ช่วงต้นเดือนมิถุนายนยาวไปถึงช่วงตุลาคมเรามักจะเห็นสัตว์ป่าได้ง่ายตามโป่งหรือทุ่งหญ้าในพื้นที่อนุรักษ์ ฝนที่ตกทำให้หญ้าและพืชแทงยอดอ่อน เป็นแหล่งอาหารอันโอชะของเหล่าสัตว์ป่ากลุ่มกินพืช
ช่วงนี้บริเวณโป่งชมรมเพื่อน อช.เขาใหญ่ หรือหอดูสัตว์หนองผักชี มีดอกหญ้าขึ้นขาวโพนหลังจากได้รับน้ำจากฝนที่ตกลงมาก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้เป็นที่ดึงดูดสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสธรรมชาติหรือเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ สำหรับพื้นที่อุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือวนอุทยานฯ ได้จัดพื้นที่บริการอย่างเส้นทางศึกษาธรรมชาติ (Nature Trail) เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาศึกษา เรียนรู้ และรับประสบการณ์แปลกใหม่จากการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ธรรมชาติ
จากสถิติข้อมูลนักท่องเที่ยว ปัจจุบันมีแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าพื้นที่อุทยานเพิ่มมากขึ้นหลังจากการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา สถิติดังกล่าวคาดว่าปี 2567 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพื้นที่อุทยานเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ประมาณ 27 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 20 ล้านคน เทียบเท่ากับนักท่องเที่ยวในปี 2562 เมื่อนักท่องเที่ยวเติบโตมากขึ้น พื้นที่อนุรักษ์ต้องต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากเช่นกัน แน่นอนว่าส่งผลให้เกิดสภาพปัญหาและผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่
จากภาพเป็นจุดท่องเที่ยวบริเวณหอดูสัตว์หนองผักชีหรือโป่งชมรมเพื่อนในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เป็นที่นิยมของคนทั่วไป ปัจจุบันเกิดปัญหานักท่องเที่ยวหนาแน่นเกินขีดจำกัดของพื้นที่ ปัญหาเรื่องจราจรติดขัด พื้นที่ในการรองรับกิจกรรมต่างๆ ไม่เพียงพอและแออัด ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสภาพแวดล้อม เกิดมลภาวะทางเสียงและอากาศ (ฝุ่น/ควัน) ขยะ น้ำเสีย ขับรถเกินความเร็วที่กำหนดในพื้นที่เขตอุทยานฯ ทำให้ทัศนียภาพเสื่อมโทรมและเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสัตว์ป่า จากกรณีการศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นที่พบทั่วไปที่เกิดจากการกระทำของนักท่องเที่ยว เช่น การฝ่าฝืนการกระทำที่เป็นข้อห้าม (ซึ่งก็มีป้ายประกาศเตือนอยู่แล้ว) การทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ให้อาหารสัตว์ ดึงหญ้า เด็ดดอกไม้ เก็บเศษเหลือจากธรรมชาติไปเป็นของที่ระลึก หรือการเดินออกนอกเส้นทางที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมไว้ ฯลฯ
จากสภาพปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น แน่นอนว่าย่อมทำให้เกิดสภาพปัญหาและผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่ อันเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวที่กระทบต่อพฤติกรรมของสัตว์ป่า เช่น สัตว์ป่าตกใจ ตื่นกลัว (วิ่งหนีแบบไร้ทิศทาง) ป้องกันตัว (จู่โจม) หรือบางพฤติกรรมที่ได้เรียนรู้จนคุ้นเคยหลังจากได้เรียนรู้พฤติกรรมนั้นบ่อยๆ เช่น การเข้ามาแย่งอาหารหรือกินบริเวณนั้น ซึ่งเรามักจะเห็นเม่นหรือหมีหมาเข้ามาคุ้ยกินเศษอาหาร
มีหลายงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องกิจกรรมของมนุษย์ที่มีผลต่อสัตว์ป่าและแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างสัตว์และระยะห่างที่ปลอดภัยสำหรับสัตว์ป่า (Green and Higginbottom 2001, Ikuta and Blunstein 2003)
ตัวอย่างการศึกษาระยะห่างที่เหมาะสมในการศึกษาสัตว์ป่า
งานวิจัยนี้ศึกษาผลกระทบของการเข้าใกล้เพนกวินอาเดลีในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ศึกษาระยะห่างที่ปลอดภัยและความสำเร็จในการผสมพันธุ์ โดยกำหนดระยะ 5 เมตร (เป็นระยะห่างที่แนะนำโดยบริษัททัวร์และคณะสำรวจของรัฐบาล Naveen et al.1989) 15 เมตร และ 30 เมตร บันทึกพฤติกรรมและอัตราการเต้นของหัวใจ ผลการศึกษาที่ออกมาพบว่า
- ระยะห่าง 5 เมตร มีผลต่อฟักเป็นตัวของเพนกวินอาเดลี และยังส่งผลให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น และสูงเป็น 2 เท่าเมื่อมนุษย์เข้าใกล้
- ระยะห่าง 15 เมตร ไม่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมแต่อัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่าปกติ
- ระยะห่าง 30 เมตร พฤติกรรมและอัตราการเต้นของหัวใจไม่เปลี่ยนแปลง
จากการศึกษานี้ทำให้เห็นชัดว่าระยะห่างในการเข้าใกล้สัตว์ป่ามีผลต่อพฤตกรรม และการเข้าใกล้สัตว์ป่าในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เลี้ยงลูก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างมีนัยยะสำคัญ
นอกจากระยะปลอดภัยในการเข้าใกล้สัตว์ป่ายังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อการตอบสนองของสัตว์ป่าได้อีก เช่น สีเสื้อผ้า เสียงรถยนต์ เสียงจากการพูดคุย ถึงแม้ว่าการเข้าใกล้สัตว์ป่าของกลุ่มนักท่องเที่ยวบางครั้งไม่ได้ทำให้สัตว์มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อาจส่งผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ หรืออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ซึ่งหากอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นถือว่าเป็นตัวบ่งชี้ว่าสัตว์ป่ารับรู้ถึงภัยคุกคาม (Ball and Amlaner 1980) และสัตว์ป่าบางชนิดที่อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นส่งผลต่อความเครียดได้ (Culik et al. 1990, Kosiorek and van den Hoff 1994)
การเข้าใกล้แหล่งอาหารของสัตว์ป่าอย่างโป่งหรือทุ่งหญ้าพฤติกรรมที่เราทำร้ายสัตว์ป่าโดยไม่รู้ตัว อาจทำให้คุณภาพของอาหารและสัตว์ป่าเข้ามาบริโภคลดลง เมื่อพฤติกรรมการหาอาหารหยุดชะงักส่งผลให้เกิดการขาดแคลนอาหารหรือพลังงานที่ควรจะได้รับในแต่ละวัน และยิ่งช่วงฤดูผสมพันธุ์หรือเลี้ยงลูกน้อยยิ่งส่งผลกระทบเชิงลบมากขึ้น บางครั้งอาจทำให้สัตว์ป่าหลีกเลี่ยงเส้นทางของแหล่งอาหารนั้นไปเลย หรือเราอาจได้รับอันตรายจากสัตว์ป่าได้ อย่างในพื้นที่ อช.เขาใหญ่ เรามักจะเห็นช้างป่าได้อย่างใกล้ชิดบริเวณถนนหมายเลข 3077 สายเขาใหญ่-ปราจีนบุรี ที่ตัดผ่านกลาง อช.เขาใหญ่ ถนนเส้นนี้สร้างทับเส้นทางเดินหากินของช้างป่า หรือเราเรียกว่า “ด่านช้าง” และเรามักเห็นข่าวในสื่อโซเชียลหลายครั้งจากกรณีนักท่องเที่ยวแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทำให้ช้างป่าเครียดและมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้นจนทำอันตรายต่อนักท่องเที่ยวจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
นอกจากนี้การกระทำของนักท่องเที่ยวที่ทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การฝ่าฝืนการกระทำที่เป็นข้อห้าม หรือละเลยกฎระเบียบของกรมอุทยานฯ นั้น มีความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (2) ประกอบมาตรา 42 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ว่า การเก็บหา นำออกไป กระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ ดิน หิน กรวดทราย แร่ปิโตรเลียม หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น หรือกระทำการอื่นใด อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความผิด หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นการกระทำแก่ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาล และมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 2,000 บาท ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบจากการรบกวนสัตว์ป่าหรือทำร้ายสัตว์ป่าและธรรมชาติได้ โดยการปฎิบัติตามมาตรการ 4 ม. คือ 1. ไม่ให้อาหารสัตว์ป่า 2. ไม่ขับรถเร็ว 3. ไม่ทิ้งขยะ และ 4. ไม่ส่งเสียงดัง และปฏิบัติตามกฏระเบียบในพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อให้ระบบนิเวศของผืนป่าและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในอุทยานได้มีชีวิตดำรงต่อไป
อ้างอิง
- ชลธร ชำนาญคิด. 2559. การศึกษาปรับปรุงและบังคับใช้กฎระเบียบและมาตรการพิเศษเพื่อสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
- เทรนด์ท่องเที่ยวธรรมชาติบูม กรมอุทยานงัดกฎหมายคุมเข้มทัวริสต์
- กฎหมายน่ารู้ ตอนที่ 397 : ห้ามเก็บต้นไม้ พันธุ์พืช ดอกไม้ และสิ่งต่าง ๆ ออกจากอุทยานแห่งชาติ
- Ball, N.J. and Amlaner, C. J. Jnr. 1980, ‘Changing heart rates of Herring Gulls when approached by humans’, in A handbook on biotelemetry and radio tracking, C. J. Amlaner Jnr and D. W. McDonald (eds), Pergamon Press, Oxford.
- Culik, B., Adelung, D. and Woakes, A.J. 1990, ‘The effect of disturbance on the heart rate and behaviour of Adélie Penguins (Pygoscelis adeliae) during the breeding season’, in Antarctic ecosystems: ecological change and conservation, K. R. Kerry and G. Hempel (eds), Springer-Verlag, Berlin.
- Green, R. and Higginbottom, K. 2001 Wildlife Tourism Research Report No. 5, Status Assessment of Wildlife Tourism in Australia Series, The Negative Effects of Wildlife Tourism on Wildlife. CRC for Sustainable Tourism, Gold Coast, Queensland.
- Ikuta, L. A. and Blunstein, D.T. 2003. Do fences protect birds from human disturbance? Biological Conservation, 112: 447-452.
- Naveen, R., deRoy, T., Jones, M and Monteath, C. 1989. Antarctic travellers code. Antarctic Century, 4 (July-October).