“เมื่อความก้าวหน้าทางอาชีพ ถูกกำหนดได้ด้วยเงิน ความสามารถยังจำเป็นอยู่มั้ยในหน่วยงานราชการ”
วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2566 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจัดเวทีเสวนา “ส่วยสินบน บทเรียนกรมอุทยานฯ บทเรียนข้าราชการไทย” โดยเนื้อหาเชื่อมโยงมาจากเหตุการณ์ที่ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถูกกล่าวหาว่าเรียกรับเงินการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งจากผู้ใต้บังคับบัญชาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ซึ่งนับเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างมากของหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่ปกป้อง ดูแลผืนป่า และสัตว์ป่า
เวทีเสวนาที่จัดขึ้นนี้มี นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นผู้ดำเนินรายการ และได้รับเกียรติจาก นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายสมปอง ทองสีเข้ม อดีตผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาเป็นผู้ร่วมวงเสวนาในครั้งนี้
สถานการณ์ภาพรวมของเหตุการณ์
อ.ศศิน ได้เกริ่นนำถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยไล่เรียงถึงโครงสร้างขององค์กรและการทำงานของกรมอุทยานฯ รวมถึงการแต่งตั้งตำแหน่งต่าง ๆ ภายในกรมฯ ซึ่งอ.ศศินได้เผยแพร่ตัวเลขของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติในสำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด 21 สำนัก และได้มีการเปลี่ยนแปลงและโยกย้ายรวมทั้งสิ้น 80 คน จากทั้งหมด 134 คน ในช่วงปี 2564 และ 2565 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงพอสมควร โดยการโยกย้ายภายใต้การทำงานของนายรัชฎานั้นเกิดขึ้นตลอดทั้งปี และคิดเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนหัวหน้าอุทยานฯ ทั้งหมด
ในปัจจุบันการซื้อขายตำแหน่งนั้นไม่ได้เกิดกับแค่บางตำแหน่ง ทว่ากลับสามารถซื้อขายได้ทุกตำแหน่ง ตามคำสั่งรวมที่ให้ข้าราชการกลับตำแหน่งต้นสังกัดได้ หากมีคำสั่งให้คนใหม่มา ซึ่งในหน่วยงานราชการมีช่องโหว่มากมายในการทำงานและในความก้าวหน้าทางอาชีพ อย่างงานบางตำแหน่งที่ทำงานน้อยแต่ได้เงินเยอะ จึงอาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้เกิดการทุจริตขึ้นได้
ประธานมูลนิธิสืบฯ ให้ข้อเสนอแนะว่าควรแบ่งการรับผิดชอบออกเป็นสองส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรก ต้องคืนความชอบธรรมแก่ข้าราชการที่ถูกโยกย้ายภายใต้การทำงานของอธิบดีที่ถูกกล่าวหา และส่วนที่สองคือ การทำ ‘เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ’ (career path) เพื่อนำไปสู่ความชัดเจนในการทำงาน ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการทำงานในระบบราชการ
เบื้องหลังการโยกย้ายตำแหน่งในกรมอุทยานฯ
อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้เปิดประเด็นด้วยการกล่าวถึงการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในกรมฯ โดยเน้นย้ำไปถึงผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง (ระดับ C9 ขึ้นไป) ซึ่งนายดำรงเชื่อว่าปลัดกระทรวงอาจไม่ได้มีอำนาจมากพอที่จะแต่งตั้งใครก็ได้เข้ามาทำงาน อาจมีบุคคลที่มีตำแหน่งหรืออำนาจสูงกว่าปลัดกระทรวงเป็นคนจัดการเรื่องนี้อยู่ก็เป็นได้
นอกจากนี้ นายดำรงยังตำหนิถึงการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานในระบบราชการ เนื่องจากบางครั้งการคัดเลือกบุคคลในบางตำแหน่ง ไม่ได้มีคุณสมบัติมากพอสำหรับดำรงตำแหน่งนี้ ยกตัวอย่างเช่น บางคนไม่เคยทำงานในพื้นที่อนุรักษ์ แต่ได้มาดำรงตำแหน่งในพื้นที่อนุรักษ์
นายดำรง กล่าวต่อถึงเหตุการณ์ที่อธิบดีกรมอุทยานฯ ตกเป็นข่าวว่า มันได้สร้างผลกระทบต่อระบบราชการเป็นอย่างมาก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ภาคประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจต่อการทำงานของกรมอุทยานฯ ตลอดจนการทำงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย
ท้ายที่สุด นายดำรง ได้เน้นย้ำถึงจุดยืนการทำงานในระบบราชการ และการทำงานด้านการอนุรักษ์ของหน่วยงานต่าง ๆ ว่า “งานบริหารบุคคลก็สำคัญ หากปล่อยปะละเลยกับการเลือกบุคคลเข้ามาทำงาน มันก็อาจจะส่งผลต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย”
การบริหารและจัดการงบประมาณของกรมอุทยานฯ
สมปอง ทองสีเข้ม อดีตข้าราชการกรมอุทยานฯ ได้ให้ข้อมูลถึงโครงสร้างของกรมฯ ว่าภายในมีการแบ่งแยกย่อยหน่วยงานหลักและหน่วยงานเสริม ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบแตกต่างกันไปตามงานของแต่ละส่วน พร้อมโยงไปถึงประเด็นการแจกจ่ายงบประมาณภายในกรมอุทยานฯ ว่า ปัจจุบันงบประมาณส่วนใหญ่ไปอยู่กับหน่วยงานเสริมแทนที่จะไปอยู่ที่หน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ดูแลพื้นที่อนุรักษ์ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หน่วยงานหลักขาดคนเข้ามาทำงานหรือเข้ามาดูแลพื้นที่ต่าง ๆ นายสมปองกล่าวว่า หากยังเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ การทำงานในพื้นที่อนุรักษ์ก็จะยิ่งยากลำบากมากขึ้น
“เมื่อเทียบงบประมาณของกรมอุทยานฯ กว่า 11,000 กว่าล้าน กับบุคลากรของกรมอุทยานฯ เกือบ 4 หมื่นคน สำหรับการดูแลรักษาผืนป่ากว่า 73.6 ล้านไร่นั้น ค่อนข้างจะเพียงพอดีแล้ว เพียงแต่กรมอุทยานฯ ต้องมีการปรับเปลี่ยนการจัดสรรและการบริหารจัดการทั้งบประมาณและบุคลากร”
ตามที่คุณสมปองกล่าวไปข้างต้นว่า งบประมาณส่วนใหญ่ของกรมอุทยานฯ นั้นไปกองอยู่กับหน่วยงานย่อยมากกว่าหน่วยงานหลัก ส่งผลให้เกิดผลเสียหายต่าง ๆ ตามมา
ความคืบหน้าและกลไกในการจัดการกับคดีความ
นายนิวัติไชย ได้มากล่าวถึงกระบวนการทำงานของป.ป.ช. จากเหตุการณ์เรียกรับส่วยที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ได้เริ่มมีการพิจารณาขยายผลและเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องตามบัญชีรายชื่อหรือชื่อที่ปรากฎในซองสินบน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประสานงานกับกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) โดยผู้บังคับการได้นำตัวนายรัชฎาและพยานหลักฐานทั้งหมดมาส่งมอบให้แก่คณะกรรมการป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
อย่างไรก็ดี คดีส่วยสินบนในครั้งนี้ ทางป.ป.ช.จะรับหน้าที่ในการดูแลไต่สวนเอง และจะมีการแต่งตั้งกรรมการไต่สวนคดี เพื่อทำการพิจารณาเบื้องต้นในการควบคุมตัวหรือประกันตัว
นายนิวัติไชยย้ำว่าในกรณีที่มีหลักฐานในการเอาผิดชัดเจนแบบนี้ คาดว่าจะดำเนินการเสร็จไม่เกิน 1 ปี หรือเร็วกว่านั้น
นอกจากนี้ นายนิวัติไชย เผยอีกว่า การทุจริตนั้นไม่ได้มีแค่กรมอุทยานฯ เพียงที่เดียว ยังมีอีกหลายหน่วยงานดำเนินการแสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณ โดยการจัดสรรงบประมาณเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในทางที่มิชอบก็มักจะมาจากการบริหารของผู้บริหารที่มีการแต่งตั้ง กล่าวคือ การเลือกแต่งตั้งบุคคลที่คาดว่าจะแสวงหาประโยชน์ให้ตนได้มาไว้ในตำแหน่งใกล้ตัว ดังนั้น การได้ผู้บริหารองค์กรที่ดี ก็ย่อมทำให้องค์กรสามารถรักษาวัฒนธรรมอันดีไว้ได้
“การเข้ามาทำงานในหน่วยงานราชการ ทุกคนที่เข้ามาย่อมรู้อยู่แล้วว่างานนั้นมีความก้าวหน้าทางการงานและมีค่าจ้างอยู่ที่เท่าไหร่ ถ้าคิดว่าค่าจ้างนั้นไม่พอดีต่อการใช้ชีวิตก็อย่าทำเสียดีกว่า ดีกว่าการแบ่งเอาเงินงบประมาณมาเป็นส่วนของตน ถ้าวันใดก้าวพลาดขึ้นมาก็อาจเป็นไปตามเหตุการณ์รับส่วยที่ผ่านมาก็ได้ เพราะคดีความมันจะยังคงอยู่ไปตลอด”
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ