มลพิษต้องเป็นเรื่องที่ไม่ลับ: กฎหมาย PRTR กับการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษ

มลพิษต้องเป็นเรื่องที่ไม่ลับ: กฎหมาย PRTR กับการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษ

ปัญหามลพิษถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมหลักที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นตัวการสำคัญในการปล่อยมลพิษและสารพิษมากมายสู่ธรรมชาติ หลายครั้งที่โรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชน แต่กลับมีการใช้สารเคมีอันตรายที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อร่างกายมนุษย์ ตลอดจนนำไปสู่อันตรายอีกมากมาย 

ตัวอย่างเช่น หลายครั้งที่โรงงานอุตสาหกรรมเกิดการรั่วไหลขึ้น และมันได้ส่งผลกระทบต่อทั้งประชาชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ทรัพย์สินบางอย่างรวมถึงสิ่งแวดล้อมหากสูญเสียไปแล้วก็ยากที่จะได้กลับคืนมา ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์ลักษณะนี้ยังตามมาด้วยคำถามของประชาชนต่อภาครัฐถึงการปล่อยผ่านให้โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้สารเคมีที่อันตรายและปล่อยมลพิษสู่ธรรมชาติมากมายขนาดนี้มาตั้งอยู่ในเขตชุมชนได้อย่างไร 

เนื่องด้วยช่องโหว่ทางกฎหมายหลายอย่างทำให้โรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้เล็ดลอดการตรวจสอบจากภาครัฐและประชาชน ดังนั้นการมีกฎหมายที่สามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลสารเคมีที่โรงงานเหล่านี้ใช้ได้จึงถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง 

PRTR กฎหมายเผยแพร่ข้อมูลมลพิษ 

ปัจจุบันทั่วโลกเริ่มมีการใช้กฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR แล้ว โดยกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากกระบวนการผลิตภายในโรงงานให้ภาคประชาชนนั้นสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบที่มาของมลพิษที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมได้ 

ไทยเองก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประชาชนนั้นไม่สามารถเข้าถึงหรือตรวจสอบข้อมูลของโรงงานอุตสาหกรรมโดยรอบชุมชนได้เลย นั่นจึงทำให้ประชาชนและสิ่งแวดล้อมจะได้รับผลกระทบโดยตรง หากเกิดเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลหรือมีการทิ้งสารเคมีในธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้หากมีกฎหมาย PRTR เข้ามาเติมเต็มช่องโหว่ทางกฎหมายนี้ก็จะยิ่งสร้างความปลอดภัยให้แก่หลายฝ่ายมากยิ่งขึ้น 

ความสำคัญของกฎหมาย PRTR 

การไม่มีกฎหมาย PRTR อาจทำให้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งใช้สารเคมีที่อันตรายและส่งผลกระทบรุนแรงต่อส่วนอื่น ๆ ได้ หรือในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดอาจมีการลักลอบใช้สารเคมีที่ผิดกฎหมายหรือไม่ได้มาตรฐาน แต่มีราคาถูกกว่าเป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมก็เป็นได้ 

ดังนั้น กฎหมายดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการจัดการปัญหามลพิษและการตัดสินใจดำเนินโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยให้รัฐทราบสถานการณ์และแนวโน้มการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนได้ 

อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนดำเนินกิจการได้อย่างเปิดเผยและโปร่งใส รวมถึงช่วยให้สามารถตรวจสอบกระบวนการผลิตให้มีความปลอดภัยจากการใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพด้วย ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การลงทุนได้อย่างยั่งยืนร่วมกับชุมชนโดยรอบพื้นที่ 

กลไกการทำงานของกฎหมาย PRTR 

ภายใต้กฎหมาย PRTR โรงงานอุตสาหกรรมจะต้องจัดทำรายงานปริมาณการปล่อยสารมลพิษในรอบปีที่ผ่านมา โดยภายในรายงานจะระบุข้อมูลของแหล่งกำเนิดมลพิษที่มาจากแหล่งกำเนิดที่แน่นอน หรือไม่มีแหล่งกำเนิดที่แน่นอน 

ถัดมาโรงงานอุตสาหกรรมต้องส่งรายงานให้แก่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และทางกรมควบคุมมลพิษจะทำการรวบรวมข้อมูลสารพิษที่ได้รับ ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลปริมาณแหล่งกำเนิดสารมลพิษของปีที่ผ่านมาต่อประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ภายในเดือนตุลาของทุกปี เพื่อที่จะให้ประชาชนได้ประเมินถึงความเสี่ยงของมลพิษที่มีต่อตนเองและสิ่งแวดล้อมได้ต่อไป 

ปัจจุบันมีประเทศกว่า 50 ประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมาย PRTR แล้ว ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ต่างเห็นพ้องต้องใจกันว่าการบังคับเปิดเผยข้อมูลของสารเคมีและการปล่อยมลพิษเป็นการสร้างประโยชน์แก่สาธารณชนมากกว่า 

ตามที่กล่าวไปตอนต้นแล้วว่ากฎหมายนี้ไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ประชาชนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ภาครัฐและภาคเอกชนเองก็จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าวด้วย ด้วยเหตุนี้ คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า การมีกฎหมาย PRTR เห็นจะมีก็แต่ประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน และไม่ได้ไปลดทอนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วย 

คงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องช่วยกันสนับสนุนให้กฎหมาย PRTR นั้นเป็นจริงเสียที มาเป็นหนึ่งเสียงเพื่อช่วยสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลมลพิษได้ที่ https://thaiprtr.com โดยทุก ๆ หนึ่งเสียงของท่านเป็นพลังสำคัญอย่างมากต่อการเสนอร่าง พ.ร.บ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ 

เราในฐานะภาคประชาชนก็สามารถมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เพื่ออนาคตสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อสังคมไทยที่ดีขึ้น ด้วยสองมือของเรา!    

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ