเริ่มฟอกขาว ปะการังจะขับสาหร่ายขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อของพวกมันออกจากตัว จึงเป็นเป็นโครงร่างสีขาวของหินปูน ที่มีเนื้อปะการังสีใสเคลือบอยู่ โดยในข้อเท็จจริงช่วงการ ‘ฟอกขาว’ ปะการังจะยังไม่ตาย แต่อยู่ในสภาวะเครียด ซึ่งในบางกรณีปะการังที่มีอายุหลายร้อยปี เช่น กลุ่มปะการังโขด ซึ่งผ่านการฟอกขาวมาหลายครั้งจะยังสามารถฟื้นตัวได้เมื่ออุณหภูมิน้ำกลับมาเป็นปกติ
อย่างไรก็ตาม หากอุณหภูมิสูงต่อเนื่องยาวนาน ปะการังก็มีโอกาสตายได้ โดยเนื้อเยื่อของปะการังที่มีลักษณะเป็นวุ่นใสๆ จะตายและหลุดหายไป จากนั้นสาหร่ายที่เป็นเส้นใยจึงเข้ายึดเกาะโครงสร้างหินปูนจนเห็นปะการังเป็นสีเขียวเข้มอีกครั้ง แต่ก็ไม่ใช่สีเข้มของเนื้อปะการังแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลด้วยกลุ่มประชากรปะการังรุ่นใหม่ที่เกิดไล่เลี่ยกับช่วงการฟอกขาวครั้งใหญ่ เช่นในปี พ.ศ. 2540, 2553, 2559 เป็นรุ่นของปะการังที่มีความทนทานต่อการฟอกขาวสูง และมีศักยภาพในการฟื้นตัวสูง ถือเป็นการปรับตัวอย่างหนึ่งของธรรมชาติ อย่างไรก็ดี ยังขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการด้านงานอนุรักษ์ประกอบ เช่น การปิดสถานที่ท่องเที่ยวเมื่อเกิดการฟอกขาว
การกัดเซาะชายฝั่ง
หนึ่งในความเข้าใจผิดเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง มักอ้างว่าเป็นผลมาจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดคลื่นลมแรง และเป็นข้ออ้างการระเบิดภูเขามาถมทะเลในรูปแบบ ‘เขื่อนกั้นคลื่น’ เพื่อป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ ทว่าวิธีดังกล่าวกลับก่อให้เกิดการกัดเซาะที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น
โดยเขื่อนกั้นคลื่นได้ไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของคลื่น จนเกิดการสะท้อนกลับของคลื่นที่วิ่งเข้ามาปะทะหน้ากำแพงกันคลื่น ทำให้คลื่นที่สะท้อนกลับหอบนำทรายหน้าเขื่อนกั้นและพื้นที่ข้างเคียงออกไปในทะเล และเมื่อพื้นที่ด้านข้างได้รับความเสียหาย และเกิดการแก้ไขปัญหาด้วยการก่อปัญหาแบบเดิมซ้ำไปเรื่อยๆ ในพื้นใหม่
นอกจากคำกล่าวอ้างเรื่องโลกร้อนแล้ว อีกประเด็นอีกถูกนำมาใช้ คือการพัฒนาพื้นที่สาธารณประโยชน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เช่น การก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตบันไดเอียง เพื่อให้เดินลงสู่ชายหาดได้ง่าย แต่สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้กลับไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุลื่นล้ม ซ้ำยังไม่เหลือหาดทรายให้ลงไปย่ำได้อีกต่อไป
ถอดความและเรียบเรียงจาก ทะเลเดือด หญ้าทะเลตาย ระบบนิเวศพัง บรรยายโดย ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม