เราได้ทราบเหตุผลด้านการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไปแล้ว ในบทความชวนอ่านนิเวศลำธารกับหมหมอง
แต่เหตุผลในเชิงนโยบายก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง
อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยกเหตุผลด้านนโยบายขึ้นมาพูดในงานเสวนา ‘นิเวศลำธาร’ กับหมอหม่อง ในวันที่ 28 ตุลาคม 2566
นโยบายป่าไม้แห่งชาติ ระบุว่า “ป่าอนุรักษ์ กำหนดไว้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งป้องกันภัยธรรมชาติต่าง ๆ และรักษาสภาพธรรมชาติที่สวยงามหรือมีจุดเด่นเฉพาะตัว ตลอดทั้งเพื่อประโยชน์ในการศึกษาการวิจัยและนันทนาการ หรือเขตพื้นที่อื่นใดที่มีคุณค่าทางธรรมชาติหรือคุณค่าอื่น อันควรแก่การอนุรักษ์หรือรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ”
และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ได้กำหนดเป้าหมายพื้นที่ป่าไม้ที่ควรมีไว้ในส่วนของ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยกำหนดเป้าหมายพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ โดยแบ่งเป็นสัดส่วนพื้นที่สีเขียว พื้นที่ที่เป็นป่าธรรมชาติ ร้อยละ 35 พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ เพื่อการใช้ประโยชน์ ร้อยละ 15 และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท ร้อยละ 5
“แม้ยุทธศาสตร์ 20 ปี จะมีการกำหนดเป้าหมาย จะต้องมีพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ แต่ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาพื้นที่ป่าประเทศไทยเรายังไม่เคยไปถึงร้อยละ 40 เลยด้วยซ้ำ หากดูจากกราฟ” (อรยุพา สังขะมาน, 2566)
จากข้อมูลของ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ปี 2562 ประเทศไทยมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 12,405 โครงการ มีความจุรวม 79,753 ล้านลูกบาศก์เมตร
โดยแบ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ 40 โครงการ โครงการขนาดกลาง 968 โครงการ โครงการขนาดเล็ก 11,397 โครงการ
มีการคาดการ ความต้องการน้ำ ปี 2580 น้ำท่าธรรมชาติ 213,423 ล้านลูกบาศก์เมตร ความต้องการน้ำ (รวมนิเวศ ) 156,820 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำที่จัดการได้ 111,620 ล้านลูกบาศก์เมตร ความต้องการที่ยังขาด 45,200 ล้านลูกบาศก์เมตร
หากดูตัวเลขความต้องการน้ำอุปโภค บริโภค ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่มีจุดที่สิ้นสุด ป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพถูกใช้ไปเพื่อตอบสนองต่อความต้องการ
ณ ปัจจุบัน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และการสูญความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นปัญหาที่จะต้องมีการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นไม่สามารถแก้ไขได้โดยประเทศประเทศหนึ่งเพียงลำพัง ประเทศไทยจึงได้มีการเข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นำด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use) เพื่อแสดงออกถึงความตั้งใจของประเทศไทยที่จะหยุดยั้งการสูญเสียป่าไม้และความเสื่อมโทรมของที่ดิน สร้างความสมดุลระหว่างการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และรักษาไว้ซึ่งการบริการของระบบนิเวศ ร่วมกับ 143 ประเทศ
ปฏิญญากลาสโกว์มีวัตถุประสงค์ ในการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการป่าไม้ความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน รวมทั้งแสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพื่อลดการสูญเสียป่าไม้และความเสื่อมโทรมของที่ดินภายในปี พ.ศ. 2573 ตลอดจนเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน
นอกจากเรื่องปฏิญญากลาสโกว์ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การกล่าวถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของไทยที่จะดำเนินการร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับผู้มีส่วนได้เสีย และประชาคมระหว่างประเทศ โดยไทยได้ดำเนินการตามคำมั่นที่ได้ประกาศในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (UNFCC COP26) อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการปรับปรุงแผนพลังงานแห่งชาติเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนการเตรียมการยกเลิกการผลิตพลังงานโดยใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน การปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง การเพิ่มสัดส่วนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารวมถึงการสนับสนุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา การกำหนดโครงสร้างราคาไฟฟ้าสีเขียว รวมถึงการปรับตัวไปสู่การเกษตรยั่งยืน และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว
ทั้งนี้ ยังผลักดันกลไกการเงินสีเขียวผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน และพัฒนา Sustainabilty-linkedBond ตลอดจนออกพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคบังคับ ซึ่งจะสนับสนุนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อประชาชน
ไม่เพียงแต่เหตุผลที่นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปกล่าวถ้อยแถลง และคำมั่นสัญญาเท่านั้น พื้นที่ที่จะมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ ยังเป็นพื้นที่ที่ถูกขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลก ดังนั้น มติของคณะกรรมการมรดกโลกจึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง โดย มติคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้ง ที่ 44 วาระที่ 77B.97 ในประเด็นสถานภาพการอนุรักษ์ของแหล่งที่ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
มีมติเน้นย้ำให้ยกเลิกแผนการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำภายในพื้นที่มรดกโลกอย่างถาวร
เนื่องจากได้รับรายงาน ว่ามีการพัฒนาโครงการเขื่อนหลายโครงการในพื้นที่ และบริเวณใกล้เคียง
และให้ดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (StrategicEnvironmental Assessment: SEA) สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมถึงแหล่งมรดกโลก เพื่อรายงานแผนการจัดการและแผนการพัฒนาในอนาคตของพื้นที่ลุ่มน้ำ และสำหรับข้อเสนอโครงการก่อสร้างเขื่อนโดยรอบพื้นที่แหล่งมรดกโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ให้ระงับการดำเนินการจนกว่า SEA จะแล้วเสร็จ และได้รับการตรวจสอบโดยศูนย์มรดกโลก และ IUCN
และมติคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้ง ที่ 45 วาระการประชุมที่ 77B รายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 77B.19
รับทราบว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนทั้งหมดที่เสนอภายในพื้นที่และที่ติดกับขอบเขตของแหล่งมรดกโลก ถูกระงับชั่วคราวจนกว่าการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับแหล่งมรดกโลกและพื้นที่ลุ่มน้ำจะดำเนินการแล้วเสร็จ และย้ำถึงคำกล่าวก่อนหน้าเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ในแหล่งมรดกโลกนั้นไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสถานะมรดกโลก และให้รัฐภาคีดำเนินการดังต่อไปนี้
A ขอข้อมูลวิชาการในการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) จาก IUCN
B ยกเลิกแผนการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำภายในพื้นที่แหล่งมรดกโลกโดยไม่เกี่ยวข้องกับการประเมินระดับยุทธศาสตร์
C สร้างความเชื่อมั่นว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนโดยรอบแหล่งมรดกโลกยังคงถูกระงับจนกว่าผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) จะได้รับการตรวจสอบโดย IUCN เพื่อเป็นการประเมินผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ของแหล่งมรดกโลก
อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อเป็น 1 ใน 7 อ่าง ที่มีแผนจะสร้างรอบแหล่งมรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ มีความจุ 85.31 ล้านลูกบาศก์เมตร ความยาวสันเขื่อน 705 เมตร ความสูงเขื่อน 80 เมตรจะใช้พื้นที่ทั้งหมด 1,853 ไร่ เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 1,116 ไร่ คิดเป็น 0.03% ของพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
จากตาราง คือ พื้นที่ทั้งหมดที่เราจะสูญเสีย หากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ ทั้ง 7 อ่าง โดยแบ่งเป็น
พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 8,245.57 ไร่
พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 1,741.53 ไร่
พื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา 4,579 ไร่
พื้นที่สำรวจสิทธิ 1,371.27 ไร่
รวมพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทั้งหมด 15,937.37 ไร่
พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,295.36 ไร่
พื้นที่ป่าคุ้มครอง 502 ไร่
พื้นที่อื่นๆ นอกเขตอุทยาน นอกเขตป่าสงวน นอกเขตป่าคุ้มครอง 300.15 ไร่
การเข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ การมีเป้าหมายของนโยบายป่าไม้แห่งชาติ การกล่าวถ้อยคำแถลงของผู้นำประเทศ รวมถึงข้อห่วงกังวลจากมติของคณะกรรมการมรดกโลก ล้วนมีเป้าประสงค์ให้การพัฒนา ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เกิดความยั่งยืนและมั่นคง ที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน (Present Generation) โดยไม่สูญเสียความสามารถในการพัฒนาของคนรุ่นอนาคต (Future Generation) (คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม, 2560)
แต่ประเทศไทยยังคงมีการพัฒนาที่ยังใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่ขัดแย้งกับนโยบายและถ้อยแถลงของตัวเอง
ความย้อนแย้งระหว่างนโยบาย และสถานการณ์การพัฒนา ปรากฏให้เห็นผ่านโครงการที่มีแผนจะสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่แหล่งมรดกโลก ทั้งๆ ที่โดยยุทธศาสตร์ศาสตร์ 20 ปี กำหนดเป้าหมายพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ
ในขณะที่ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ถูกใช้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด คงจะปฏิเสธไม่ได้ทุกวันนี้ ความต้องการน้ำ อุปโภค บริโภค ทั้งภาคเกษตร และ อุตสาหกรรม นั้นเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สมดุลธรรมชาติแห่งฤดูกาลผิดเพี้ยน ต้นน้ำลำธารถูกทำลาย แหล่งน้ำต่างๆ หาได้ยากยิ่งขึ้น การสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอาจไม่ใช่คำตอบ ที่เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน
“เราต้องไม่สิ้นคิด พึ่งพาเทคโนโลยีเดิมๆ อายุ 100 ปี อย่างการสร้างเขื่อนในป่าอีกแล้ว เราจะต้องหาวิธี การจัดการน้ำใหม่ที่เหมาะสมกับ สภาพการณ์และยุคสมัย” (นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์, 2566)
อ้างอิง
- Seven sins of dam building
- มติประชุมมรดกโลก 44
- มติประชุมมรดกโลก 45
- ครม.เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นำด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน หวังหยุดยั้งการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ภายในปี 2573 พร้อมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน
- ครม.มีมติเดินหน้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ มุ่งมั่นหยุดยั้งการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ ภายในปี 2573 และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน
- นายกรัฐมนตรีประกาศความมุ่งมั่นของไทยในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภาพภูมิอากาศพร้อมกับประชาคมโลกในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ
- นโยบายป่าไม้แห่งชาติ
- หนังสือ Environmental Justice ความยุติธรรมทางสื่งแวดล้อม ของคนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม
- หนังสือ อุทยานแห่งผืนดิน ของกุนนาร์ รุนด์แกรน
ผู้เขียน
มนุษย์ผู้ใช้ชีวิตแบบเงียบๆ ที่หวานแบบเหงาๆ เศร้าแบบอุ่นๆ บางครั้งก็ใต้แสงดาว บางคราวก็ใต้แสงเทียน