สืบพยานคดีบริษัทเหมืองหินฟ้องชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดขัดขวางการย้ายกองแร่หิน

สืบพยานคดีบริษัทเหมืองหินฟ้องชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดขัดขวางการย้ายกองแร่หิน

‘ผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิฯยืนยันในชั้นสืบพยาน ชุมนุมสาธารณะเพื่อปกป้องทรัพยากรฯ ไม่กีดขวางการสัญจร หรือกีดขวางการขนย้ายสินแร่หากบริษัทเหมืองหินดงมะไฟมีเอกสารแสดงสิทธิในการขนย้าย ขณะที่ศาลนัดฟังคำพิพากษา 30 มกราคม 2567’

8-9 พฤศจิกายน 2566 ผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กว่า 30 คน เดินทางมายังศาลจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อให้กำลังใจ 3 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ และร่วมรับฟังการสืบพยาน ในคดีที่นายธีรสิทธิ์ ตรีวัฒนสุวรรณ เจ้าของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องปิดปากคดีแพ่ง เพื่อหวังให้ยุติการเคลื่อนไหวปักหลักชุมนุม 

โดยอ้างว่าการชุมนุมได้ทำการก่อสร้างสิ่งกีดขวาง กางเต็นท์ที่พัก ขวางเส้นทางขนแร่ และขัดขวางไม่ให้บริษัทฯ สามารถขนย้ายกองแร่หินปูนที่บริษัทได้ดำเนินการไว้ต่อ 3 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ที่ใช้สิทธิเสรีภาพที่กระทำได้ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะและรัฐธรรมนูญในการชุมนุมตั้ง “หมู่บ้านฮวกพัฒนา ชาวประชาสามัคคี” อยู่ที่บริเวณถนนเพื่อการเกษตรใช้ร่วมกัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่สามารถเข้าไปยังภูผาฮวกหรือพื้นที่เคยขอประทานบัตรที่ 27221/15393 เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) พร้อมข้อเรียก 3 ข้อ คือ ปิดเหมืองหินและโรงโม่ ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดี เพื่อเป็นเครื่องมือในการแสดงเจตจำนงค์ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและคัดค้านการทำเหมืองหินในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2563 – ปัจจุบัน

โดยในการสืบพยานผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิฯ ได้ให้ถ้อยคำศาล 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. การชุมนุมสาธารณะตั้ง “หมู่บ้านฮวกพัฒนา ชาวประชาสามัคคี” ไม่ได้รบกวนหรือกีดขวางการสัญจรของชาวบ้านหรือบุคคลอื่นที่ใช้ถนนในการสัญจร เพราะประชาชนในพื้นที่ยังสามารถใช้ถนนในการสัญจรได้ตามปกติ และยังเคยมีบริษัทผู้รับเหมาเครื่องโม่หินได้เดินทางมาแจ้งว่าจะเข้าไปนำขนเครื่องโม่หินออกจากพื้นที่เคยขอประทานบัตรทำเหมืองและโรงโม่หิน ผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิฯ ก็ทำการเคลื่อนย้ายเต็นท์และสัมภาระต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนย้ายเครื่องโม่หินได้ขับออกมาจากพื้นที่

2. ผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิฯ ไม่เคยขัดขวางการขนแร่และนายธีรสิทธิ์ ตรีวัฒนสุวรรณ เจ้าของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ไม่เคยแจ้งและแสดงหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันมีสิทธิในกองสินแร่ที่กองอยู่บริเวรเขตโรงโม่หิน เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ว่า การได้มาซึ่งประทานบัตรไม่ชอบด้วยกฎหมายตามกระบวนการขั้นตอนการขอต่ออายุใบอนุญาตประทานบัตร นั้นย่อมหมายรวมถึงกองแร่หินที่อยู่ในบริเวณเขตโรงโม่หินและแร่หินทั้งหมดที่ได้มาจากการทำเหมืองของประทานบัตรดังกล่าวก็ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสถานะของกองสินแร่ในพื้นที่เขตโรงโม่หินก็ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นของภาครัฐหรือบริษัทฯ

3. การปักหลักชุมนุมของผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิฯ เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชน เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นการชุมนุมแบบสันติและปราศจากอาวุธโดยมีการแจ้งชุมนุมตามกฎหมาย

ภายหลังจากสืบพยานเสร็จสิ้นศาลจังหวัดหนองบัวลำภูได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 มกราคม 2567 เวลา 09.00 น.

ทั้งนี้ระหว่างวันนัดสืบพยานได้มีเจ้าหน้าที่นิติกร นักวิชาการยุติธรรมและพนักงานคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจากสำนักงานยุติธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู จำนวน 3-4 คน มาร่วมสังเกตการณ์คดีของ 3 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในช่วงเช้าของทั้ง 2 วัน และได้มีการแจ้งความคืบหน้าถึงการขอสนับสนุนจากกองทุนยุติธรรม เช่น ค่าทนายความและค่าเดินทางของ 3 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ว่าทางสำนักงานยุติธรรมประจำจังหวัดหนองบัวภูได้มีการประชุมและมีมติให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาที่ส่วนกลาง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 แต่ไม่สามารถนำเรื่องเข้าพิจารณากองทุนของส่วนกลางได้ทันในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 และจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาได้อีกครั้งในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566

ผลแห่งคดีนี้จะเป็นอีกหนึ่งบรรทัดฐานสำคัญ ต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการปกป้องสิทธิ ปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ในวันที่ 30 มกราคม 2567 กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ – ผาจันได จึงขอให้ทุกคนร่วมติดตามผลของคำพิพากษาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

รายงานโดย กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จ.หนองบัวลำภู