ในนามขององค์กรภาคีด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศที่ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และในฐานะพันธมิตร และองค์กรภาคีสนับสนุนการทำงานระยะยาวด้านการอนุรักษ์ผืนป่า และสัตว์ป่าในประเทศไทย ทางองค์กรภาคีร่วมมีความประสงค์ในการแสดงจุดยืนร่วมในประเด็นสำคัญซึ่งมีผลกระทบในวงกว้างสำหรับรัฐบาลไทย และประชาชนคนไทยในตอนนี้
ตามที่ได้เป็นข่าวปรากฏต่อสาธารณชนในกรณีข้อเสนอที่จะเพิกถอนพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวนกว่า 265,000 ไร่ ซึ่งได้สร้างความกังวลต่อประชาชนในวงกว้าง ทางองค์กรภาคีมีความประสงค์ที่ย้ำเน้นในหลักการด้านการกำหนดนโยบายการใช้ที่ดินของรัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่คุ้มครอง ด้วยเหตุผลที่ว่าอุทยานแห่งชาติทับลานเป็นศูนย์กลางมรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าที่มีขนาดใหญ่อันดับสองของประเทศไทย โดยเฉพาะจำนวนและความหนาแน่นของประชากรช้างป่าและเสือโคร่ง ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้อุทยานแห่งชาติทับลานยังเป็นจุดหมายปลายทางที่มีคุณค่าทางธรรมชาติอย่างใหญ่หลวงสำหรับผู้มาเยือนจำนวนมากจากทั่วประเทศ และทั่วโลก ด้วยเหตุนี้หลักการในการกำหนดนโยบายการใช้ที่ดินของรัฐบาลไทยที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่คุ้มครอง ทั้งในรูปแบบของการจัดการอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ “do no harm” หรือ หลักการ “ไม่สร้างความเสียหาย”
ทางองค์กรภาคีร่วมมีความตระหนักถึงความขัดแย้งระหว่างการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชุมชน และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และเจ้าหน้าที่รัฐ จำเป็นต้องมีบทบาทในความเป็นกลางในการจัดการความสมดุลระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม องค์กรภาคีร่วมมีความเห็นร่วมว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ ด้วยการเพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่มีจำนวนพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่กว่าอุทยานแห่งชาติอื่นๆ ในประเทศไทยถึง 82 แห่ง ไม่สามารถนับได้ว่าเป็นการจัดการความสมดุลอย่างเหมาะสม ด้วยเหตุผลสำคัญสามประการ ดังต่อไปนี้
ประการแรก ประเทศไทยได้ลงนามสัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นข้อผูกพันของประเทศไทยภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะข้อผูกพันจากการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 15 ในปี 2565 ณ นครมอนทรีออล ที่ว่าด้วยการคุ้มครองพื้นที่ทางบกและทางทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2573 ดังนั้น การเดินหน้าเพิกถอนพื้นที่ขนาดใหญ่ระดับนี้ ย่อมที่จะขัดกับข้อผูกพันที่ประเทศไทยได้ให้ไว้ในสัตยาบันระหว่างประเทศ การเพิกถอนดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อภาพพจน์ และสถานะการเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์ความหลากหลานทางชีวภาพของประเทศไทยอย่างไม่ต้องสงสัย
ประการที่สอง การเพิกถอนแนเขตพื้นที่คุ้มครองที่ดินเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดความกังวลอย่างมากต่อคณะกรรมการมรดกโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การพิจารณาเพิกถอนมรดกโลกทางธรรมชาติดลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จากการเป็นแหล่งมรดกโลกในที่สุด นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลต่อถึงการเปิดรับและพิจารณาของคณะกรรมการต่อการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย
ประการสุดท้าย การเพิกถอนพื้นที่ขนาดใหญ่ออกจากระบบพื้นที่คุ้มครองของประเทศไทย จะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของระบบนิเวศป่าไม้ และสัตว์ป่า และถือเป็นการสร้างแบบอย่างที่น่ากังวลต่อคนรุ่นต่อๆ ไป รวมไปถึงเป็นการส่งเสริมการเป็นกรณีตัวอย่างให้ฝ่ายตรงข้ามการดำเนินการที่คล้ายกันนี้ในพื้นที่คุ้มครองอื่นๆ การเดินหน้าเรื่องนี้โดยไม่เพิ่มการมีส่วนร่วมและการทบทวนด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันจากสาธารณชน ถือว่าไม่เป็นไปตามหลักการ do no harm หรือ “ไม่สร้างความเสียหาย” ดังนั้น ทางองค์กรภาคีร่วมใคร่ขอเรียกร้องให้ผู้นำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยุติการดำเนินการนี้ และพิจารณาทางเลือกอื่นที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของแหล่งมรดกโลก รักษาพันธสัญญาทางกฎหมายที่ประเทศได้ให้ไว้กับชุมชนท้องถิ่นและพลเมืองขอประเทศ และเพื่อไม่เป็นการยืนยันการดำเนินการใดๆ ในอดีตหรือปัจจุบันที่ขัดต่อกฎหมายของประเทศโดยไม่ได้เจตนา ในฐานะพันธมิตร องค์กรภาคีพร้อมที่จะสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะแก้ไขปัญหานี้ต่อไป
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย
สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย
องค์การแพนเทอรา (Panthera) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้
มูลนิธิฟรีแลนด์ (Freeland) ประเทศไทย