โลกในอนาคต ค.ศ. 2050 จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร หากเราไม่ลงมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเสียแต่ตอนนี้ 

โลกในอนาคต ค.ศ. 2050 จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร หากเราไม่ลงมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเสียแต่ตอนนี้ 

โลกมีอุณภูมิเพิ่มมากขึ้น 1 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกเริ่มมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรก  

ในขณะที่เรากำลังประสบกับผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลยังคงจำเป็นต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและป้องกันไม่ให้โลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (UN Climate Change Conference of the Parties) ที่รัฐบาลต่างๆ ได้กำหนดเส้นตายที่เข้มงวดยิ่งขึ้นสำหรับการปรับปรุงแผนการลดการปล่อยมลพิษ  

ผลการประชุมคือ การเกิดข้อตกลงกลาสโกว์ Glasgow Climate Pact ที่กำหนดให้ 197 ประเทศรายงานความคืบหน้าสู่ความมุ่งมั่นด้านสภาพอากาศใน COP27 นับเวลา 10 ปีต่อจากนี้ ถือเป็นช่วงสำคัญของการลงมือลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหากต้องการจำกัดอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศา อย่างน้อยๆ ที่สุด ภายในปี 2030 จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 45 เปอร์เซ็นต์ และจะต้องลดลงให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050  

แต่… ในกรณีที่เราไม่ลงมือทำอะไรเลยและยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าเดิมไปอีกหลายทศวรรษข้างหน้าจนถึงปี 2050 โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดไปในทางที่ดีขึ้น อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร นี่คือตัวอย่างที่ผ่านการศึกษาและคำนวนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่ถูกละลเลยจากในปัจจุบัน 

โลกร้อนขึ้น 4 องศา  

อุณภูมิของโลกอาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมภายในปี 2100 ซึ่งอาจทำให้คลื่นความร้อน (Heat wave) รุนแรงยิ่งขึ้นจนอาจทำให้พื้นที่บริเวณเส้นศูนย์สูตร (Equator) บางแห่งไม่สามารถอยู่อาศัยได้  

สิ่งมีชีวิตไม่อาจปรับตัวต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง 

เมื่อโลกร้อนขึ้น ถิ่นที่อยู่อาศัยหลายแห่งจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถปรับตัวได้เร็วพอ ในทางกลับกันอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารในรูปแบบของ โดมิโน่ (domino effect) ซึ่งหมายถึงผลกระทบอย่างนึง ส่งผลกระทบกับอีกอย่างนึงต่อเนื่องกันไปเปรียบเสมือนกับการเรียงโดมิโนส่งผลให้เกิดการล่มสลายของระบบนิเวศที่สำคัญสำหรับสัตว์และประชากรมนุษย์ 

ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 

หากธารน้ำแข็ง (Glacier) โดยเฉพาะแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ (Greenland ice sheet) ละลายจนหมด จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่า 7 เมตร และโลกจะหมุนช้าลง โดยระยะเวลาของวันจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 มิลลิวินาที (Milliseconds) ภายในสิ้นศตวรรษนี้ พื้นที่บางแห่งของโลกจะจมสู่ก้นทะเล อาทิเช่น หมู่เกาะมาร์แชล (Marshall Islands) ตูวาลู (Tuvalu) และประเทศมัลดีฟส์ (Maldives) จะกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล นอกจากนี้ มหาสมุทรที่อุ่นจะส่งผลให้น้ำทะเลมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น อีกทั้งการสูญเสียธารน้ำแข็งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้ำจืด (freshwater ecosystem) สำหรับผู้คนนับล้านที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็ง 

สภาพอากาศสุดขั้ว 

การเกิดขึ้นของสภาพอากาศสุดขั้ว อาทิ  พายุเฮอริเคน (Hurricane) ไต้ฝุ่น (Typhoon) และพายุไซโคลน (Cyclone) จะมีพลังมากขึ้น เกิดน้ำท่วมและภัยแล้งที่รุนแรงมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบของฝน สัตว์หลายชนิดอาจเผชิญกับการสูญพันธุ์หากไม่สามารถปรับตัวหรืออพยพได้ทันเวลา ซึ่งอาจนำไปสู่การล่มสลายของความหลากหลายทางชีวภาพ  

ไฟป่า  

มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและความแห้งแล้งที่ยืดเยื้อ การละลายของชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) จะปล่อยก๊าซมีเทนจำนวนมาก เร่งให้เกิดภาวะโลกร้อนเร็วขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรของน้ำทำให้แหล่งน้ำจืดลดน้อยลงเนื่องจากรูปแบบหยาดน้ำฟ้า (precipitation) เปลี่ยนแปลงไปและการระเหยเพิ่มมากขึ้น  

สูญเสียความหลากหลายของผืนป่า 

ผืนป่าที่สำคัญต่อการดูดซับคาร์บอนอย่างป่าฝนเขตร้อนโดยรวมจะกักเก็บคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศมากกว่าป่าเขตอบอุ่นหรือป่าเหนือ แต่ก็ถูกทําลายมากขึ้นสําหรับการขยายตัวทางการเกษตร ป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกสามแห่งตั้งอยู่ใน แอมะซอน (Amazon rainforest) ลุ่มน้ำคองโก (Congo Basin) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) อาจมีการกระจายตัวไปในระดับความสูงที่สูงขึ้น (Treeline shifts) เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเขตภูมิอากาศ ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความสมดุลของระบบนิเวศ และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ 

พื้นที่ชุ่มน้ำเสียสมดุล 

พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) เป็นแหล่งน้ำที่มีระดับน้ำเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มีการไหลเวียนของน้ำตามฤดูกาล หรืออาจมีระดับน้ำขังคงที่ถาวร รวมไปถึงบริเวณริมชายฝั่งทะเลและพื้นที่ในทะเลบางส่วนที่มีความลึกหรือระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร เมื่อกระแสน้ำลดลงถึงจุดต่ำสุด ครอบคลุมพื้นที่เพียง 3 เปอร์เซ็นต์ของโลก แต่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากเป็นสองเท่าของผืนป่าทั้งหมด มีความเสี่ยงที่จะจมอยู่ใต้น้ำเนื่องจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น หรือแห้งแล้งเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรอุทกวิทยา (Hydrological Cycle) ระบบนิเวศเหล่านี้จำเป็นต่อการทำน้ำให้บริสุทธิ์ (Water purification) ป้องกันน้ำท่วม และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเฉพาะของสัตว์บางชนิด อย่างไรก็ตาม การกระจายตัวนี้อาจถูกขัดขวางจาก ภูมิประเทศที่ไม่ต่อเนื่องและสภาพดินที่แตกต่างกัน 

แมลงศัตรูพืชระบาด 

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นและการระบาดของแมลงศัตรูพืชยังก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อป่าทางตอนเหนือที่เป็นระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดบนโลก ครอบคลุมพื้นที่ทั่วซีกโลกเหนือ ซึ่งพบกระจายอยู่ใน เขตละติจูดเหนือ อย่างป่าสนตอนเหนือ (Northern Coniferous Forest) โดยเปลี่ยนพื้นที่เหล่านี้จากแหล่งกักเก็บคาร์บอน (Carbon sink) ให้เป็นแหล่งคาร์บอน (Carbon source)  

โภชนาการของพืชลดลง 

ปริมาณคาร์บอนที่มากเกินไปในชั้นบรรยากาศสามารถทำให้ พืชมีอัตราการสังเคราะห์แสงเพิ่มขึ้นในขณะที่จำกัดการคายน้ำของใบไม้ (CO2 fertilization effect) ก่อให้เกิดความไม่สมดุลของสารอาหาร พืชอาจเติบโตใหญ่ขึ้น แต่ไม่มีสารอาหารที่จำเป็นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้พืชมีคุณค่าทางโภชนาการลดน้อยลง 

ดินเสื่อมโทรม 

การเติบโตอย่างรวดเร็วที่เกิดจากคาร์บอนไดออกไซด์อาจทำให้สารอาหารในดินหมดไป นำไปสู่การเสื่อมโทรมของดิน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของพืชผลทางการเกษตรและในธรรมชาติ ปริมาณโปรตีนที่ลดลงในพืชผลหลัก เช่น ข้าวและข้าวสาลี ซึ่งก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงนี้สามารถส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารจากล่างขึ้นบน (Bottom up) ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัตว์ป่าด้วย 

เกิดการอพยพครั้งใหญ่ 

เมื่อระบบนิเวศถูกรบกวน (Ecological disturbance) จากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอาจทำให้เกิดความท้าทายอย่างมากต่อการอยู่รอดของมนุษย์และคุณภาพชีวิต เช่น การอพยพครั้งใหญ่และวิกฤตผู้ลี้ภัย โดยชุมชนต่างๆ ต้องเผชิญกับการสูญเสียบ้านเรือน สิ่งนี้จะสร้างแรงกดดันมหาศาลต่อระบบสังคมและการเมืองในการจัดการการไหลเข้าของผู้อพยพ ความไม่สงบทางสังคมที่ตามมา  

ทรัพยากรขาดแคลน 

สถานการณ์อาจแย่ลงเนื่องจากการขาดแคลนทรัพยากรอย่างรุนแรง เช่น น้ำจืดและพื้นที่เพาะปลูกความขาดแคลนมีแนวโน้มที่จะดันราคาอาหารให้สูงขึ้น ผลไม้และผลิตภัณฑ์ที่ปลูกในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนเริ่มหายาก เนื่องจากคลื่นความร้อนที่รุนแรงและความชื้นที่เพิ่มขึ้นทำให้เกษตรกรต้องทำงานกลางแจ้งที่เป็นอันตรายจากคลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และน้ำท่วมที่ไม่อาจคาดเดาได้ทำลายล้างเกษตรกรรายย่อยในแอฟริกา เอเชีย และอเมริกาใต้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยผลิตอาหารถึงหนึ่งในสามของโลก เกิดการแข่งขันด้านการสะสมทรัพยากร ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคตเพราะถึงแม้เราจะมีองค์การระหว่างประเทศที่คอยรักษาสันติสุขก็ตาม แต่ทุกประเทศนั้นล้วนมีภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้านความมั่นคง (Security dilemma) ที่จะยึดผลประโยชน์ของชาติตนเองให้มาก่อนอยู่เสมอ ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติก็จะกลายเป็นผู้เคราะห์ร้ายที่ปราศจากการช่วยเหลือและล่มสลายไปในที่สุด 

สุขภาพตกอยู่ในอันตราย 

ผลกระทบต่อสุขภาพถือเป็นความกังวลหลักอีกประการหนึ่งของสังคม เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นและสภาวะทางนิเวศวิทยา (Ecological conditions) เปลี่ยนแปลงไป โรคร้ายอย่าง มาลาเรียและไข้เลือดออกก็แพร่กระจายเร็วขึ้น โรคระบบทางเดินหายใจอาจพบได้บ่อยมากขึ้น เนื่องจากคุณภาพอากาศแย่ลง เกิดคลื่นความร้อนบ่อยครั้ง ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข นอกจากนี้ ผลกระทบด้านสุขภาพจิตจากการดำเนินชีวิตภายใต้ภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องจากภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมและความขาดแคลนทรัพยากร อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้นในหมู่ประชากรที่ได้รับผลกระทบ ภาระทางเศรษฐกิจ (Economic burden) ก็จะมีนัยสำคัญเช่นกัน เนื่องจากการสร้างและเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างพื้นฐาน การดูแลสุขภาพ และการบรรเทาภัยพิบัติอาจเพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและอัตราความยากจนที่เพิ่มขึ้น  

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ไปถึงจุดที่เราทุกคนต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายนี้ ประเทศต่างๆ ต้องเริ่มดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ในเวลาไม่ถึงหนึ่งทศวรรษข้างหน้า ผ่านนโยบายที่สนับสนุนการลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียน ลดการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล อนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติให้ยังคงมีความหลากหลายทางชีวภาพ และควบคุมห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมให้มีความยั่งยืนมากขึ้น ก็จะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบอันเลวร้ายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ 

แต่ถึงอย่างไรจากการประชุม Cop 26 ครั้งล่าสุดเผยให้เห็นว่า นโยบายและข้อผูกพันในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพทั้งในด้านความเร็วหรือขนาด การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง จึงมีความจำเป็นต้องมีวิธีแก้ปัญหา นวัตกรรม และการดำเนินการร่วมกันอย่างจริงจังเท่านั้น 

อ้างอิง  

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia