การติดตามการเปลี่ยนแปลงประชากร การกระจาย และชนิดพืชอาหารของ ‘ควายป่า’

การติดตามการเปลี่ยนแปลงประชากร การกระจาย และชนิดพืชอาหารของ ‘ควายป่า’

การติดตามการเปลี่ยนแปลงประชากร การกระจาย และชนิดพืชอาหารของควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดย รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์

จากการประชุมหารือการฟื้นฟูประชากร ‘ควายป่า’ และถิ่นอาศัยในประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ การติดตามการเปลี่ยนแปลงประชากร การกระจาย และชนิดพืชอาหารของควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี โดย รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ ศูนย์วิจัยสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติสิทยา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ปัจจุบัน ควายป่าอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ เกิดจากขาดการจัดการแหล่งที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับประชากรควายป่า การผสมพันธุกรรมระหว่างควายป่าและควายบ้าน รวมถึงปัญหาการผสมพันธุ์กันในเครือญาติ ทำให้เกิดปัญหาเลือดชิด (Inbreeding) ตามมา 

ควายป่า จัดเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย มีประชากรหลักที่เหลืออยู่เพียงกลุ่มประชากรเดียว และกลุ่มสุดท้ายในพื้นที่ ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง’ ที่เหลืออยู่เพียง 40-60 ตัว และค่อนข้างคงที่ตั้งแต่การรายงานการพบควายป่าครั้งแรกในปี พ.ศ. 2523 และจากการประเมินอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ตามบัญชี IUCN Red List ซึ่งคาดว่าทั่วโลกมีประชากรควายป่าเหลืออยู่ไม่ถึง 4,000 ตัว 

บันทึกควายป่าในอดีต 

จากบันทึกของหมอบรัดเลย์ ที่เคยเดินทางจากพม่ามายังประเทศไทยในปี พ.ศ. 2413 (ค.ศ. 1870) พบว่าเคยพบเห็นควายป่าลงกินน้ำในช่วงเวลากลางวัน และพบเห็นการต่อสู้ระหว่างควายป่ากับแรดบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับจังหวัดนครสวรรค์ในช่วงเวลากลางคืน 

ในปี พ.ศ. 2513 คณะสำรวจนำโดยคุณผ่อง เล่งอี้ พร้อมทั้งช่างภาพชื่อ คุณชวลิต เนตรเพ็ญ เข้าสำรวจผืนป่าห้วยขาแข้ง และสามารถถ่ายภาพภาพยนตร์ ควายป่าทั้งฝูงเอาไว้ได้ 

ในปี พ.ศ. 2518 Seidensticker and McNeely คณะวิจัยได้เดินสำรวจตั้งแต่หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยไอ้เยาะ พบควายป่า 2 ประชากร ในป่าหญ้ารกทึบใกล้สบห้วยไอ้เยาะ และทางใต้ของลำห้วย หรือบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่ากรึงไกร 

และในปี พ.ศ. 2519 พบเห็นฝูงควายป่าจากเฮลิคอปเตอร์มองลงมา จำนวน 6 ตัว ประกอบด้วยตัวเต็มวัย 5 ตัว และลูกอ่อน 1 ตัว ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันไดลงมาทางทิศใต้ ประมาณ 8 กิโลเมตร 

นอกจากนี้ จากการประชุมที่ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการสำรวจควายป่าในประเทศไทย พบว่าควายป่าเคยพบได้ในพื้นที่หลายแห่งในประเทศไทย แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเท่านั้น 

จากการสำรวจควายป่าในอดีตสู่งานวิจัยในปัจจุบัน 

การกระจายตัวของชนิดพืชอาหารมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงประชากรควายป่า โดยควายป่ามักกินพืชอาหารจำพวกหญ้าและไม้พุ่ม ซึ่งมักพบในพื้นที่ที่มีน้ำชุ่มชื้น เช่น บริเวณลำห้วยหรือพื้นที่ราบลุ่ม จากการสำรวจพื้นที่ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบว่าในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงพืชอาหารจำพวก อ้อ แขม ที่เป็นพืชอาหารหลักของควายป่า ถูกเปลี่ยนเป็นต้นกุ่มแทน และพื้นที่ป่าหลายแห่งถูกน้ำท่วมหรือถูกทำลายจนไม่สามารถเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและอาหารของควายป่าได้ ซึ่งอาจทำให้ควายป่าหาแหล่งอาหารได้ยากขึ้นและอาจส่งผลให้ประชากรควายป่าลดลง  

แนวทางการอนุรักษ์ควายป่า 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ควรมุ่งเน้นไปที่การลดปัจจัยคุกคามต่อประชากรควายป่า ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการล่าสัตว์และการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า การป้องกันการผสมพันธุ์ระหว่างควายป่าและควายบ้าน การปรับปรุงการจัดการพื้นที่ป่าให้เหมาะสมกับความต้องการของควายป่า และการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับควายป่าแก่ประชาชนในพื้นที่  

นอกจากนี้ แนวทางการอนุรักษ์ควายป่าอาจรวมถึงการส่งเสริมให้มีการผสมพันธุ์ระหว่างประชากรควายป่าจากแหล่งต่าง ๆ กัน เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม และลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อีกด้วย 

การอนุรักษ์ควายป่าเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากควายป่าเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทยและมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ โดยแนวทางการฟื้นฟูประชากรควายป่าที่ประชุมหารือร่วมกันในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการอนุรักษ์ควายป่าให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต 

เรียบเรียงจากการประชุมเรื่องแนวทางการฟื้นฟูประชากรควายป่าและถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ณ ห้องประชุมศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์  

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว