ความลิงยังไม่ทันหาย ความอีกัวน่าก็เข้ามาแทรก หรือลพบุรีจะไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับคนอีกต่อไป

ความลิงยังไม่ทันหาย ความอีกัวน่าก็เข้ามาแทรก หรือลพบุรีจะไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับคนอีกต่อไป

ไม่เกินจริงหากจะกล่าวว่า “ความลิงยังไม่ทันหาย ความอิกัวน่าก็เข้ามาแทรก” เพราะนอกจากลพบุรีจะมีเจ้าถิ่นอย่าง ลิง ครองเมืองอยู่แล้วนั้น ตอนนี้ยังมีอีกัวน่าบุกเมืองมาเพิ่มอีก หรือจังหวัดลพบุรีจะไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับคนอีกต่อไป

จากการที่มีผู้ร้องเรียนว่าพบอีกัวน่าเขียว แพร่กระจายพันธุ์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.ดีลัง และ ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 

โดยพวกมันได้สร้างปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ทั้งเข้าไปกัดกินพืชผลทางการเกษตร และสร้างความเดือดร้อนรำคาญ จนทำให้ประชาชนหลายคนทนไม่ไหว รุดเข้าร้องเรียนหน่วยงานภาครัฐให้เร่งเข้ามาจัดการโดยด่วน

หลังจากได้รับการร้องเรียนเข้ามา ทำให้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้พืชผลทางการเกษตรของประชาชนได้รับความเสียหายไปมากกว่านี้ 

ถัดมานายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงอันตรายของอีกัวน่าเขียว ว่า พวกมันเป็นสัตว์กลุ่มกิ่งกา ซึ่งมักจะพบเชื้อซาลโมเนลลา ที่อาจส่งผลอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ หากไปสัมผัสตัวอีกัวนาหรือของเสียที่พวกมันขับถ่ายออกมา 

ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณที่ได้รับร้องเรียน เพื่อประเมินสถานการณ์ 

พบอีกัวน่าจำนวนหลายตัว อาศัยอยู่ตามต้นไม้ มีทั้งเพศผู้และเพศเมีย โดยพวกมันมีขนาดตัวแตกต่างกันตามช่วงวัย ตั้งแต่ 10-20 ซม. จนถึง 30-40 ซม. ส่วนน้ำมากกว่า 10 กิโลกรัมขึ้นไป 

ทั้งนี้ทีมแพทย์ได้เข้าพื้นที่ทำการหาเชื้อปนเปื้อน ด้วยการเก็บตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบบริเวณดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ตลอดจนทำการจับพวกมัน ส่งกลับไปยังศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก ให้ดูแลต่อไป

ทำไมเราถึงไม่ควรปล่อยอีกัวน่าให้หากินต่อไป?

ทุกท่านต้องทราบก่อนว่าอีกัวน่าเขียว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Iguana iguana) ไม่ใช่สัตว์ท้องถิ่นของไทยแต่อย่างใด บ้านเกิดของพวกมันอยู่ที่ป่าเขตร้อนในแถบ อเมริกากลาง อเมริกาใต้  และหมู่เกาะแคริบเบียน ดังนั้น พวกมันคือ เอเลี่ยนสปีชีส์  (Alien Species) โดยแท้จริง

ปกติแล้วอีกัวน่าเขียวจะอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ และมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 20 ปี พวกมันกินพืชและสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร โดยวัยเด็กจะกินแมลงเป็นอาหาร ด้วยเหตุนี้เอง เมื่ออีกัวน่าบุกเมืองลพบุรีครั้งนี้ พวกมันจึงกินพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านเสียหาย เพราะพวกมันไม่สามารถหาแหล่งอาหารตามธรรมชาติได้นั่นเอง 

ความน่ากลัวของเอเลี่ยนสปีชีส์ คือ พวกมันจะเข้าทำลายและรุกรานระบบนิเวศท้องถิ่นจนอาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนในธรรมชาติมากมาย อาทิ พืชบางชนิดหายไป สัตว์บางชนิดสูญพันธุ์ เป็นต้น

ช่วงโตเต็มวัย พวกมันจะเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ระดับเรือนยอด ส่วนวัยอ่อนจะอยู่ตามกิ่งไม้ที่ต่ำลงมา โดยพวกมันมักจะเกาะตามจุดที่แสงแดดส่องถึง และจะไม่ค่อยลงจากต้นไม้เท่าไหร่ หากพบเห็นพวกมันข้างล่าง เราสามารถอนุมานได้ว่า มันคือเพศเมียที่ลงมาวางไข่ 

ต้นตอของสาเหตุที่ว่าอีกัวน่าที่มาบุกเมืองพวกนี้มีที่มาจากที่ไหนกันแน่ เจ้าหน้าที่คาดว่า พวกมันน่าจะหลุดมาจากโรงแรมร้างในพื้นที่ ประกอบกับการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วของพวกมัน จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างจริงจัง 

สถานะทางกฎหมายของอีกัวน่าเขียว

อีกัวน่าทุกชนิดในสกุล Iguana เป็นสัตว์ป่าควบคุมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าควบคุม พ.ศ.2565 ที่ออกตามพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 9 

หากผู้ใดครอบครองต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ ถ้าหากปล่อยสัตว์ป่าควบคุมจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากไม่ประสงค์เลี้ยงแล้ว ให้ส่งมอบกรมอุทยาน ส่วนใครพบเห็นเห็นอีกัวนาเขียว ให้โทรแจ้งสายด่วนหมายเลข 1362 เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการต่อทันที 

ประเทศไทยเองได้เล็งเห็นความอันตรายที่เกิดขึ้นจากอีกัวน่าเขียว หากหลุดออกมาสู่ธรรมชาติ จึงมีมาตราการการควบคุมประชากรอีกัวน่าเขียว โดยมีการประกาศห้ามนำเข้าอีกัวน่าเขียวเข้าประเทศ 

ทางจังหวัดได้ยกให้ประเด็นการบุกรุกของอีกวัน่าเป็นปัญหาเร่งด่วน ที่ต้องทำงานร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี และปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี ร่วมลงพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อสำรวจจำนวนอีกัวน่าต่อไป

แม้ว่าอีกัวน่าจะไม่ใช่สัตว์ดุร้ายหรือทำร้ายมนุษย์ แต่พวกมันถือเป็นสัตว์ต่างถิ่น ดังนั้น เพื่อรักษาระบบนิเวศท้องถิ่นไว้ เราต้องเร่งรุดจัดการการรุกรานของพวกมันโดยด่วนที่สุด 

อ้างอิง

ภาพประกอบ 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ