บทเรียนราคาแพงของ ‘ปลาหมอคางดำ’

บทเรียนราคาแพงของ ‘ปลาหมอคางดำ’

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราอาจเห็นข่าวประกาศจับ ‘ปลาหมอคางดำ’ ปรากฏในหลายพื้นที่ เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นที่คุกคามระบบนิเวศและสัตว์น้ำดั้งเดิม

ซึ่งหากไล่เรียงกิจกรรมแล้วจะพบว่า มีรูปแบบการดำเนินการที่หลากหลาย เช่น จัดแข่งขันจับปลาหมอคางดำด้วยการลากแหและอวน ระดมพลลงแขก ไปจนถึงการปล่อยปลาผู้ล่าสู่แหล่งน้ำ 

แต่การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ก็ไม่ง่าย เพราะทั้งความคาราคาซังที่ปล่อยไว้นาน การระบาดที่รุนแรงจากการแพร่กระจายได้ง่าย ทั้งต้องทำงานแข่งกับเวลา รวมถึงยังมีอุปสรรคหน้างานเป็นข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน

จากสถานการณ์ที่ระบบนิเวศกำลังเผชิญ เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง 

ในความเห็นของ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายของสัตว์น้ำ ได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาว่า ตามแนวทางสากลทั่วโลก ผู้ก่อปัญหาต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบ ซึ่งทางกรมประมงมีงบประมาณไม่มาก เมื่อเทียบกับภารกิจที่ต้องบริหาร งบจึงไม่เพียงพอสำหรับจัดการปัญหาปลาหมอคางดำระบาด 

“กรมประมงได้ให้วิธีการแก้ไขกับปัญหาไปในทุกขั้นตอน ถ้าหากว่าเลี้ยงแล้วไม่ประสบผลสำเร็จควรจัดการอย่างไร แต่อาจเกิดการละเลยของผู้ที่นำเข้า หรือว่าเกิดความผิดพลาดของผู้ทดลองเลี้ยง ปัญหาเลยเกิดขึ้น”

สำหรับวิธีจัดการ ดร.ชวลิต เสนอว่า ถ้าจะกำจัดให้เหลือศูนย์ตัวต้องเริ่มจากจุดที่อยู่ไกลสุดก่อน เนื่องจากจะเป็นจุดที่มีการกระจายพันธุ์น้อยที่สุด ถ้าไม่ทำเช่นนั้นไม่เกิน 10 ปี ปลาหมอคางดำอาจกระจายถึงภูเก็ต และยาวไปจนถึงประเทศเพื่อนบ้านได้ อย่างไรก็ดี ในส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็ยังต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมๆ กัน

โดยย้ำด้วยว่า ผู้ที่นำเข้าควรเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายในการกำจัดปลาหมอคางดำ เป็นเจ้าภาพในการกำจัดจนกระทั่งเหลือปลาตัวสุดท้าย ต้องมีแผนจัดการในพื้นที่ระบาดหนักและหาทางควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดในอนาคตอีก และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย

“ปลาชนิดนี้ขยายพันธุ์ได้ง่าย เรียกว่าต้องกำจัดอย่างบ้าคลั่งทำทุกวิถีทางให้ปลาหมอคางดำหมดไป”

ในปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เป็นหนึ่งสาเหตุหลักๆ ที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพอย่างใหญ่หลวง แต่ปัญหาคือยังขาดวิธีป้องกัน และส่วนใหญ่จะตระหนักถึงปัญหาก็ต่อเมื่อเรื่องได้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงไปแล้ว 

ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และผู้ร่วมก่อตั้ง ReReef อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามา เราจะไม่ค่อยเห็นผลกระทบเท่าไหร่นัก  หรือถ้าไม่ใช่คนที่ประสบปัญหาโดยตรงจะไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่มีกฎหมายหรือนโยบายที่ชัดเจนในการควบคุมชนิดพันธุ์ต่างถิ่น 

“หมายความว่าเราจะแก้ปัญหาเมื่อตอนที่มันเกิดปัญหาไปแล้ว และเกือบครึ่งหนึ่งก็ไม่ได้งบประมาณในการบริหารจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานเป็นการเฉพาะ ถึงแม้ว่าแต่ละประเทศจะมีนโยบายอยู่บ้างในเรื่องนี้ แต่มองในรายละเอียดเรายังขาดนโยบายและเครื่องมือที่ชัดเจน” 

ดร.เพชร คาดการณ์ว่าในอนาคต มีแนวโน้มที่ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจะขยายตัวมากขึ้นในทุกภูมิภาค และจะมีปัญหาที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่นำเข้ามาเพาะพันธุ์ หรือเข้ามาผ่านการติดตามท้องเรือขนส่ง นอกจากนี้ ยังมีปฏิสัมพันธ์อีกหลายอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะยิ่งส่งเสริมประสิทธิภาพการรุกรานให้เกิดมากขึ้น

“เราควรใช้โอกาสนี้สื่อไปยังคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมให้มีความตระหนักมากขึ้น และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงควรมีการจับตาดู ภาครัฐเองก็ควรมีนโยบายที่ทันท่วงทีมากขึ้น ในโอกาสนี้ เราสามารถใช้ปลาหมอคางดำเป็นตัวอย่างที่ดี เนื่องจากเรามองเห็นผลกระทบได้อย่างชัดเจน และการมีส่วนร่วมรับผิดชอบของภาคเอกชนจะทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น” ดร.เพชร กล่าวทิ้งท้าย 

นอกจากด้านระบบนิเวศที่ผ่านมาการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยไม่ได้รับการแก้ไขปัญหามาเป็นเวลานาน ยังผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน 

ต่อเรื่องนี้ คุณปัญญา โตกทอง คณะกรรมการลุ่มน้ำเพชรบุรี ได้สะท้อนปัญหาว่า การระบาดของปลาหมอคางดำได้ส่งผลกระทบในทุกพื้นที่ อาทิ ทะเลบางขุนเทียนมีปลาหมอคางดำเข้ามากินลูกหอยแครง ที่เพชรบุรีมีปลาหมอคางดำเข้ามากินลูกปูม้า ลูกปูแสม รวมถึงสัตว์น้ำขนาดเล็กอีกมากมาย ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลให้ในอนาคตมีแต่การกระจายพันธุ์ของปลาหมอคางดำอย่างเดียว และไม่เหลือทรัพยากรท้องถิ่นอีกเลย

“การแพร่กระจายพันธุ์ของปลาหมอคางดำมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และในปัจจุบันการจัดการปลาหมอคางดำในพื้นที่เป็นไปได้ยากเพราะมีจำนวนมหาศาล และในด้านของเศรษฐกิจไม่มีราคาจูงใจให้คนจับมาทำการค้า” 

คณะกรรมการลุ่มน้ำเพรชบุรี มองว่าการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความล่าช้า และไม่ตรงประเด็นจึงเกิดวิกฤต และเห็นด้วยว่าในแนวทางจัดการจำเป็นต้องมีผู้รับผิดชอบ หรือก็คือผู้ที่นำเข้า และนำผู้ที่อนุญาตให้มีการนำเข้าปลาหมอคางดำ เข้ามาอยู่ในกระบวนการกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนออื่นๆ ในการจัดการอีกหลายด้าน เช่นทางด้านเศรษฐกิจ สร้างแรงจูงใจด้วยราคาเมื่อให้เกิดการจับ และรัฐต้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอาหารแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มจากปลาหมอคางดำ จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร

ในส่วนแนวทางเชิงวิชาการ ควรหาแนวทางในการทำหมันด้วยหลักวิชาการ ให้ศึกษาวิจัย และค้นหาแนวทางมาตรการควบคุมอย่างชัดเจน 

รวมถึงยังมีเรื่องการกำหนดให้ปลาหมอคางดำเป็นภัยพิบัติ หาทางเยียวยาให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน และต้องหามาตรการกำจัดในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ 

คุณปัญญา กล่าวถึงเจตนารมณ์ในส่วนของชาวบ้านในตอนสุดท้ายว่า มีเสนอให้รวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการไปยังสภาทนายความ โดยมองมองว่าเป็นคดีปกครองเกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อมประมงท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทางภาคเอกชนต้นเรื่องไปสู่การเยียวยาและแก้ไขปัญหา 

“สัตว์ต่างถิ่นที่เข้ามา มาจากนายทุนและหน่วยงานที่กำกับดูแล พวกเขาต้องมีสามัญสำนึกที่สูงกว่านี้ ผมมีความหวังว่า เมื่อสังคมโลกเปลี่ยนแปลง ธุรกิจจะต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เช่นกัน สิ่งนี้ควรเป็นบทเรียนใหญ่หลวงที่มีราคาแพง”

เรียบเรียงจาก วงเสวนาสาธารณะ Next Step ไปต่อหรือพอแค่นี้กับปลาหมอคางดำ

บทความโดย อารียา เลยไธสง นักศึกษาฝึกงาน