การพัฒนาที่(ไม่)ยั่งยืน เมื่อสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทยกำลังดิ่งลงเหว

การพัฒนาที่(ไม่)ยั่งยืน เมื่อสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทยกำลังดิ่งลงเหว

วันที่ 6 สิงหาคม 2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2566 จัดทำโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจโดยเฉพาะด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกแทนที่สัญลักษณ์ด้วยเครื่องหมายปากคว่ำ [สถานการณ์แย่ลง] เป็นส่วนใหญ่ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ชวนอ่านรายงานสรุปจากบทความนี้กันค่ะ

รายงานเสนอบทสรุปที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งผู้เขียนขอหยิบยกมาแค่เพียงบางประเด็น ดังนี้

1. การประเมินผลในภาพรวมทั้ง 6 มิติ โดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้น เช่น ความอยู่ดีมีสุขของคนไทยและสังคมไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เนื่องจากไทยสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ดีขึ้น และความเท่าเทียมและความเสมอภาคของสังคมในภาพรวมปรับตัวดีขึ้น โดยความก้าวหน้าทางสังคมในปี 2566 ไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 58 จาก 170 ประเทศ ดีขึ้นจากอันดับที่ 71 ของปีที่ผ่านมา

2. การประเมินผลรายยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน โดยส่วนใหญ่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น ขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ของไทยมีการพัฒนาที่ดีขึ้น โดยอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในอันดับที่ 30 ดีขึ้นจากอันดับที่ 33 จากปีที่ผ่านมา และการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม สถานการณ์ด้านความเหลื่อมล้ำของไทยดีขึ้นจากการพัฒนาในระยะที่ผ่านมามีความก้าวหน้าในการลดสัดส่วนความยากจน

ยังมีประเด็นความท้าทายที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของแต่ละหน่วยงานที่จะดำเนินการให้ได้ตามตัวชี้วัด อ่านภาพรวมแล้วดูไม่น่ากังวลสำหรับผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาตร์ชาติ แต่เดี๋ยวก่อนหากคุณได้อ่านมาถึงตรงนี้ เราขอชวนทุกท่านมาพบกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมประจำปี 2566 จากสรุปรายงานฉบับนี้กันค่ะ

การประเมินผลการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติในภาพรวม 6 มิติ พ.ศ. 2566 ใน 5 ด้าน ถูกแทนค่าด้วยรอยยิ้ม [สถานการณ์ดีขึ้น] แต่ในส่วนของมิติที่ 5 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ คุณภาพสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติในภาพรวมลดลง และถูกแทนค่าด้วยปากคว่ำ [สถานการณ์แย่ลง]

(1) ความหลากหลายทางชีวภาพ และคุณภาพสิ่งแวดล้อม สะท้อนจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติของประเทศไทย พ.ศ.2566  มิติที่ 15 ระบบนิเวศบก อยู่ในสถานะการบรรลุเป้าหมายระดับวิกฤติ และมีแนวโน้มลดลงจาก พ.ศ. 2565 และ มิติที่ 14 ระบบนิเวศทางทะเล อยู่ในสถานะการบรรลุเป้าหมายระดับวิกฤติ มีการพัฒนาคงที่จาก พ.ศ. 2565 และ

(2) ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ สะท้อนจากดัชนีชี้วัดสถานการณ์สีเขียวแห่งอนาคต พ.ศ. 2566 ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 55 จาก 76 ประเทศ ลดลงจากอันดับที่ 48

ในส่วนของการประเมินผลพัฒนารายยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน พ.ศ.2566 พบว่า ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีการดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลดลง

(1) การอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้อย่างยั่งยืน มีสมดุล สะท้อนจากพื้นที่ป่าธรรมชาติของประเทศไทย พ.ศ. 2565 มี 102.14 ล้านไร่ ลดลงจาก ที่ 102.21 ล้านไร่ คิดเป็นการลดลงร้อยละ 0.068 จาก พ.ศ. 2564

ซึ่งหากดูข้อมูลสถานการณ์พื้นที่ป่าไม้ไทย ปี 2566 เป็นปีที่พื้นที่ป่าไม้ลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

(2) การฟื้นฟูและสร้างใหม่ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สะท้อนจากคุณภาพของน้ำซึ่งแนวโน้มลดลง คุณภาพอากาศ โดยมีปริมาณฝุ่นละอองลดลงเล็กน้อย ขณะที่การจัดการขยะมูลฝอยของประเทศมีแนวโน้มลดลง โดยมีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชน 25.70 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 24.98 ล้านตัน หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.88 จาก พ.ศ. 2564

(3) ใช้ประโยชน์และสร้างการเติบโต บนฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่่งแวดล้อมให้สมดุลภายในขีดความสามารถของระบบนิเวศ โดยใช้ปริมาณการใช้พลังงานต่อประชากรที่มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน สะท้อนพัฒนาการของโครงสร้างการบริโภคพลังงานของประเทศและเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการในทิศทางทีดีขึ้น ประกอบกับดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อมปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ

(4) ยกระดับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม บนหลักของการมีส่วนร่วมและธรรมาภิบาล พิจารณาจากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเฉพาะสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (QS World University Ranking By Subject)โดยมหาวิทยาลัยของประเทศไทยถูกจัดอยู่กลุ่มอันดับคงที่และถดถอย ในขณะที่สมาชิกเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และจำนวนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมนอกภาครัฐ (NGO) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยใน พ.ศ. 2566 มีจำนวน 306 องค์กร เพิ่มขึ้นจาก 229 องค์กร จาก พ.ศ. 2565 ที่สะท้อนถึงความตระหนักต่อคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และความสามารถในการพัฒนาองค์ความรู้เชิงวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีระดับการพัฒนาดีขึ้น 

ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนกลับมองต่างไปจากที่รายงานสรุป โดยส่วนตัวมองว่าการที่มีองค์กรทางด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น แสดงว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้นจนองค์กรที่มีอยู่ไม่สามารถดำเนินการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ทันสถานการณ์ จึงทำให้เกิดองค์กรใหม่เพิ่มขึ้นถึง 70 กว่าองค์กร สอดคล้องกับบรรทัดสุดท้ายของย่อหน้านี้ในรายงานเขียนไว้ว่า “ซึ่งสวนทางกับปรากฏการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง อาทิพื้นที่ป่า การจัดการขยะในชุมชนที่แย่ลง”

แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น 18 การเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู คุ้มครอง อย่างมีส่วนร่วม เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพและการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งมีอยู่ 8 เป้าหมาย

สถานการณ์การบรรลุเป้าหมายเทียบกับค่าเป้าหมาย พ.ศ. 2570 พิจารณาจากอันดับด้านความยั่งยืนและคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับโลก โดยสถานการณ์ พ.ศ. 2566 (ข้อมูล พ.ศ. 2566) อยู่ในอันดับที่ 43 เมื่อเทียบกับค่าเป้าหมาย พ.ศ. 2570 ที่กำหนดไว้ที่อันดับน้อยกว่า 40 ภายในปี 2570  ส่งผลให้สถานะการบรรลุเป้าหมายอยู่ในระดับใกล้เคียงในการบรรลุเป้าหมาย (สีเหลือง)

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบสถานการณ์ของ พ.ศ. 2566 (ข้อมูล พ.ศ. 2566) กับสถานการณ์ของ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่มีการจัดเก็บข้อมูลล่าสุด ที่อันดับ 44 สะท้อนให้เห็นสถานการณ์การพัฒนาที่ดีขึ้น ร้อยละ 2.27 แต่หากมาดูรายละเอียดปลีกย่อยกลับพบว่า

1. การบริโภคและการผลิตของประเทศมีความยั่งยืนสูงขึ้น กำหนดค่าเป้าหมายที่ต้องบรรลุใน พ.ศ.2570 คือ ดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อม ไม่น้อยกว่า 55 คะแนน ภายในปี 2570 สถานะการบรรลุเป้าหมายอยู่ในระดับเสี่ยงในการบรรลุเป้าหมาย (สีส้ม) สะท้อนให้เห็นสถานการณ์การพัฒนาที่แย่ลง ร้อยละ 16.08

2. พื้นที่สีเขียวทุกประเภทเพิ่มขึ้น กำหนดค่าเป้าหมายที่ต้องบรรลุใน พ.ศ. 2570 คือ สัดส่วนพื้นที่สีเขียวทุกประเภทต่อพื้นที่ทั้งประเทศ ได้แก่ (1) พื้นที่สีเขียวพื้นที่เป็นป่าธรรมชาติ ร้อยละ 33 ภายในปี 2570 (2) พื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ ร้อยละ12 ภายในปี 2570 และ (3) พื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบทรวมทั้งป่าในเมืองและชุมชนเพื่อการเรียนรู้พักผ่อนหย่อนใจ ร้อยละ 3 ภายในปี 2570 สถานะการบรรลุเป้าหมายอยู่ในระดับใกล้เคียงในการบรรลุเป้าหมาย (สีเหลือง) ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบสถานการณ์ของ พ.ศ. 2566 (ข้อมูลพ.ศ. 2565) กับสถานการณ์ของ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่มีการจัดเก็บข้อมูลล่าสุด ที่ร้อยละ 31.59 สะท้อนให้เห็นสถานการณ์การพัฒนาที่แย่ลง ร้อยละ 0.06

3. ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลเพิ่มขึ้น กำหนดค่าเป้าหมายที่ต้องบรรลุใน พ.ศ. 2570 ได้แก่ (1) ดัชนีคุณภาพมหาสมุทร ไม่น้อยกว่า 75 คะแนน ภายในปี 2570 และ (2) ดัชนีระบบนิเวศทางทะเลไม่น้อยกว่า 64 คะแนน ภายในปี 2570 ให้สถานะการบรรลุเป้าหมายอยู่ในระดับใกล้เคียงในการบรรลุเป้าหมาย (สีเหลือง) ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบสถานการณ์ของ พ.ศ. 2566 (ข้อมูล พ.ศ. 2566) กับสถานการณ์ของ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่มีการจัดเก็บข้อมูลล่าสุด มีคะแนน 66 คะแนน สะท้อนให้เห็นสถานการณ์การพัฒนาที่คงเดิม

4. การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยลดลง กำหนดค่าเป้าหมายที่ต้องบรรลุใน พ.ศ. 2570 ได้แก่ (1) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมลดลงจากกรณีปกติไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ภายในปี 2570 และ (2) ดัชนีความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อันดับไม่น้อยกว่า 40 ภายในปี 2570 สถานะการบรรลุเป้าหมายอยู่ในระดับใกล้เคียงในการบรรลุเป้าหมาย (สีเหลือง) ทั้งนี้หากเปรียบเทียบสถานการณ์ของ พ.ศ. 2566 กับสถานการณ์ของปีก่อนหน้าที่มีการจัดเก็บข้อมูลล่าสุดพิจารณาได้ดังนี้

(1) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากเปรียบเทียบสถานการณ์ของ พ.ศ.2566(ข้อมูล พ .ศ. 2565)กับสถานการณ์ของ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่มีการจัดเก็บข้อมูลล่าสุด ที่ร้อยละ 17.49 สะท้อนให้เห็นสถานการณ์การพัฒนาที่แย่ลง ร้อยละ 14.24

(2) ดัชนีความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หากเปรียบเทียบสถานการณ์ของ พ.ศ. 2566 (ข้อมูล พ.ศ. 2564) กับสถานการณ์ของ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่มีการจัดเก็บข้อมูลล่าสุด ที่อันดับ 67สะท้อนให้เห็นสถานการณ์การพัฒนาที่แย่ลง ร้อยละ 49.25

5. คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน แหล่งน้ำใต้ดิน และแหล่งน้ำทะเลมีคุณภาพเหมาะสมกับประเภทการใช้ประโยชน์ กำหนดค่าเป้าหมายที่ต้องบรรลุใน พ.ศ. 2570 คือ สัดส่วนคุณภาพพื้นที่น้ำในแหล่งน้ำผิวดินแหล่งน้ำทะเล และแหล่งน้ำใต้ดิน ที่อยู่ในเกณฑ์เหมาะสมกับประเภทของการใช้ประโยชน์ต่อพื้นที่เป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ภายในปี 2570 ให้สถานะการบรรลุเป้าหมายอยู่ในระดับใกล้เคียงในการบรรลุเป้าหมาย(สีเหลือง) ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบสถานการณ์ของ พ.ศ. 2566 (ข้อมูล พ.ศ. 2566) กับสถานการณ์ของ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่มีการจัดเก็บข้อมูลล่าสุด ที่ร้อยละ 84.33 สะท้อนให้เห็นสถานการณ์การพัฒนาที่ดีขึ้น ร้อยละ 0.39

6. คุณภาพอากาศ และเสียง อยู่ในระดับมาตรฐานของประเทศไทย กำหนดค่าเป้าหมายที่ต้องบรรลุใน พ.ศ.2570 ได้แก่ (1) สัดส่วนคุณภาพอากาศในพื้นที่วิกฤตและพื้นที่ทั่ว ไปที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานประเทศไทยต่อพื้นที่เป้าหมาย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ภายในปี 2570 และ (2) สัดส่วนคุณภาพเสียงในพื้นที่ริมถนนที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานประเทศไทยต่อพื้นที่เป้าหมาย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ภายในปี 2570 ส่งผลให้สถานะการบรรลุเป้าหมายอยู่ในระดับใกล้เคียงในการบรรลุเป้าหมาย (สีเหลือง) ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบสถานการณ์ของ พ.ศ. 2566 กับสถานการณ์ของปีก่อนหน้าที่มีการจัดเก็บข้อมูลล่าสุด ได้ดังนี้

(1) สัดส่วนคุณภาพอากาศในพื้นที่วิกฤตและพื้นที่ทั่วไป ที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานประเทศไทยต่อพื้นที่เป้าหมาย หากเปรียบเทียบสถานการณ์ของ พ.ศ. 2566 (ข้อมูล พ.ศ. 2565) กับสถานการณ์ของ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่มีการจัดเก็บข้อมูลล่าสุด ที่ร้อยละ 70.58 สะท้อนให้เห็นสถานการณ์การพัฒนาที่ดีขึ้น ร้อยละ 8.12

 (2) สัดส่วนคุณภาพเสียงในพื้นที่ริมถนน ที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานประเทศไทยต่อพื้นที่เป้าหมาย หากเปรียบเทียบสถานการณ์ของ พ.ศ. 2566 (ข้อมูล พ.ศ. 2565) กับสถานการณ์ของ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่มีการจัดเก็บข้อมูลล่าสุด ที่ร้อยละ 73 สะท้อนให้เห็นสถานการณ์การพัฒนาที่แย่ลง ร้อยละ 2.33

7. การจัดการขยะมูลฝอย มูลฝอยติดเชื้อ ของเสียอันตราย สารเคมีในภาคการเกษตรและกากอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น กำหนดค่าเป้าหมายที่ต้องบรรลุใน พ.ศ. 2570 คือ ดัชนีประสิทธิภาพการจัดการขยะ ไม่น้อยกว่า 0.81 คะแนน ภายในปี 2570 สถานะการบรรลุเป้าหมายอยู่ในระดับเสี่ยงในการบรรลุเป้าหมาย (สีส้ม) ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบสถานการณ์ของ พ.ศ. 2566 (ข้อมูล พ.ศ. 2565) กับสถานการณ์ของ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่มีการจัดเก็บข้อมูลล่าสุด ที่ 0.68 คะแนน สะท้อนให้เห็นสถานการณ์การพัฒนาที่แย่ลง ร้อยละ 36.76

8. คนไทยมีคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี กำหนดค่าเป้าหมายที่ต้องบรรลุใน พ.ศ.2570 คือ ดัชนีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ส่งผลให้สถานะการบรรลุเป้าหมายอยู่ในระดับเสี่ยงในการบรรลุเป้าหมาย (สีส้ม)

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบสถานการณ์ของ พ.ศ. 2566 (ข้อมูล พ.ศ. 2566) กับสถานการณ์ของ พ.ศ. 2565ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่มีการจัดเก็บข้อมูลล่าสุด โดยมีการจัดเก็บข้อมูลเฉพาะจำนวนอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) และจำนวนองค์กรเอกชน (NGO) ด้านสิ่งแวดล้อม คิดอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยได้ร้อยละ 4.93 สะท้อนให้เห็นสถานการณ์การพัฒนาที่แย่ลง ร้อยละ 98.17

บทสรุปในภาพรวมของแผนแม่บท 18  การเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพและการเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นเช่นนี้ ผู้เขียนมีคำถามว่า ประเทศเรากำลังพัฒนาไปอย่างถูกทางแล้วหรือไม่? การพัฒนาบนความล่มสลายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเรียกว่าเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร?

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

ตำแหน่ง หมาเฝ้าป่า ผู้มีความหลงใหลในโลกใบจิ๋วของพืชและสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย มีความสุขกับการปั่นจักรยาน ทำขนมปัง และชอบใช้ของมือสอง