ชาวระยองโอด คดีน้ำมันรั่ว ศาลปกครองให้จ่ายค่าธรรมเนียมศาล กว่า 1 ล้านบาท

ชาวระยองโอด คดีน้ำมันรั่ว ศาลปกครองให้จ่ายค่าธรรมเนียมศาล กว่า 1 ล้านบาท

กลุ่มผู้ฟ้องคดีน้ำมันดิบรั่วกลางทะเลระยอง เรี่ยไรเงินหน้าศาลจ่ายค่าธรรมเนียม เหตุไม่มีหลักฐานนำมาแสดงยกเว้น นายกประมงพื้นบ้านครวญอาชีพหาเช้ากินค่ำจะเอามาจากไหน ชี้หากรัฐจริงใจแก้ปัญหาชาวบ้านไม่ต้องดิ้นรนกันเอง 

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00 – 13.00 น. ชาวประมงพื้นบ้าน ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว และอาชีพต่อเนื่อง เช่น แม่ค้ารถเร่ ร้านเช่าเตียงผ้าใบ ห่วงยาง ร้านค้าอาหารตามสั่ง ฯลฯ ในพื้นที่จ.ระยอง ประมาณ 700 คน ได้เดินทางไปที่ศาลปกครองระยอง ตามคำสั่งศาลซึ่งให้ผู้ฟ้องทั้ง 834 ราย ชี้แจงข้อมูลส่วนตัวเพื่อประกอบการพิจารณาขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล แต่ชาวบ้านไม่สามารถนำหลักฐานมาแสดงได้ จึงนำเงินไปจ่ายค่าธรรมเนียมศาลเอง

ในกรณีผู้ฟ้อง จำนวน 834 ราย ยื่นฟ้องต่อหน่วยงานรัฐ เหตุละเลยการปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ในการบริหารจัดการเหตุน้ำมันรั่วที่ระยอง เมื่อปี 2565 ซึ่งเป็นเหตุให้ทะเลระยองเกิดความเสียหายเกินสมควร ยากต่อการแก้ไขเยียวยา โดยศาลมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมเฉลี่ยรายละ 1,370 บาท รวมเป็นเงิน 1,142,580 บาท

สืบเนื่องจากวันที่ 20 มกราคม 2566 สมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง ร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว และกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า พร้อมทีมทนายความจาก Rising Sun Law ได้ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ 7 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง ที่ 1, กระทรวงมหาดไทย ที่ 2, กรมเจ้าท่า ที่ 3, กรมธุรกิจพลังงาน ที่ 4, กรมประมง ที่ 5, กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ที่ 6 และกรมควบคุมมลพิษ ที่ 7 ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในการบริหารจัดการเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลอย่างต่อเนื่องกลางทะเลจังหวัดระยองกว่า 400,000 ลิตร จากจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SINGLE POINT MOORING SYSTEM) ของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดแก่ระบบนิเวศ ทรัพยากรทางทะเล และวิถีชีวิตของประชาชน แต่กลับละเลยในการป้องกันเหตุหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ประมาทเลินเล่อในการแก้ไขปัญหา

โดยผู้ฟ้องคดีทั้งหมด 834 ราย (เดิม 837 ราย ถอนตัว 3 ราย) ขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่ง ให้มีการออกกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการรับมือแก้ไขและป้องกันสถานการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล และจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวระยอง ตลอดจนให้เยียวยาชดใช้ความเสียหายอันเกิดจากการละเมิด จน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด และรับผิดเยียวยาชดใช้ค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคตของผู้ฟ้องคดีด้วย (อ่านต่อได้ที่ : Rising Sun Law)

นายวีรศักดิ์ คงณรงค์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง เปิดเผยว่า เราฟ้องศาลปกครองเพื่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายจากการปฏิบัติงานล่าช้าจากปัญหาน้ำมันรั่วในระยองแก่ผู้ฟ้องปีละ 6 หมื่นบาทต่อราย เนื่องจากประชาชนต้องแบกรับผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ และสูญเสียโอกาสสร้างรายได้ทั้งปัจจุบันและอนาคต

“วันนี้ศาลให้พวกเรานำเอกสารหลักฐานมาแสดงต่อศาล เพื่อเป็นเหตุในการยกเว้นค่าธรรมเนียม แต่ในความเป็นจริงชาวบ้านทำไม่ได้หรือไม่มี เช่น บัญชีเงินฝาก ซึ่งเราไม่เคยมีกันเลย เพราะเราหาเช้ากินค่ำ หรือหลักฐานที่แสดงว่ามีบ้านเป็นของตนเอง เพราะชุมชนประมงส่วนใหญ่จะเป็นผู้อาศัย รวมทั้งหลักฐานด้านหนี้สินต่างๆ ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีบัญชีทรัพย์สินที่ชี้ได้ว่ามีความเดือดร้อน เอกสารหลักฐานเหล่านี้จึงเป็นภาระที่หนักหน่วงของชาวบ้าน” นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยองกล่าว

วรีศักดิ์เผยต่อว่า นอกจากนี้ศาลยังมีเวลาจำกัดให้เราหาหลักฐานนำมาแสดง เพียง 4-5 วัน ดังนั้นชาวบ้านจึงจำเป็นต้องเลือกแนวทาง คือเอาเงินมาวางศาล เป็นเงิน 1,370 บาทต่อคน จากผู้ฟ้องทั้งหมด 834 คน

“ชีวิตต้องลำบากมากจากการที่ไปกู้เงินมาวางค่าธรรมเนียมศาล บางรายถึงกับต้องเรี่ยไรช่วยกันเพราะเขาไม่มีจริงๆ”

วีรศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า เราฟ้องเรื่องส่วนรวมคืออยากให้หน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูทะเลเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งต่อทรัพยากรทางทะเลและวิถีชีวิตของชาวระยอง ดังนั้นทางกลุ่มฯ จึงมีความเห็นร่วมกันว่าเราไม่อยากให้พี่น้องตกขบวน หรือเสียโอกาสในการฟื้นฟูทางทะเล ซึ่งเขาไม่ได้กังวลเรื่องส่วนตัว แต่เขาสนใจว่าถ้าไม่จ่ายค่าธรรมเนียมศาลแล้ว ถ้าเขาตกหล่นแล้วใครจะฟ้องให้เขา ใครจะมาทวงสิทธิหรือเรียกร้องการแก้ไขปัญหาในอนาคตเพื่อลูกหลานเขาต่อไป

“จริงๆ เราไม่จำเป็นต้องฟ้องเรียกร้องเอาเงินแก้ไขเยียวยา หากหน่วยงานรัฐจริงจังในการรับผิดชอบ และแก้ไขอย่างถูกจุดจนไม่เกิดปัญหา และเราก็คงไม่ต้องมาดิ้นรนกันขนาดนี้” วีรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

อ้างอิง

  • ศูนย์สื่อชุมชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม 
  • ข้อมูลและภาพประกอบจากเพจ Rising Sun Law