“สายน้ำคือตัวแทนวัฏจักรของพลังงาน ที่ถูกถ่ายทอดจากแสงอาทิตย์ สู่พืช จากพืชสู่แมลง และจากแมลงสู่ปลา ทว่าความต่อเนื่องของวัฏจักรนี้กลับถูกทำลายโดยมนุษย์” อัลโด เลโอโพล, นักเขียนและนักวิชาการด้านการอนุรักษ์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของแหล่งน้ำที่มีต่อระบบนิเวศ
เนื่องในวันที่ 14 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันหยุดเขื่อนโลก” (International Day of Actions for Rivers : against Dams) เป็นอีกหนึ่งวันที่ทำให้เราต้องย้อนกลับไปมองเรื่องของเขื่อน และตระหนักต่อความสำคัญของแหล่งน้ำ
เราสูญเสียกันไปเท่าไหร่แล้วกับการสร้างเขื่อน! การมีเขื่อนเกิดขึ้นหนึ่งที่ หมายความถึงการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ สิ่งมีชีวิตนับร้อยนับพันต้องสังเวยชีวิตให้แก่กำแพงคอนกรีตที่ตั้งขึ้นมา มันเปรียบเสมือนตัวร้ายตัวฉกาจของธรรมชาติ และเมื่อตัวร้ายตัวนี้ได้รับชัยชนะไปแล้ว ก็คงยากที่จะได้ธรรมชาติของเรากลับคืนมา
จุดเริ่มต้นของวันหยุดเขื่อนโลก
วันหยุดเขื่อนโลกนั้นเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายน ปี 1995 ขบวนการคัดค้านเขื่อนแห่งบราซิล (Brazil’s Movement of People Affected by Large Dams) ได้เล็งเห็นปัญหาและภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน โดยพวกเขามองว่าปัญหานี้ไม่ใช่แค่ปัญหาระดับประเทศ แต่มันคือปัญหาระดับโลก ทำให้ขบวนการคัดค้านเขื่อนแห่งบราซิลเสนอจัดการประชุมสำหรับภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนจากทั่วโลกขึ้น
ต่อมาในเดือนมีนาคมปี 1997 ประเทศไทยส่งผู้แทนจากเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมกับชาติอื่น ๆ ในการประชุมที่เมืองกูริติบา รัฐปารานา ประเทศบราซิล เพื่อแสวงหาแนวทางจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อนในเขตลุ่มน้ำต่าง ๆ
ครั้งนั้นผู้เข้าร่วมประชุมได้ตัดสินใจประกาศให้วันที่ 14 มีนาคมเป็นวันหยุดเขื่อนโลก โดยมีเป้าหมายสำคัญของการจัดตั้งวันนี้ขึ้นเนื่องจาก ต้องการเสริมสร้างเครือข่ายระดับภูมิภาคและระดับประเทศในการต่อต้านการสร้างเขื่อน ตลอดจนการส่งเสริมการฟื้นฟูแม่น้ำและแหล่งต้นน้ำลำธารทั่วโลก ตลอดจนการเรียกร้องให้มีการจัดการน้ำอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน
ทำไมเราต้องมีวันหยุดเขื่อนโลก
ถ้าถามว่าทำไมเราต้องมีวันนี้ด้วย แล้วมันสำคัญอย่างไร? ตามที่ อัลโด เลโอโพล กล่าวข้างต้นถึงความสำคัญของแม่น้ำในฐานะวัฏจักรของชีวิต สรรพชีวิตมากมายล้วนพึงพิงแม่น้ำและลำธาร การมีเขื่อนมาตั้งขวางคงไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อสิ่งมีชีวิตเหล่านี้แน่
เขื่อนนั้นสร้างผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนจะพูดถึงผลกระทบต่อแม่น้ำลำธาร ก็ต้องมาพูดกันถึงเรื่องของพื้นที่กันก่อน โดยการสร้างเขื่อนนั้นจำเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการก่อสร้าง ทำให้เขื่อนมักจะถูกสร้างทับพื้นที่ป่าหลายร้อยล้านไร่
อย่างที่ทราบกันดี ผืนป่านั้นเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญยิ่งต่อทุกสิ่งมีชีวิต มันเป็นมากกว่าที่อยู่อาศัยของเหล่าสรรพสัตว์ แต่ยังเป็นทั้งแหล่งอาหารและเป็นพื้นที่รักษาสมดุลทางสิ่งแวดล้อมด้วย หากเขื่อนถูกสร้างขึ้น ธรรมชาติก็จะเสียสมดุล
แน่นอนว่าสัตว์ป่าน้อยใหญ่ก็จะไม่มีที่ให้หลบภัยและไม่มีแหล่งอาหาร พืชมากมายก็ล้มตาย แม้แต่เห็ดราเล็ก ๆ ก็จะไม่มีที่อยู่ เรียกง่าย ๆ ว่า หากพื้นที่ไหนมีเขื่อนเกิดขึ้น เราก็จะสูญเสียความสมดุลและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่นั้นไปโดยปริยาย
นอกจากป่า ก็มีแม่น้ำลำธารที่ได้รับผลกระทบตามที่กล่าวไป การสร้างเขื่อนนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศน้ำจืด เนื่องจากเขื่อนเปรียบได้กับกำแพงขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นการไหลของน้ำเอาไว้ การไหลของน้ำที่เปลี่ยนไปย่อมทำให้ระบบนิเวศดั้งเดิมเปลี่ยนแปลง อย่าง การอพยพของปลา การวางไข่ การเข้าถึงแหล่งอาหาร เป็นต้น เรียกได้ว่าเขื่อนนั้นสามารถทำให้ปลาสูญพันธุ์จากธรรมชาติได้เลยทีเดียว
การสร้างเขื่อนนั้น ต่อให้ทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดก็ต้องเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรืออาจสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่นั้น ๆ ไปเลย แบบที่ไม่สามารถนำธรรมชาติเหล่านั้นกลับมาดังเดิมได้
อ้างอิง
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ