องค์กรไวล์ดเอดเผยผลสำรวจพบ คนเมืองกินหูฉลามลดลงราว 34% 

องค์กรไวล์ดเอดเผยผลสำรวจพบ คนเมืองกินหูฉลามลดลงราว 34% 

เนื่องในวันรู้จักฉลาม ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคมของทุกปี องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) เปิดเผยรายงานผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามและเนื้อฉลามในประเทศไทย พ.ศ. 2566 จัดทำโดยบริษัทวิจัยแรพพิด เอเชีย (Rapid Asia) พบว่า คนไทยที่อาศัยในเขตเมืองทั่วประเทศกินหูฉลามลดลงร้อยละ 34 ในช่วง 6 ปีมานี้ หรือเทียบเท่า การเสิร์ฟหูฉลามที่ลดลงไป 8.1 ล้านครั้ง แต่ยังมีคนเมืองมากกว่าครึ่ง (56%) สนใจที่จะกินหูฉลามในอนาคต บ่งชี้ว่า ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดผู้บริโภคที่สำคัญ 

การสำรวจคนไทยที่อาศัยในเขตเมืองทั่วประเทศที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปจำนวน 1,007 คน ทางออนไลน์ในปี พ.ศ. 2566 โดยองค์กรไวล์ดเอด และบริษัทวิจัยแรพพิด เอเชีย (Rapid Asia) พบว่า มีคนเมืองร้อยละ 21 ที่บริโภคหูฉลามในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ลดลงจากร้อยละ 29 จากการสำรวจเมื่อพ.ศ. 2560 แม้ว่าประชากรคนเมืองทั่วประเทศในช่วงอายุเดียวกันมีจำนวนเพิ่มขึ้นราว 2.7 ล้านคน

การรวมกลุ่มทางสังคม หรืองานสังสรรค์ยังคงเป็นวาระโอกาสหลักที่คนเมืองบริโภคหูฉลามบ่อยที่สุด โดยพบการบริโภคกับครอบครัวที่ร้านอาหาร (60%) งานแต่งงาน (57%) และบริโภคกับเพื่อนที่ร้านอาหาร (46%)

หากอ้างอิงจำนวนครั้งที่คนเมืองบริโภคหูฉลามในรอบปี ประมาณการได้ว่า ผู้บริโภคกินหูฉลามมากกว่า 15.7 ล้านครั้งในปีที่แล้ว ลดลงจาก 23.9 ล้านครั้งเมื่อพ.ศ. 2560 หรือกล่าวได้ว่า ผู้บริโภคกินหูฉลามน้อยลงราว 34 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกันระหว่าง 2 ปีการสำรวจ

ผลสำรวจพบว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจมีส่วนทำให้การบริโภคหูฉลามโดยรวมมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวมีการจัดงานแต่งงาน และการรับประทานอาหารนอกบ้านลดน้อยลง ขณะที่การบริโภคหูฉลามที่บ้าน โดยการสั่งอาหารทางออนไลน์ และการซื้อจากร้านอาหารกลับไปกินที่บ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการสำรวจบ่งชี้ว่า โครงการรณรงค์เพื่อลดความต้องการบริโภค เช่น โครงการ #ฉลองไม่ฉลาม มีส่วนทำให้การบริโภคลดลง โดยผู้บริโภคหูฉลามมีความตระหนักเพิ่มขึ้นต่อผลกระทบด้านลบของการบริโภค และเริ่มตั้งคำถามถึงผลของการสูญเสียปลาฉลามหลายสิบล้านตัวต่อปีเพื่อนำครีบและชิ้นส่วนต่าง ๆ ไปบริโภค ผลการสำรวจยังพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (88%) ซึ่งรวมถึงผู้บริโภคหูฉลามทราบว่า ฉลามมีบทบาทสำคัญช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล โดยความตระหนักในข้อมูลที่สำคัญนี้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 68 ในการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2560 

แนวโน้มการบริโภคหูฉลามที่ลดลงนี้ยังสอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการร้านอาหารที่ขายเมนูซุปหูฉลาม ซึ่งจัดทำโดยบริษัทวิจัยพี.ไอ.วาย.เอ รีเสิร์ช จำกัด พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ระบุว่า การบริโภคหูฉลามมีแนวโน้มลดลง ปัจจัยหนึ่งอาจเกิดจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว คนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และโครงการรณรงค์เพื่อลดการกินหูฉลามมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนในวัยเจเนอเรชันวาย (Gen Y) และแซด (Gen Z) กินหูฉลามลดน้อยลง

การสำรวจผู้บริโภคครั้งล่าสุดยังสอบถามถึงพฤติกรรม แรงจูงใจ และทัศนคติต่อการบริโภคเนื้อฉลามอีกด้วย โดยพบว่า คนเมืองทุกๆ 1 ใน 3 คน สนใจที่จะกินเนื้อปลาฉลาม เพราะความอยากรู้อยากลอง ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการสื่อสารถึงผลกระทบจากการบริโภคอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกับผลการศึกษาเรื่อง Global shark fishing mortality still rising despite widespread regulatory change ที่เผยแพร่เมื่อต้นปีนี้พบว่า ระหว่างปีพ.ศ. 2560-2562 มีฉลามถูกฆ่าราว 79-80 ล้านตัวต่อปี เพราะความต้องการเนื้อและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ นอกเหนือจากหูฉลามเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก 

ในพ.ศ.2566 องค์กรไวล์ดเอดเผยผลวิจัยดีเอ็นเอพบ 62% ของหูฉลามที่ขายอยู่ในไทยมาจากฉลามที่มีสถานภาพถูกคุกคามจากการจัดสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตามบัญชีแดงของ IUCN Red List ซึ่งตอกย้ำว่า หูฉลามที่เรากำลังบริโภคอาจมาจากฉลามที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ และสะท้อนว่าตลาดค้าครีบฉลามในประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการนําเข้าผลิตภัณฑ์ครีบฉลามมาจากหลายแหล่ง 

“การบริโภคหูฉลามที่ลดลงสอดคล้องกับกระแสในสังคมช่วงหลายปีมานี้ สะท้อนว่าคนไทยมีความตระหนักถึงความสำคัญของฉลามที่มีต่อท้องทะเลมากขึ้น การรณรงค์เพื่อหยุดยั้งการบริโภค เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีคนเมืองมากกว่าครึ่งที่ต้องการบริโภคหูฉลามอยู่ ขณะเดียวกันทุกชิ้นส่วนของฉลามถูกนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น อาหารและขนมสำหรับสัตว์เลี้ยงด้วย นอกจากนี้ องค์กรไวล์ดเอดยังมีเป้าหมายทำงานอนุรักษ์เชิงพื้นที่เพื่อคุ้มครองแหล่งที่อยู่อาศัยของฉลาม ศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรฉลามรายชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์และมีความสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวและความสมดุลของมหาสมุทร รวมถึงการทำงานร่วมกับภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อกำหนดแนวทางอนุรักษ์สัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศร่วมกัน” ดร. เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ และที่ปรึกษาองค์กรไวล์ดเอด กล่าว

องค์กรไวล์ดเอด ขอเสนอแนะให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาคประมงเพื่อลดการจับฉลามเป็นสัตว์น้ำพลอยได้ ปรับปรุงระบบการติดตามตรวจสอบย้อนหลังการค้าฉลามและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากฉลาม การปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญ และเร่งสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนการอนุรักษ์ฉลามร่วมกัน ภายใต้แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และการบริหารจัดการฉลามของประเทศไทย