เครือข่ายชมรมอนุรักษ์ 9 มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ คัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์

เครือข่ายชมรมอนุรักษ์ 9 มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ คัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์

เนื่องจากในช่วงระยะเวลาที่ผ่าน พบว่าผืนป่าไม้ในประเทศไทยลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี มีการสูญเสีย พื้นที่ป่าไม้ถึง 317,819.20 ไร่ จากปี 2565 ที่มีพื้นที่ป่าไม้เหลือ 102,135,974.96 ไร่ หรือ 31.57% ของพื้นที่ประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ “101,818,155.76 ไร่ หรือคิดเป็น 31.47%” ของพื้นที่ประเทศ พื้นที่ป่าไม้ที่ลดลงสาเหตุหลักได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเกิดจากปัญหาไฟป่าที่มีความรุนแรงขึ้น

การประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ในระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเพื่อทราบ การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยที่ประชุมดังกล่าวได้มีการนำเสนอข้อมูล มติคณะรัฐมนตรีให้ใช้แนวเขตที่สำรวจว่ามีราษฎรรุกเขตป่าตามกฎหมายเข้าไปเท่าไหร่ให้เป็น แนวเขตที่จะใช้แก้ปัญหาโดยการยกพื้นที่หลังแนวเขตนั้นไปให้ ส.ป.ก. ดูแลแทนอุทยานแห่งชาติ โดยกำหนดบังคับให้ใช้เป็นแนว One Map ซึ่งก็หมายความว่าให้กรมอุทยานแห่งชาติ จัดการยกเลิกเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อให้ไปเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. โดยรีบเร่งเสนอมติให้ผ่านคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2566 แล้วรีบเร่งส่ง “ด่วนที่สุด” ต่อไปให้ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ซึ่งเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายของรัฐบาลที่แล้ว

กลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ทั้ง 9 มหาวิทยาลัย ขอคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อนุรักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ดังต่อไปนี้

1. จากการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีข้อเสนอแนะให้มีการใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาการ ถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ และประเด็นการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวได้มีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมาแล้ว 2 ครั้ง ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีหลักเกณฑ์แก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีพื้นที่ทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ การถือครองที่ดินของ ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่ง หน้าที่ของบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความ หลากหลายทางชีวภาพ และหากมีการกระทำการเพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ และได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาผืนป่า

2. การเพิกถอนอุทยานแห่งชาติทับลาน จะส่งผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบสิ่งปลูกสร้างและการเกษตร เกิดการขุด เคลื่อนย้าย ถม อัด และเกิดการกัดเซาะพังทลายของดินในพื้นที่ดังกล่าวมากยิ่งข้ึน เกิดการตัดไม้ทำลายสภาพพืชพรรณในบริเวณนั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิประเทศ ความหลากหลายทางชีวภาพเสื่อมโทรมลง ไม่มีป่าไม้ที่จะคอยเกื้อหนุนความหลากหลายทางชีวภาพ การทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ยังเป็นการรบกวนแหล่งที่อยู่อาศัย หากิน หรือเส้นทางอพยพของสัตว์ป่า เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นเนื่องจากสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่

3. มนุษย์ ผืนป่า และสัตว์ป่ากับการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ไม่ควร แก้ปัญหาแบบเหมารวมทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน โดยให้ส่งมอบพื้นที่ ส.ป.ก. ดำเนินการ ทำให้ไม่เป็นไปตามแผน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 และไม่เป็นไปตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่กำหนดให้ประเทศไทยมี พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องไม่กระทบกระเทือนต่อความเป็นธรรมในการแก้ปัญหาราษฎรในป่าอนุรักษ์ตามมาตรา 64 ด้วย ทั้งนี้จึงจำเป็นต้องแก้ไขพื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน พื้นที่จัดที่ดินทำกินตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ผู้ยากไร้ (คจก.) และพื้นที่กลุ่มทุนที่เข้ามาเพื่อสร้างผลประโยชน์ด้าน ธุรกิจ จึงต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ครอบครองกลุ่มนี้ก่อน

ดังนั้น เครือข่ายอนุรักษ์จาก 9 มหาวิทยาลัย จึงขอคัดค้านการดำเนินการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนหน้าที่ ภารกิจหลักของตนเอง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนได้มีส่วน ร่วมในการช่วยกันปกป้อง คุ้มครอง ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าให้คงอยู่คู่สังคมไทยต่อไป