คดีเหมืองทองอัครา คือหนึ่งในคดีสะเทือนรัฐบาลไทยที่สุดคดีหนึ่งที่เคยเกิดขึ้น ข้อพิพาทที่ดำเนินมามากกว่าทศวรรษ
ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทย ภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย เป็นคดีที่คนไทยให้ความสนใจมากคดีหนึ่ง เพราะเป็นคดีที่บริษัทต่างชาตินั้นฟ้องราชอาณาจักรไทย จากกรณี การสั่งระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ผ่านการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 คดีนี้ได้นำไปสู่การอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และมีความซับซ้อนมากมายเกิดขึ้น
วันนี้เราจึงได้นำไทม์ไลน์ (Timeline) สรุปเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นของคดีเหมืองทองอัครามาให้ทุกท่านได้อ่านกัน ว่าสุดท้ายแล้วเรื่องราวทั้งหมดได้เดินทางมาถึงตอนจบหรือยัง?
จุดเริ่มต้นของเหมืองทองอัครา
จุดเริ่มต้นเรื่องราวทั้งหมดนั้น ย้อนกลับไปปี 2536 บริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย เริ่มเข้ามาลงทุนเหมืองทองในไทย ผ่านการถือหุ้นของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)
จนในปี 2543 ภายใต้รัฐบาลของ นายชวน หลีกภัย นั้น บริษัท คิงส์เกตฯ ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตรและจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยใช้ชื่อว่า “เหมืองแร่ชาตรี” ซึ่งเป็นเหมืองแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
โครงการเหมืองแร่ชาตรีประกอบด้วย ส่วนแรก คือ เหมืองแร่ชาตรีใต้ ซึ่งเป็นโครงการแรก จำนวน 5 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 1,400 ไร่ ได้รับประทานบัตรในปี 2543 และหมดอายุในปี 2563 และ ส่วนที่สอง คือ โครงการเหมืองแร่ชาตรีเหนือ จำนวน 9 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 2,500 ไร่ ได้รับประทานบัตรในปี 2551 และหมดอายุในปี 2571
การมอบสัมปทานให้กับบริษัท คิงส์เกตฯ ในครั้งนั้น สร้างผลประโยชน์ให้แก่ภาครัฐมากมาย ทั้ง การส่งออกทองไปขายให้เพื่อนบ้าน ได้รับ ‘ค่าภาคหลวง’ จากผู้สัมปทาน จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ และสร้างงานให้แก่คนในพื้นที่ใกล้เหมืองทองด้วย
การทำเหมืองกับผลกระทบของชาวบ้าน
แน่นอนว่าการเปิดเหมืองในพื้นที่ที่มีชุมชนอยู่ละแวกใกล้เคียงย่อมมีผลกระทบมากมายตามมา ผ่านไปกว่า 7 ปี ในปี 2550 ชาวบ้านเริ่มทนไม่ได้กับมลพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากเหมือง ทั้งการปนเปื้อนของโลหะหนักในแหล่งน้ำ ฝุ่นควันที่ปะปนมากับดินลอากาศ และยังมีมลพิษทางเสียงจากการระเบิดเหมืองและอุตสาหกรรมด้วย
ชาวบ้านหลายคนได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน บางคนมีอาการเจ็บป่วย ผื่นคัน ตุ่มหนองทางผิวหนัง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการใช้น้ำจากธรรมชาติ และสูดดมอากาศที่ไม่บริสุทธิเข้าไป ทำให้ชาวบ้านอีกมากมายต้องสูญเสียเงินมากขึ้นในการซื้อน้ำไว้กินไว้ใช้แทน
ต่อมาโรงพยาบาลรามาธิบดีรายงานผลการตรวจสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่พบว่า ชาวบ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ จำนวน 738 คน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ตรวจพบการปนเปื้อนของสารเคมีในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเลือด ตัวอย่างสารที่พบ เช่น สารหนู
ในปี 2553 ชาวบ้านในตำบลเขาเจ็ดลูกได้ยื่นฟ้องศาลปกครองพิษณุโลกให้ดำเนินคดีดีกับหน่วยงานของรัฐ 5 หน่วยงาน และขอให้เพิกถอนประทานบัตร 5 แปลงแรกของบริษัทที่ไม่ได้ทำ EIA พร้อมยุติการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับเหมืองในพื้นที่ทั้งหมด
ถัดมาในปี 2557 ชาวบ้านโดยรอบพื้นที่เหมือง จากจังหวัด พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย ได้ร่วมตัวกันไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับสำนักนายกรัฐมนตรี จนทำให้ท้ายที่สุดภาครัฐได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างน้ำและดินในพื้นที่ เพื่อนำไปตรวจหาสารปนเปื้อนต่อไป
พวกเขาระบุว่า ต้องอยู่กับทั้งฝุ่นที่ปกคลุมไปทั่วพื้นที่ และเสียงระเบิดหินที่ดังสนั่นหวั่นไหวตลอด 24 ชั่วโมง และพวกเขายังต้องแบกรับความเสียงด้านสุขภาพอีก
คสช.กับการใช้มาตรา 44 ระงับกิจการเหมืองทอง
จากการร้องเรียนของชาวบ้านหลายต่อหลายครั้ง ในที่สุดวันที่ 13 ธันวาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตาม มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 72/2559 ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านโดยรอบ
จากคำสั่งดังกล่าวของรัฐบาล ทำให้เหมืองแร่ชาตรีได้ถูกยุติการประกอบกิจการนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
นอกจากนี้รัฐบาลยังมีคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงานเข้ามาดูแลสุขภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการระงับกิจการ
บริษัท คิงส์เกตฯ ฟ้องกลับประเทศไทย
แน่นอนว่าการใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของสากลนั้นเป็นช่องโหว่ทางกฎหมายอย่างดี ยิ่งคู่กรณีเป็นชาวต่างชาติด้วยแล้ว ยิ่งยากจะยอมรับได้ อีกทั้ง ณ เวลาดังกล่าวมีพรรคฝ่ายค้านออกมาอภิปรายไม่ไว้วางใจและเสนอความเห็นแล้วว่า การใช้มาตรา 44 นั้นอาจทำให้ไทยเสี่ยงต่อการถูกฟ้องและยากที่จะเอาชนะได้ แต่ท้ายที่สุด พล.อ. ประยุทธ์ก็เลือกใช้มาตราดังกล่าวอยู่ดี
ทำให้ไม่นานหลังจากถูกระงับกิจการ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 บริษัท คิงส์เกตฯ ได้ตัดสินใจยื่นอนุญาโตตุลาการ กรณีการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) อ้างว่าได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช.
การอนุญาโตตุลาการ คือ การระงับข้อพิพาทโดยไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน แต่คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย จะเป็นผู้เลือกคนที่จะมาทำหน้าที่เป็น “อนุญาโตตุลาการ” เพื่อตัดสินชี้ขาด โดยแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ จำนวน 1 คนหรือหลายคน
บริษัทคิงส์เกตฯ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายให้เป็นเงินประมาณ 25,000 ล้านบาท โดยตอนนั้นให้คณะอนุญาโตตุลาการแจ้งผลคำตัดสินคดีในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 แต่ก็ถูกเลื่อนไปเป็นวันที่ 31 มการาคม 2565 แทน และในท้ายที่สุดก็ถูกเลื่อนออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน
อย่างไรก็ดีรัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับคิงส์เกตฯ โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าคณะและมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น เพื่อเจรจาและหาข้อยุติกับทางบริษัทคิงส์เกตฯ
เหมืองทองอัครากลับมาเปิดอีกครั้ง
ระหว่างปี 2563-2564 ภายใต้ พระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่ (2560) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้พิจารณาอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ และคำขอต่ออายุประทานบัตรของ บริษัทอัคราฯ และได้มีมติเห็นชอบให้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษที่ 3/2563-46/2563 ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2568 เพื่อการสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง (397,696 ไร่)
ต่อมาวันที่ 19 มกราคม 2565 บริษัทคิงส์เกตฯ ประกาศว่า รัฐบาลมีความเห็นชอบ “ต่ออายุ” ประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน จำนวน 4 แปลง แบ่งเป็น 1.) ประทานบัตรที่ 25528/14714 จ.เพชรบูรณ์ 2.) ประทานบัตรที่ 26910/15365 3.) ประทานบัตรที่ 6911/15366 และ 4.) ประทานบัตรที่ 26912/15367 จ.พิจิตร ออกไปอีก 10 ปี โดยประทานบัตรในการทำเหมืองทองจะมีอายุตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 25 มติเห็นชอบดังกล่าวหมายความว่าบริษัทเหมืองแร่ทองชาตรีที่ถูกระงับกิจการไป จะเปิดดำเนินการอีกครั้ง
จากการเจรจาดังกล่าวบริษัทคิงส์เกตฯ ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า บริษัทได้รับประโยชน์มากเกินกว่าที่ต่อรองไปในข้อพิพาทหรือไม่ เนื่องจากพวกเขาไม่ใช่แค่ได้กลับมาทำเหมือง แต่ยังได้สิทธิสำรวจเพิ่มอีก 4 แสนไร่ และกำลังขอเพิ่มอีก 6 แสนไร่ นำไปสู่ข้อสังเกตเพิ่มเติมที่ว่า ไทยอาจแพ้คดีจนต้องสูญเสียเงินชดเชยมากมาย เพราะตัวเลข 2-3 หมื่นก็มาจากการคาดการณ์ทั้งสิ้น
สถานะล่าสุดของเหมืองทองอัครา
ก่อนหน้านี้บริษัทอัคราฯ ต้องการเปิดเหมืองให้ทันเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยได้ยื่นหนังสือเพื่อขออนุญาตเปิดเหมืองแร่ทองคำไปยังอุตสาหกรรมจังวัดพิจิตร ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2566 แล้ว แต่ก็ยังไม่ถูกเลื่อนการเปิดเรื่อยมา เนื่องจากประเด็นการลงตรวจสอบความพร้อมของเหมืองและโรงงาน
จนในท้ายที่สุด 6 ปีแห่งการรอคอย เครื่องจักรของบริษัทอัคราฯ ได้เปิดทำการอีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา และได้ทำการเริ่มหลอมแท่งอัลลอยทองคำ-เงิน รุ่นแรก จากแร่ที่ขุดมาตั้งแต่ปี 2559
จากการเปิดเหมืองขึ้นในครั้งนี้มีทั้งฝ่ายชาวบ้านที่ยินดีต่อการกลับมาทำกิจการของบริษัทอัคราฯ อีกครั้ง เพราะพวกเขามองว่าเหมืองทำให้พวกเขามีงาน มีรายได้ และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่คัดค้านและกังวลต่อถึงผลกระทบที่อาจจะซ้ำรอยเดิมที่เคยเกิดขึ้น
อ้างอิง
- เหมืองทองอัครา: สรุปปมปัญหา ค่าเสียหาย 3 หมื่นล้านก่อนอนุญาโตฯตัดสิน 31 ม.ค.
- เหมืองทองอัครา: เปิด 7 ข้อกังขาของภาคประชาชนกรณีรัฐบาลอนุญาตให้คิงส์เกตกลับมาเปิดเหมืองทอง
- ฟื้นชีพเหมืองทอง ”อัครา” “คิงส์เกต” จ่อถอนคดีอนุญาโตฯ
- เหมืองทองอัครา พิจิตร-เพชรบูรณ์ เปิดแล้ว! หลังต่อสู้ยาวนานกว่า 6 ปี
- ภาพประกอบ นายกชกร พันธุ์แสงอร่าม
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ