วิกฤตปลาทูไทย เมื่อปลาทูหายไปจะเกิดผลกระทบในด้านใดบ้าง

วิกฤตปลาทูไทย เมื่อปลาทูหายไปจะเกิดผลกระทบในด้านใดบ้าง

ปลาทูเป็นปลาที่คนไทยรู้จักกันมาอย่างยาวนาน เพราะเคยมีปริมาณค่อนข้างมากในท้องทะเลไทย ทำให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และด้วยลักษณะทางกายภาพยังรับประทานง่ายเมื่อเทียบกับปลาชนิดอื่น ๆ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าปลาทูไทยกำลังจะหายไปจากท้องทะเลไทย เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นเคยประเทศที่เปิดเสรีให้กับอุตสาหกรรมการประมงมาก่อน ในเวลาต่อมาทำให้เกิด วิกฤตปลาทูไทย ส่งผลให้เกิดผลกระทบหลายปัจจัยต่อประเทศไทยในปัจจุบัน

ตั้งแต่ ปี 2558 เป็นต้นมา ปริมาณการจับได้ของปลาทูมีปริมาณลดลง ไปถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ปลาทูที่เราพบเห็นในตลาดในปัจจุบันเป็นปลาทูขนาดเล็ก “ปลาทูแม่กลอง หน้างอ คอหัก” พบได้น้อยลงแล้วในท้องตลาดไทย

แต่เนื่องจากคนไทยยังนิยมบริโภคปลาทู ในตลาดจึงมีการนำเข้า 90 เปอร์เซ็นต์  จากต่างประเทศ เพราะปลาทูในท้องทะเลไทยกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปลาทูไทยขาดตลาด ทำให้ปลาทูมีปริมาณน้อยสวนทางกับความต้องการของผู้บริโภค ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในหลายมิติ

ในด้านเศรษฐกิจ การจับปลาทูขนาดที่โตไม่เต็มวัยทำให้ราคาปลาทูขนาดเล็กต่ำกว่าปลาทูที่มีขนาดโตเต็มที่ในตลาด และการนำเข้าปลาทูจากต่างประเทศเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดปลาทูไทยมากขึ้น โดยมีการนำเข้าปริมาณมากในแต่ละปีตั้งแต่ พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา เช่นการนำเข้าปลาทูแช่เย็นปริมาณ 7,248 ตัน ใน พ.ศ. 2559 แล้วเพิ่มเป็น 23,927 ตัน ใน พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ผู้บริโภคไม่ทราบแหล่งที่มาของปลาทูที่บริโภค เนื่องจากมีการนำเข้าผ่านหลายจุดแดน ท่าเรือต่าง ๆ ผู้บริโภคไม่สามารถจำแนกความแตกต่างระหว่างปลาทูนำเข้าและปลาทูท้องถิ่น และปัจจุบันมีตลาดปลาทูออนไลน์มากขึ้น

จากกราฟจะเห็นได้ว่ามีปริมาณการนำเข้าปลาทูมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ในทางกลับกันปริมาณการจับได้ของปลาทูในท้องทะเลไทยจับได้น้อยลงทุกปี แสดงให้เห็นถึงวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจในด้านการค้าปลาทูไทยได้อย่างชัดเจน 

ในด้านสุขภาพของผู้บริโภค การบริโภคปลาทูที่นำเข้าจากต่างประเทศอาจทำให้ต้องมีการใช้สารเคมีเพื่อรักษาความสดใหม่ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการพบเจอสารตกค้างในร่างกาย แตกต่างจากการกินปลาทูที่จับได้ในประเทศไทย ซึ่งมีความสดใหม่และปลอดภัยจากสารเคมีมากกว่าเพราะว่าอาหารในประเทศไทย จะถูกควบคุมด้านสาธารณสุขได้ง่ายกว่า

ในด้านของสังคมและการใช้ชีวิต การปรับตัวของชาวประมงก็เป็นไปได้ยาก หากเป็นการประมงแบบพาณิชย์อาจมีการปรับตัวได้ง่ายด้วยปัจจัยทางกำลังทรัพย์ที่มีมากกว่าการทำประมงแบบพื้นบ้าน ซึ่งอาจเกิดการปรับตัวได้ยากมากกว่า เนื่องจากจับปลาทูได้น้อย ทำให้รายได้การประมงแบบพื้นบ้านน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งการประมงพื้นบ้านส่วนมากเป็นการส่งต่ออาชีพรุ่นสู่รุ่น แต่ในอนาคตหากยังแก้วิกฤตปลาทูไทยไม่ได้ การส่งต่ออาชีพรุ่นสู่รุ่นก็จะเป็นไปได้ยาก เสี่ยงการสูญหายของการทำประมงตามวิถีดั้งเดิมที่ชาวประมงทำแบบพึ่งพาสัตว์ทะเลควบคู่กันไป ก่อให้เกิดการทำประมงแบบล้างผลาญเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศทางทะเล

ในผลกระทบทางด้านระบบนิเวศ เมื่อปลาทูในท้องทะเลไทยลดน้อยลง จึงส่งผลกระทบให้ระบบนิเวศในท้องทะเลปั่นป่วน เพราะว่าเมื่อปลาทูที่เคยเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ชนิดอื่น ๆ ในท้องทะเลลดลงจึงก่อให้เกิดการอพยพ ย้ายถิ่นฐานไปยังแหล่งที่มีอาหารที่มีสมบูรณ์มากว่า เมื่อสัตว์ในท้องทะเลที่เคยช่วยประคับประคองระบบนิเวศให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ ทำให้ระบบนิเวศทะเลไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หรือเรียกได้ว่าท้องทะเลไทยยังขาดความอุดมสมบูรณ์ และต้องการได้รับการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน

ซึ่งสาเหตุในหลายมิติที่ได้กล่าวมาเป็นผลกระทบที่เป็นห่วงโซ่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือประเทศไทยของเราเอง สังเกตได้ง่ายในปัจจุบันการบริโภคอาหารทะเลบางชนิดมีการเข้าถึงได้ยาก หรือไม่สามารถบริโภคเป็นประจำได้ เนื่องจากอาหารทะเลมีราคาสูง สัตว์ทะเลลดน้อยลง เกิดการจับได้ยาก จึงส่งผลต่อราคาอาหาร ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนปูม้ากิโลกรัมละ 10 บาท แต่เดี๋ยวนี้ปูม้า 300 – 400 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ผู้ที่มีกำลังทรัพย์น้อยเข้าถึงอาหารทะเลได้ยาก 

ส่งผลให้ชาวประมงและนักอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องทะเล ออกมาเรียกร้องผ่านกิจกรรมต่างๆ หนึ่งในนั้นมีกิจกรรมที่เรียกว่า “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” ในปี พ.ศ. 2565 เพื่อย้ำเตือนให้ข้อกฎหมายเป็นธรรมกับทั้งชาวประมงและสัตว์ทะเล ผลักดันพิจารณาการคุ้มครองสัตว์น้ำวัยอ่อน [สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : ‘ทวงคืนน้ำพริกปลาทู’ – ความหวังในใจของประมงพื้นบ้าน] 

ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 รัฐบาลมีการนำร่างแก้กฎหมายประมงเข้าสภา  สภาผู้แทนราษฎรก็เสนอร่วมด้วยอีก 7 ร่าง มีมติเห็นชอบทั้งหมด นักอนุรักษ์มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะแก้กฎหมาย แต่กลับพบว่ามีการลดและเพิ่มข้อกฎหมายบางอย่างที่ดูผิดปกติ 

ยกตัวอย่างเช่น มีการลดเขตทะเลชายฝั่งให้น้อยลง ซึ่งหมายถึงการประมงแบบพาณิชย์จะสามารถเข้ามาทำประมงในพื้นใกล้ชายฝั่งมากขึ้น ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลวัยอ่อน และมีการอนุญาตให้ใช้ล้อมปั่นไฟจับปลากะตักในเวลากลางคืนได้ ซึ่งวิธีการประมงเช่นนี้ใช้จับสัตว์อ่อนได้ในปริมาณมาก และไม่เคยมีการอนุญาติให้ทำในประเทศไทยมาก่อน ทำให้เกิดข้อกังวลกับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายใหม่ที่ดูเหมือนจะเอื้อผลประโยชน์ให้กับการทำประมงแบบพาณิชย์มากกว่าการประมงพื้นบ้าน และยังส่งเสริมการจับสัตว์อ่อนแบบแอบแฝงผ่านข้อกฎหมายอีกด้วย 

คุณวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี จากนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า “เรื่องกฎหมายประมงที่ทำงานกันอยู่ในสภา พูดตรงไปตรงมาพวกผม (กลุ่มประมงพื้นบ้าน) ถือว่าเป็นเสียงข้างน้อย เป็นตัวแทนจากภาคประชาชนแค่ 2 ใน 37 ท่าน แต่มีมาจาก ครม. ถึง 9 ท่าน แล้วก็มีจากพรรคการเมืองต่างๆ อีก 20 กว่า ๆ แล้วก็มีพวกผมที่ไปขอโควตาเพิ่ม เขาแบ่งมาให้แค่ 2 คน” และยังกล่าวต่ออีกว่า  “นี่คือประเด็นที่ต้องถกกันว่ามีเหตุผลอย่างไร ในกระบวนการที่กำลังจะแก้กฎหมายกันอยู่ ผมยกตัวอย่างมาเพื่อบอกว่า จำเป็นต้องติดตามอย่ากระพริบตาเด็ดขาด”

สุดท้ายแล้วหากจะแก้ไขวิกฤตปลาทูไทยให้ได้ จะต้องได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลในการออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์สูงสุดเพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศในท้องทะเล 

นอกจากนี้ การร่วมมือจากชาวประมงทุกภาคส่วนก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ชาวประมงไม่ควรมุ่งเน้นเพียงการจับสัตว์น้ำในปริมาณมากเพื่อหวังผลกำไรสูงสุด แต่ควรคำนึงถึงการจับสัตว์น้ำในปริมาณที่เหมาะสมและมีคุณภาพ โดยการจับสัตว์น้ำที่มีขนาดตัวเหมาะสม จะทำให้สัตว์ทะเลมีราคาส่งออกสูงขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องจับสัตว์น้ำในปริมาณมาก เพื่อให้การประมงมีความยั่งยืนและรักษาทรัพยากรทางทะเลให้คงอยู่ในระยะยาวส่งต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้ และเพื่อให้ปลาทูไทยกลับมาอยู่คู่คนไทยอีกครั้ง

สามารถอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับ ‘วิกฤตปลาทูไทย’ เพิ่มเติมได้ที่

บทความโดย อารียา เลยไธสง นักศึกษาฝึกงาน

อ้างอิง

  • อับดุลลายิ เง๊าะ. ความสำคัญของการแก้ “กฎหมายประมง” และข้อควรตระหนักว่า..ควรแก้เพื่อใคร.//พิมพ์ครั้งที่ 1 . โฟ – บาร์ค. สถาบันวิจัยและฟื้นฟูทัพยากรชายฝั่ง สมาคมรักษ์ทะเลไทย, 2567.
  • สุภางค์ จันทวานิช. ปลาทูคู่ไทย : การวิจัยและพัฒนาทรัพยกรสัตว์น้ำเศรษฐกิจของประเทศอย่ายั่งยืน ตลอดห่วงโซ่คุณค่าเพื่อตอบโจทย์ท้าทายไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1 . สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2567.

ภาพประกอบ