ลำดับเหตุการณ์การผลักดันนกชนหิน สู่สัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 20 ของประเทศไทย

ลำดับเหตุการณ์การผลักดันนกชนหิน สู่สัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 20 ของประเทศไทย

นกชนหิน (Helmeted Hornbill) ถูกจัดอยู่ใน IUCN Red list เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เสี่ยงการสูญพันธุ์มากที่สุด (critically endangered – CR) จนทำให้เครือข่ายอนุรักษ์เล็งเห็นว่าหากมีการล่าสัตว์ป่าชนิดนี้อย่างไม่มีกฎหมายคุ้มครอง จากที่มีน้อยอยู่แล้วก็จะกลายเป็นไม่มีเลยในอนาคต จึงร่วมกันผลักดันให้ นกชนหิน ได้เข้าไปอยู่ในลำดับสัตว์ป่าสงวนที่ต้องได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย

ซึ่งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ ‘นกชนหิน’ เป็นสัตว์ป่าสงวน เพื่อป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย

วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปย้อนรอยเส้นทางการผลักดันของกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร โดยเรียงลำดับการณ์ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้

เมษายน 2562

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 จนถึงเดือนเมษายน 2562 องค์กร Traffic หรือ เครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า ได้ทำการสำรวจการค้าชนิดนกแล้ว พบการโพสต์ขายนกชนหินทางสื่อออนไลน์ในประเทศไทย เป็นจำนวนมากจากชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์นกเงือกทั้งหมด ซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรนกชนหินที่มีอยู่ในโลกใบนี้ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

25 กันยายน 2562 

ปรีดี เทียนส่งรัศมี หัวหน้าโครงการคุ้มครองนกเงือก (ส่วนภาคใต้) มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ความในใจผ่านสื่อออนไลน์ส่วนตัว ถึงข้อเท็จจริงของสถานการณ์การล่านกชนหินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี  และในเวลาต่อมา นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้โพสต์ข้อความเชิงรณรงค์เกี่ยวกับนกชนหิน โดยมีเนื้อความเกี่ยวกับการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาดูแล และจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับนกชนหิน เพื่อให้มีการจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง

ปี 2562 

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ส่งจดมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พร้อมแนบรายชื่อของประชาชนที่ร่วมลงชื่อผ่านที่รวบรวมผ่าน change.org เป็นจำนวน 26,000 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องให้มีการเร่งประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ นกชนหิน เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย และมีแผนปฏิบัติการเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรนกชนหินในระยะยาว

4 มีนาคม 2563

เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ได้ยื่นเอกสารประกอบในการเสนอนกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวบรวมข้อมูลที่ได้จากพื้นที่ เพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

8 มีนาคม 2564

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องของนกชนหิน เข้าเสนอในที่ประชุม คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20

6 กันยายน 2565 

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม โดยจะเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เนื่องจากนกชนหินเป็นสัตว์ป่าหายาก ใกล้สูญพันธุ์ จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวด

ในช่วงปี 2566

อยู่ระหว่างการปรับสถานะทางกฎหมายโดยคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีมติเห็นชอบการยกเลิกการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และนำเสนอเข้า ครม. อีกครั้งเพื่อเห็นชอบ

21 พฤษภาคม 2567

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ ‘นกชนหิน’ เป็นสัตว์ป่าสงวน เพื่อป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย

นับเป็นการเดินทางไปสู่ความสำเร็จ ที่คุ้มค่าต่อโลกใบนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะนกชนหิน เป็นนกที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากนกชนิดนี้มีบทบาทที่สำคัญต่อการฟื้นฟูพื้นที่ป่า จากการช่วยกระจายพันธุ์พืช ตามพฤติกรรมการกินและย่อยอาหารของนกชนหิน เพราะฉะนั้นเราทุกคนควรช่วยกันอนุรักษ์ และไม่ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของนกชนหิน เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ไทยในอนาคต

บทความโดย อารียา เลยไธสง นักศึกษาฝึกงาน

อ้างอิง