ครม.เห็นชอบ นโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก  

ครม.เห็นชอบ นโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก  

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติห้ามนำเข้าขยะพลาสติก หลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป  

นับเป็นข่าวดีสำหรับวงการสิ่งแวดล้อมไทย ที่ประเทศไทยจะถูกลดบทบาทการเป็นบ่อขยะโลกแล้ว หลังจากที่หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นประเทศที่นำเข้าเศษพลาสติกมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก  

มติครม. กับนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก  

ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและราคาเศษพลาสติกในประเทศ และเพื่อมิให้ประเทศไทยเป็นที่รองรับเศษขยะจากประเทศอื่น โดยให้กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ และกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว  

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรายละเอียดและสาระสำคัญของนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกดังนี้  

1. เมื่อสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศกำหนดให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร 

2. การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่เขตปลอดอากร (ในช่วงปี 2566-2567) โดยจะอนุญาตเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม 14 แห่งที่กำหนด ได้แก่ โรงงานทั้งหมดที่ใช้เศษพลาสติกเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร นำเข้าไม่เกินความสามารถในการผลิตจริง รวม 372,994 ตันต่อปี สำหรับปีที่ 1 (2566) ให้นำเข้าปริมาณร้อยละ 100 ของความสามารถในการผลิตจริง 

ปีที่ 2 (2567) ให้นำเข้าปริมาณไม่เกินร้อยละ 50 ของความสามารถในการผลิตจริงโดยการนำเข้าจะต้องมีมาตรการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อมิให้เกิดมลพิษในประเทศ เช่น เศษพลาสติกที่นำเข้าต้องแยกชนิดและไม่ปะปนกัน สามารถนาเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องทำความสะอาด ต้องใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น เป็นต้น 

3. การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่ทั่วไป (ในช่วงปี 2566-2567) ให้นำเข้าเฉพาะกรณีที่ไม่มีเศษพลาสติกในประเทศหรือมีปริมาณไม่เพียงพอ โดยมีหลักเกณฑ์ เช่น ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องแสดงหลักฐานว่ามีความจำเป็นในการนำเข้าและไม่สามารถหาได้ในประเทศ, นำเข้าได้ในปริมาณที่สอดคล้องกับกำลังการผลิต, นำเข้ามาเพื่อเป็นวัตถุดิบเท่านั้น (ไม่รวมถึงการคัดแยกหรือย่อยพลาสติก), สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องทำความสะอาด  

“โดยเน้นย้ำให้ดำเนินการมาตรการควบคุมในช่วง 2 ปี (ในช่วงปี 2566-2567) คือ มาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก 3 ประเด็น ประกอบด้วย (1) ควบคุมปริมาณนำเข้าให้สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศ (2) ป้องกันการลักลอบนำเข้า และ (3) ควบคุมการประกอบกิจการพลาสติกไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  

และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับทุกฝ่ายจึงให้มีมาตรการลดผลกระทบจากการห้ามนำเข้าเศษพลาสติก 4 ประเด็น ประกอบด้วย (1) การป้องกันการขาดแคลนเศษพลาสติกบางชนิดที่ใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม (2) การคัดแยกขยะที่เป็นระบบตั้งแต่ต้นทางเพื่อนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม (3) งานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับการนำพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์ และ (4) การมีกฎหมายเพื่อกำกับดูแลและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกโดยเฉพาะ” น.ส.ทิพานัน กล่าว   

ย้อนรอย…ที่มาของนโยบายการกำกับการนำเข้าขยะพลาสติก 

ปัญหาการนำเข้าเศษพลาสติกแท้จริงมีมาก่อนเกือบ 10 ปี แล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าขยะพลาสติกมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ประกอบกับช่วงปี 2560 รัฐบาลจีนได้มีคำสั่งห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการรีไซเคิลพลาสติกในจีนหลายเจ้า มองหาพื้นที่ใหม่สำหรับย้ายฐานการผลิต ซึ่งในประเทศที่จีนเลือกคือประเทศไทย ส่งผลให้ในปี 2561 มีปริมาณเศษพลาสติกนำเข้ามามากถึง 552,912 ตัน หากเปรียบเทียบกับในช่วงต้นปี 2560 ที่มีการนำเข้าเศษพลาสติก 152,737 ตัน ซึ่งมากกว่าเดิมถึง 4 เท่า 

จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะพลาสติกในประเทศไทย ทำให้ภาครัฐเริ่มมีการคุมเข้มการนำเข้าขยะพลาสติกอย่างมากขึ้น โดยปี 2561 มีการแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ และมีมติให้ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกภายใน 2 ปี หรือปี 2563 

ด้วยแรงกดดันจากภาคอุตสาหกรรมที่มีการเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดการนำเข้าเศษพลาสติกต่อ ประกอบกับขออ้างว่าขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศ ทำให้คณะอนุกรรมการการบริหารจัดการขยะพลาสติกฯ ปรับเปลี่ยนนโยบายไม่ประกาศมาตรการยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติก  

การประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อ 16 ก.ย. 2565 ซึ่งมี วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน และมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีมติห้ามนำเข้าเศษพลาสติกทั้งหมดในปี 2568 และเห็นชอบชุดมาตรการยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกทั้งในเขตปลอดอากร และโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ทั่วไป และมาตรการลดผลกระทบจากการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกด้วย จากการประชุมในครั้งนั้นจึงเป็นที่มาของนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกในครั้งนี้ 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ