บันทึกสรุป เวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นแนวทางแก้ไขปัญหาการครอบครองนกปรอดหัวโขน 

บันทึกสรุป เวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นแนวทางแก้ไขปัญหาการครอบครองนกปรอดหัวโขน 

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับอำเภอจะนะ และชมรมผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จัดประชุมสัมมนาผู้เลี้ยง (นกปรอดหัวโขน) นกกรงหัวจุก ณ ศาลาประชาคม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นแนวทางแก้ไขปัญหาการครอบครองนกปรอดหัวโขน 

โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธาน พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.จ.สงขลา เขต 8 นายชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว สส.จ.สงขลา เขต 4 นายสมยศ พลายด้วง สส.จ.สงขลา เขต 3 ดร.ยูนัยดี วาบา สส.จ.ปัตตานี เขต 3 นายสุไลมาน บือแนปีแน สส.จ.ยะลา เขต 1 นายศาสตรา ศรีปาน สส.จ.สงขลา เขต 2 นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล ชมรมผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และเครือข่ายผู้เลี้ยงนกภาคใต้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร นักวิชาการด้านอนุรักษ์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วม ประมาณ 200 คน 

วัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาในครั้งเพื่อการอนุรักษ์นกปรอดหัวโขนแบบยั่งยืน เพาะพันธุ์นกปรอดหัวโขนได้ถูกวิธี ขยายพันธุ์ได้มากขึ้น ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และระดมความคิดเห็นของสมาชิกในการแก้ปัญหานกปรอดหัวโขน

ข้อมูลประชากรนกปรอดหัวโขน 

– จ.สงขลา 150,000 ตัว 

– อ.จะนะ 130,000 ตัว 

– ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย 1,300 ตัว 

นกปรอดหัวโขน (นกกรงหัวจุก) เป็นที่นิยมเลี้ยงในภาคใต้เนื่องจากมีเสียงร้องไพเราะและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ อีกทั้งกลุ่มผู้เลี้ยงสามารถเพาะพันธุ์นกได้จำนวนมาก จึงผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจและปลด “นกปรอดหัวโขน” จากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ของภาคใต้

ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีกระบวนการส่งเสริมการอนุรักษ์นกปรอดหัวโขนให้กับผู้ที่สนใจเลี้ยง สนับสนุนพ่อแม่พันธุ์ให้ภาคเอกชนสามารถครอบครอง เพาะพันธ์ุ และค้าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงปรับลดขั้นตอนในการอนุญาตครอบครองหรือเพาะพันธุ์

ที่ผ่านมามีการลักลอบจับจากป่าธรรมชาติ พบการกระทำผิดด้านสัตว์ป่าของนกปรอดหัวโขนอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 8 ปี (2555–2563) จำนวน 18,096 ตัว ปี 2564 (โควิด-19) ยึดนกได้ 500 ตัว และในปี 2565 ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ยึดนกได้ 2,380 ตัว และส่วนใหญ่จับได้คือลูกนก

ทั้งนี้มีกลุ่มคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยที่จะปลดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองในการประชุม และได้ให้ความเห็นในที่ประชุมดังนี้

นายวรวัทน์ เพชรมุณี ตัวแทนนกกรงหัวจุก จ.สงขลา ให้ข้อคิดเห็นว่า การเลี้ยงนกปรอดหัวโขนเพื่อการแข่งขันจะช่วยส่งเสริมอาชีพ เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัด ลดการจับนกป่ามาเลี้ยง โดยการเก็บข้อมูลสนามจากในเฟซบุ๊กและประสบการณ์ว่าในประเทศมีมากกว่า 1,000 สนาม 1 สนาม มีเงินหมุนเวียน 10,000 บาท 1 วัน มีเงินหมุนเวียนจากการแข่งขันกว่า 10 ล้านบาท และใน 1 ปี สร้างรายได้กว่า 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมรายได้จากอาหารและอื่นๆเช่น กล้วย หนอนนก กรงนก ฯลฯ

คุณปรินดา ปาลาเร่ ที่ปรึกษาและรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ให้ข้อคิดเห็นว่า

1. คนเลี้ยงนกมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งเลี้ยงเพื่อค้าขายและเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลิน จึงส่งผลให้รายได้ของชาวบ้านก็เพิ่มด้วยเช่นกัน

2. นกในกรงเลี้ยงและที่ได้จากการเพาะเลี้ยงมีมากกว่านกในธรรมชาติ

3. พื้นที่อาศัยและอาหารในธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป

4. มาตราในการรองรับ โดยที่รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนให้กับผู้เพาะพันธุ์เลี้ยงนกปรอดหัวโขน กระบวนการปล่อยคืนสู่ป่า การฟื้นฟูแหล่งอาหารของนกในธรรมชาติ ส่งเสริมให้นกปรอดหัวโขนเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ โดยจัดงบประมาณพ่อแม่พันธุ์ ส่งเสริมในเชิงพาณิชย์แก่กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน (นำร่องในจังหวัดที่เพิ่มมากขึ้นก่อนและทั่วประเทศ) 

นายวิชัย มาเดน อดีตนักข่าวนกกรงหัวจุก ให้ข้อคิดเห็นว่า นกไม่ได้อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ แต่อยู่ที่พื้นที่เมืองและใกล้บ้านคน อีกทั้งเสียงของนกจากธรรมชาติไม่ดีเท่านกจากการเพาะเลี้ยง

นายขุน มั่นคง ตัวแทนผู้เลี้ยงนกจากฟาร์มหาดใหญ่ ให้ข้อคิดเห็นว่า ทำอย่างไรให้นกในธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น การแก้กฎหมายให้ประชาชนมีส่วนในการเพาะขยายพันธุ์และเลี้ยงได้ อีกทั้งลดขั้นตอนในการอนุญาตครอบครองหรือเพาะพันธุ์ให้ง่ายขึ้น การแก้กฎหมายนิรโทษกรรมให้กลุ่มผู้เลี้ยงนกในระหว่างปี 2546 – ปัจจุบัน

นายศราวุธ หมินมั้น ตัวแทนจากสนามแข่ง จ.นครศรีธรรมราช ให้ข้อคิดเห็นว่า นกปรอดหัวโขนสร้างรายได้ให้ประชาชน ใน 1 วัน แข่งกัน 3 รอบ บางคนสามารถผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ส่งลูกหลานเรียน

นายสุรเทพ บุญญวัฒน์วณิชย์ นายกสมาพันธ์ผู้เพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกแห่งประเทศไทย ให้ข้อคิดเห็นว่า การเตรียมข้อมูลการขอปลดนกปลอดหัวโขน ออกจากบัญชี​รายชื่อสัตว์ป่า​คุ้มครอง​ที่สามารถขออนุญาต​เพาะขยายพันธุ์​ได้ เพื่อให้คณะกรรมการสงวนและคุ้มครอง​สัตว์ป่าเห็นชอบในการปลดออก

นายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ข้อคิดเห็นว่า

1. ประชากรของนกปรอด​หัวโขน​ในธรรมชาติ​ลดลง สาเหตุ​หลักมาจาก (1) การนำเอาผลผลิตนกปรอดหัวโขนออกมา เพื่อใช้ประโยชน์ในทุกรูปแบบโดยไม่มีการควบคุม (2) การทำลายที่อยู่อาศัย (3) สภาวะมลพิษ (ยิ่งยอด, 2555) ปัญหาเหล่านี้จะมีการแก้ปัญหา​อย่างไร 

2. การเพาะเลี้ยงนกเพื่อเศรษฐกิจ​ ไม่ใช่แนวทางในการนำมาใช้ฟื้นฟูประชากร​นกในธรรมชาติ​ และอันตรายหากมีการนำไปปล่อยคืน​ธรรมชาติ​ โดยไม่ได้ตรวจสอบพันธุกรรม​ก่อน

3. การปลดออกจากบัญชี​รายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง หากเกิดขึ้น เราจะไม่มีอะไรช่วยคุ้มครองนกปลอดหัวโขน​ในธรรมชาติ​ได้อีก เพราะพื้นที่อาศัยหลักของเขาอยู่บริเวณ​ป่าโปร่ง หรือพื้นที่ใช้ประโยชน์​ของชุมชน ซึ่งอยู่นอกเขตอนุรักษ์​

4. ความพยายามปลดล็อก​ครั้งนี้ หากสำเร็จ​ จะเป็นจุดเริ่มต้นขอการขอปลดสัตว์ป่า​คุ้มครองอื่นๆ ตามมา เช่น สัตว์​นักล่าอย่างเหยี่ยว​ นกกางเขนดง ฯลฯ

ผศ.ดร.สาระ บำรุงศรี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ข้อคิดเห็นว่า ปัญหาหลักคือ ประชาชนที่มีนกอยู่ในครอบครองแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย ไม่สามารถค้าขายได้ และการปลดล็อกนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์คุ้มครองไม่ได้แก้ปัญหาเหล่านี้

1. การคงสถานะการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จะช่วยให้นกปรอดหัวโขนในธรรมชาติไม่สูญพันธุ์

2. การลงทะเบียนนกจะลดการแก้ปัญหาการล่านกออกจากป่าได้ เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อและผู้เลี้ยงว่านกตัวนี้ได้มาอย่างถูกกฎหมาย

3. พันธุกรรรมจากการเพาะเลี้ยงมีความหลากหลายทางพันธุกรรมต่ำกว่านกในธรรมชาติ หากมีการปล่อยนกจากการเพาะเลี้ยงไปในธรรรมชาติโดยไม่ตรวจสอบพันธุกรรม จะส่งผลต่อพันธุกรรมของนกในธรรมชาติอย่างร้ายแรง

สุดท้ายก่อนการปิดประชุมสัมมนาผู้เลี้ยง (นกปรอดหัวโขน) นกกรงหัวจุก หรือเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นแนวทางแก้ไขปัญหาการครอบครองนกปรอดหัวโขน ณ ศาลาประชาคม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ขอยกมือคัดค้านการปลดล็อกนกปรอดหัวโขนออกจากการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เพาะขยายพันธุ์ได้ จำนวน 4 คน จากผู้เข้าร่วมประชุม 200 กว่าคน

เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว และให้เกิดการยอมรับในทุกภาคของประเทศไทย จึงได้กำหนดให้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ ในวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร

เรื่อง ชฎาภรณ์ ศรีใส หัวหน้าฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช