สุขภาพ เหมืองแร่ สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมที่ยังคงถูกตั้งคำถาม ?

สุขภาพ เหมืองแร่ สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมที่ยังคงถูกตั้งคำถาม ?

เมื่อสมาคมการท่องเที่ยวและสภาจังหวัดภูเก็ต มีมติเป็นเอกฉันท์เสนอให้รัฐบาลระงับการขุดแร่ในทะเลรอบเกาะภูเก็ตทุกแปลง ความขัดแย้งเรื่องเหมืองแร่จึงทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นระหว่างผู้ประกอบการและคนในพื้นที่  

กระทั่งในที่สุดก็มีการชุมนุมของมวลชนนับแสนซึ่งนับเป็นการชุมนุมทางสิ่งแวดล้อมที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2529 เหตุการณ์บานปลายกลายเป็นเหตุจลาจลเผาโรงงานถลุงแร่แทนทาลัม หรือแร่ผลพลอยได้จากการถลุงดีบุก 

ด้วยเหตุผลว่าโรงถลุงแร่กลางเมืองจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่กำลังเฟื่องฟู ผลจากการจลาจลครั้งนี้ทำให้บริษัทที่รับสัมปทานต้องจบบทบาทไปในที่สุด พร้อมกับคำพูดที่ตอกย้ำการท่องเที่ยวว่า

“เก็บหาดป่าตองเอาไว้ให้ฝรั่งมานอนแก้ผ้าเล่นจะมีประโยชน์สักแค่ไหนกัน”

เหตุการณ์นั้นนับเป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่แสดงว่าชาวภูเก็ตได้หันหลังให้กิจการเหมืองแร่ แม้ว่าที่ผ่านมาผู้คนต่างจดจำว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่มีส่วนสร้างเศรษฐกิจอันรุ่งโรจน์ให้ภูเก็ต แต่พวกเขากลับเลือกจะเก็บภูเก็ตไว้เป็นไข่มุกแห่งอันดามัน หากเหตุการณ์ในครั้งนี้จบลงด้วยการเลือกอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ประเทศไทยคงอาจจะไม่มีคำว่า “ไข่มุกแห่งอันดามัน” หลงเหลือให้เราได้ยิน 

แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่า 30 ปีแล้วตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้น ปัจจุบันรัฐบาลได้มีกฎหมายกำกับดูแลการทำเหมืองแร่ แตกต่างจากครั้งในอดีต แต่โครงการเหล่านี้ก็ยังคงสร้างผลกระทบไม่ต่างไปจากเดิม อย่างการปนเปื้อนของสารหนูในสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองดีบุกในตำบลร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช การปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี ปัญหามลพิษอากาศ บริเวณตำบลพระลาน จังหวัดสระบุรี ฯลฯ และผลกระทบเหล่านี้ยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหนเหมือนกับกรณีของเหมืองแร่ เขตพระลาน ที่มีกิจกรรมการทำเหมืองสร้างผลกระทบมาอย่างยาวนาน

ในปี 2563 มูลค่า การผลิต นำเข้า ส่งออกของทรัพยากรแร่มีมูลค่าถึง 200,000 ล้านบาท แต่แลกมาด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างยาวนานต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่  

อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นประเด็นที่ยังคงถูกตั้งคำถามในแง่ความของคุ้มค่าจากลงทุนที่แลกมาด้วยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนที่เสียไปนั้นคุ้มค่าหรือไม่ ?

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

เราไม่มีทางอนุรักษ์สิ่งที่เราไม่เห็นคุณค่า และเราไม่มีทางเห็นคุณค่าถ้าเราไม่รู้จักมัน