นับตั้งแต่ปี 2552 ที่เกิดข่าวใหญ่โดยพรานป่าเข้ามาลักลอบล่าสัตว์เพื่อเอาไปทำเมนู ‘ส้มค่าง’ เปิบพิศดารเชื่อว่าเป็นยาบำรุงชั้นดีในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จนถึงวันนี้เหตุการณ์นั้นผ่านมากว่าทศวรรษเข้าไปแล้ว
ถึงแม้ว่ากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เคยออกมาชี้แจงเพื่อให้ประชาชนเห็นถึงอันตรายของการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าและส้มค่าง หรืออีกหลายเมนูสัตว์ป่า และรณรงค์ให้กลุ่มที่ยังชอบบริโภคเมนูสัตว์ป่าเหล่านี้เปลี่ยนค่านิยมใหม่ก็ตาม เราก็ยังเห็นข่าวการละเมิดกฎหมายด้านการคุ้มครองสัตว์ป่าออกมาอยู่เรื่อย ๆ
เหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2566 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เข้าจับกุมกลุ่มพรานป่าที่เข้ามาลักลอบล่าสัตว์ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยพิทักษ์ป่าไซเบอร์ และหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยอีซะ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และข้อมูลจากสายข่าวในพื้นที่ยังแจ้งเข้ามาอีกว่า มีการนำซากค่าง ซึ่งแปรรูปเป็นส้มค่าง ออกมาจำหน่ายในพื้นที่ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
จากการเปิดเผยข้อมูลจากนายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 พบของกลางที่เป็นซากของสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก และอาวุธปืนครบครัน จับกุมผู้กระทำผิดได้ 1 ราย ผู้หลบหนี 1 ราย และเสียชีวิต 1 ราย
ในพื้นที่เกิดเหตุพบของกลาง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ประกอบด้วย
ค่างแว่นถิ่นเหนือ (Trachypithecus crepusculus)
- ซากค่าง จำนวน 3 ซาก น้ำหนัก 23.9 กิโลกรัม
- ซากค่างรมควัน จำนวน 1 ซาก น้ำหนัก 1.1 กิโลกรัม
- ซากชิ้นส่วนค่างรมควัน จำนวน 20 ชิ้น น้ำหนัก 830 กรัม
ส้มค่าง จำนวน 3 ถุง น้ำหนัก 60 กิโลกรัม
พญากระรอกดำ (Ratufa bicolor) จำนวน 1 ซาก น้ำหนัก 760 กรัม
ลิงลม หรือ นางอาย (Nycticebus coucang) จำนวน 1 ซาก น้ำหนัก 300 กรัม
จากข้อมูลพบว่า การนำส้มค่างไปขายจะขายได้ในราคา กิโลกรัมละ 550 – 600 บาท ซึ่งหากขายได้ทั้งหมด จะได้เงินประมาณ 33,000 – 36,000 บาท หรือตกคนละ 11,000 – 12,000 บาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมซากรมควัน ซากพญากระรอกดำ และซากลิงลม
ผู้กระทำผิดถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ฐานความผิด ประกอบด้วย
1. ฐาน “ร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ตามมาตรา 12
2. ฐาน “ร่วมกันมีสัตว์ป่าคุ้มครองหรือซากสัตว์ป่าคุ้มครอง” โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงาน เจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 17
3. ฐาน “ร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า” โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 53
4. ฐาน “ร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า” โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 54
5. ฐาน “ร่วมกันเก็บหา และกระทำการใดๆทำการให้เสื่อมสภาพซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า” ตามมาตรา 55 (5) และ 6. มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ฐาน “ร่วมกันเก็บหาของป่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ” ตามมาตรา 14 (1)
โดยมีอัตราโทษที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ดังนี้
ความผิดฐานล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดฐานร่วมกันมีสัตว์ป่าคุ้มครองหรือซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดฐานร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดฐานร่วมกันเก็บหา และกระทำการใด ๆ ทำการให้เสื่อมสภาพซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ในอดีตการล่าสัตว์ป่าเป็นไปเพื่อการดำรงชีวิต ล่าสัตว์เพื่อนำไปประกอบอาหารแบ่งกันกินในครอบครัว ญาติ พี่น้อง หรือแจกจ่ายกับคนในชุมชน แต่ปัจจุบันการล่าสัตว์ป่าเพื่อการบริโภคเนื้อกลับไม่ลดลงเลย
และการล่าสัตว์จำนวนมากขนาดนี้ยังเป็นการล่าเพื่อดำรงชีพอยู่หรือไม่?
การรับประทานเนื้อค่างหรือสัตว์ป่าไม่ได้ทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ แต่ในทางตรงกันข้ามทำให้เกิดอันตรายด้วยซ้ำ เพราะในเนื้อค่างหรือเนื้อสัตว์ป่ามีเชื้อโรคต่าง ๆ มากมาย โดยโรคที่เกิดจากค่าง เช่น เริม พิษสุนัขบ้า โรคจากเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย รวมไปถึงทำให้เกิดอาการท้องร่วงท้องเสียด้วย และที่ผ่านมาก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตมาแล้ว ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการพิสูจน์แน่ชัดว่าเกิดจากการรับประทานเนื้อค่างก็ตาม
เรื่อง ชฎาภรณ์ ศรีใส