หมอกควันภาคเหนือ “สภาวะที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือกที่จะสูดดมอากาศบริสุทธิ์” แล้วใครต้องเป็นคนรับผิดชอบในสมการนี้?

หมอกควันภาคเหนือ “สภาวะที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือกที่จะสูดดมอากาศบริสุทธิ์” แล้วใครต้องเป็นคนรับผิดชอบในสมการนี้?

ภาคเหนือ ถือเป็นอีกภาคหนึ่งที่คนในเมืองต่างชอบพากันไปพักผ่อน เพื่อบำบัดความเครียดและสูดอากาศบริสุทธิ์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ถือเป็นช่วงไฮซีซั่น ที่คนส่วนใหญ่มักไปกัน เพราะเป็นช่วงที่อากาศหนาวและมีหมอกปกคลุมทั่วพื้นที่ดั่งลอยอยู่บนก้อนเมฆ แต่กลับกันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนของทุกปี จะเกิดปรากฏการณ์หนึ่งที่เรียกว่า “ฤดูฝุ่นควัน”

เชียงใหม่ จังหวัดที่มีอากาศย่ำแย่ที่สุดในโลก ถูกพูดถึงบ่อยขึ้นจนกลายเป็นอีกหนึ่งภาพจำที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ แม้หลายฝ่ายจะพยายามแก้ปัญหาฝุ่นควันมาหลายปี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน แต่ปัญหานี้ก็ยังซ้ำรอยขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มว่าจะหนักขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากองค์กรพิทักษ์สัตว์โลกระบุว่า คนไทย 10.5 ล้านคน เจ็บป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ หรือ PM2.5 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มีอัตราการป่วยเพิ่มขึ้นถึง 50% และคนภาคเหนือเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดถึง 1,800 คน/ปี ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีประวัติการสูบบุหรี่ 

“สรุปแล้ว อะไรคือต้นตอของปัญหานี้กันแน่? ทำไมคนภาคเหนือถึงต้องทนทรมานกับสภาพอากาศที่เป็นพิษ จนมีคนล้มตายเพราะโรคทางเดินหายใจและมะเร็งปอดมากขึ้นทุกปี”

ในงานเสวนา “ควันข้าวโพด โคตรยอดเยี่ยม?” โดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการพูดถึงต้นตอปัญหาของฝุ่นควันจากการทำไร่ข้าวโพด ซึ่งหลายคนมีการตั้งคำถามว่า รัฐบาลกับบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ฮั้วกันรึเปล่า? เพราะในสมการนี้ ผู้มีอำนาจต่างก็ได้รับผลประโยชน์ เว้นแต่ประชาชนเท่านั้น ที่ต้องทนแบกรับกับผลกระทบจากอุตสาหกรรมนี้

ประเทศไทยมีบริษัทอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังการผลิตอยู่ที่ 32-35 ล้านตันต่อปี ซึ่งต้องใช้พื้นที่ปลูกข้าวโพดประมาณ 23-25 ล้านไร่ ซึ่งอาจจจะต้องใช้ภาคเหนือเกือบๆ ทั้งภาค เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของไทย

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การส่งออกไก่ของไทยติดอันดับ 1-2 ของโลก ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมประเทศไทยต้องใช้พื้นที่ปลูกข้าวโพดมากถึง 23-25 ล้านไร่ ถ้าจะใช้วัตถุดิบขนาดนั้นได้จะต้องใช้ภาคเหนือเกือบๆ ทั้งภาคเพื่อจะป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าพื้นที่มันไม่พอ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่เราเห็นประมาณ 7 ล้านไร่ ซึ่งนั่นหมายความว่ามันจำเป็นที่จะต้องกระจายไปสู่ประเทศข้างเคียง เพื่อตอบสนองต่อการผลิตมากขนาดนั้นได้

ปัญหาฝุ่นพิษที่ถูกพูดถึงครั้งแรกในวงประชุมของคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ในปี 2550 เพราะช่วงปี 2547-2548 ประเทศไทยได้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เรียกว่าความร่วมมือสามแม่น้ำ หรือยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ซึ่งหัวใจหลักของยุทธศาสตร์นี้การเปิดโอกาสให้มีการนำเข้าข้าวโพดโดยไม่เสียภาษีและมาป้อนอุตสาหกรรมของอาหารในประเทศไทย นายวิฑูรย์ยังระบุอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2550 คือการเกิดพื้นที่ป่าใหม่และขยายจากภาคกลางไปสู่ภาคเหนือและเมื่อเกิดความความต้องการในตัวโปรตีนมากขึ้นในจีน เลยมีการขยายไปในประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยจะเจอปัญหานี้หนักไปอีกหลายปี เพราะเป็นช่วงของการเปิดป่าใหม่เพื่อเปลี่ยนเป็นข้าวโพด

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี

ใครมีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้ธุรกิจนี้เจริญรุ่งเรือง?

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้ให้คำตอบว่า มีสองส่วนด้วยกันที่เชื่อมโยงกัน อย่างแรกคือการเอื้ออำนวยในระดับพื้นที่ คือ กลไกของรัฐที่เราเรียกว่ากรมส่งเสริมการเกษตรที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้ สองคือสหกรณ์การเกษตร และสามคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธกส. รวมไปถึงการไล่ประกาศ พรบ.ป่าสงวนทับพื้นที่ชาวบ้าน สิ่งนี้จึงทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์จึงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

นายชัชวาลย์ ระบุว่า “ยกตัวอย่างข้าวโพดหรือเงินกู้ส่วนใหญ่ชาวบ้านกู้มาจากสหกรณ์ฯ หรือ ธกส. เพื่อมาปลูกข้าวโพด โดยมีเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยจากบริษัทให้เรียบร้อย พื้นที่ภาคเหนือที่มีการปลูกข้าวโพดเป็นพื้นที่ที่ผิดกฎหมาย คือปลูกในป่าหมดเลย ยกตัวอย่างของอำเภอแม่แจ่ม ประมาณ 1.2 ล้านไร่ หรือคิดเป็น  98% เป็นป่าทั้งหมด มีที่ที่มีโฉนดเพียง 1.4% เท่านั้น แล้วชาวบ้านจะกู้ได้อย่างไรเพราะพื้นที่ตรงนั้นมันเป็นป่า ฉะนั้นทาง ธกส.จึงมีการปรับระเบียบ แทนที่จะเอาที่ดินไปประกันก็ไม่ต้องใช้ แต่จะเป็นการกู้ด้วยกัน กู้เป็นกลุ่มและเอาเงินนั้นไปใช้ทางการเกษตร เพราะฉะนั้นมันถึงขยายตัวไปในทุกพื้นที่ที่มันไปได้ 

นอกจากมียังมีปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ป่าที่ผิดกฎหมาย หรือที่เรียกว่าป่าสงวน พรบ.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ปี 2503 พรบ.อุทยานแห่งชาติ 2504 พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติปี 2507 ที่เราประกาศในยุคนั้น มีการไล่ประกาศทับพื้นที่ชาวบ้าน ส่วนใหญ่ก็จะมีชาวบ้านอยู่ก่อนในป่า กระบวนการก็คือ ถ้าหากคุณปลูกต้นไม้ เจ้าหน้าที่จะไปตัดทิ้ง ไปทวงคืนผืนป่า เพราะกลัวชาวบ้านจะยึดพื้นที่ ปลูกยางก็ไม่ได้ ปลูกไม้ยืนต้นก็ไม่ได้ แต่ถ้าปลูกข้าวโพดปลูกได้” 

“ข้อสรุปของผมก็คือว่ากระบวนการในพื้นที่ที่ผิดกฎหมายหรือที่ดินที่ผิดกฎหมายผมเรียกว่าที่ดินที่ไม่มั่นคง ก็จะนำไปสู่ผลผลิตที่ไม่มั่นคง คือผสมกันทั้งบริษัททั้งรัฐและทั้งชาวบ้าน”

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่

ทำไมปัญหาฝุ่นควันกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่แก้เท่าไหร่ก็แก้ไม่ได้สักที?

1.รัฐบาลแก้ปัญหาแบบ Event คือตั้งกรรมการเดือนตุลาคมและไล่ดับไฟหรือเริ่มทำงานตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน เมื่อเสร็จภารกิจของปีงบประมาณนั้นๆ ก็เริ่มตั้งคณะกรรมการใหม่ ในความเป็นจริงมันควรต้องวางแผนตลอดทั้งปี

2.การแก้ปัญหาแบบ Top down คือมีคำสั่งจากส่วนกลางในจากกรุงเทพฯ ส่งเรื่องต่อไปที่ผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯ สั่งไปยังนายอำเภอ นายอำเภอสั่งไปยังกำนันผู้ใหญ่บ้าน และนายก ทำให้ชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วม ซึ่งมันไม่สามารถแก้ปัญหาได้

3.ห้ามให้มีการเผาเด็ดขาด ถ้าใครเผาจะถูกจับกุม แต่ปรากฏว่าปัญหายิ่งหนักขึ้นไปเรื่อยๆ 

“ฉะนั้นการที่จะตำหนิชาวบ้าน ชาวเขา อย่างเดียวคงไม่ได้ เราต้องดูบริบทรวม ตั้งแต่เรื่องของการเกษตร การปลูกข้าวโพด โรงงานอุตสาหกรรม รวมไปถึงปัญหาจากประเทศเพื่อนบ้าน” นายชัชวาลย์ กล่าวเสริม

อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และการปลูกข้าวโพด ไม่เพียงก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ แต่ยังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ อีกด้วย

นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้ให้ข้อสรุปเรื่องนี้ว่า นอกเหนือจากปัญหาด้าน PM 2.5 แล้ว อุตสาหกรรมดังกล่าวยังสร้างความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ ด้วยพื้นที่บางส่วนที่เป็นพื้นที่ป่า ส่งผลกระทบในเรื่องของก๊าซเรือนกระจก การบุกรุกถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมไปถึงเป็นการใช้พื้นที่ที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนชายขอบ หรือชนกลุ่มน้อยด้วย เราจึงเกิดการตั้งคำถามว่า การที่ธุรกิจบอกว่า สิ่งนี้คือการสร้างความมั่นคงทางอาหาร มันอาจจะไม่ใช่คำกล่าวที่เป็นจริงเสมอไป ตัวอย่างมีให้เราได้เห็นมากมาย จากที่เราเคยเห็นคนที่เคยอยู่ในพื้นที่ที่สามารถเข้าไปหาประโยชน์จากพื้นที่ป่าส่วนรวมได้ หาของกินได้ แต่พอมันถูกทำเป็นพื้นที่การปลูกข้าวโพด ความหลากหลายทางทางชีวภาพและอาหารมันหายไป จึงทำให้มีปัญหาเรื่องอื่นๆ ตามมาค่อนข้างเยอะ

“ทางเลือกของผู้คนถูกทำลายด้วยอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ก่อนหน้าที่จะมาเป็นไร่ข้าวโพด เราเคยทำเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียน ในทางนิเวศวิทยามันดีกว่าไร่ข้าวโพดเยอะ บริษัทเหล่านี้มักจะบอกว่าการผลิตแบบนี้ทำให้เราได้เนื้อไก่ เนื้อหมูในราคาที่ถูก แต่มันอาจไม่จริงทั้งหมด เพราะมันทิ้งฝุ่นพิษให้ประชาชนเดือดร้อนเป็นล้านๆ คน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการใช้สารเคมีในพื้นที่ต้นน้ำ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ต่ออาหาร ต่อดินมากมาย” วิฑูลย์กล่าวเสริม

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก

ในวันนี้ปัญหาเรื่องฝุ่นควัน คงไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน ภาคเอกชนอย่างบริษัทที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร คงต้องกลับมาทบทวนแนวทางการพัฒนาแบบเชิงเดี่ยวสู่การเกษตรที่ยั่งยืนแทน ส่วนภาครัฐคงต้องมองภาพในวงกว้างกว่านี้ก่อนจะออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อลดช่องว่างในการทำเรื่องผิดกฎหมาย พร้อมหาวิธีการแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างจริงใจ ก่อนที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบไปมากกว่านี้ 

ส่วนเราในฐานะประชาชนควรต้องช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ และบอกต่อวิธีการแก้ปัญหาที่เราสามารถพอจะทำได้ ดังตัวอย่าง พรบ.อากาศสะอาด ที่เกิดจากความร่วมมือของประชาชนในการลงชื่อทวงคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับตัวเอง ซึ่งต้องมารอลุ้นกันอีกทีว่า พรบ.จะผ่านมติในที่ประชุมต่อไปหรือไม่

ภาพเปิดเรื่อง : องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
ภาพประกอบ : องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก

ผู้เขียน

+ posts

นัก (อยาก) เขียน ผู้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านภาษาและเหตุการณ์ทางเมือง