จับตา! การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 

จับตา! การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 

จับตา! การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 หลังคณะกรรมการมรดกโลกกังวลการสร้างเขื่อนบริเวณติดกับมรดกโลก

วาระการประชุมครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ เพราะมีพื้นที่ที่ได้รับการจับตาจากศูนย์มรดกโลก “กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่” อีกทั้งคณะกรรมการมรดกโลกยังเตือนเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี บริเวณที่ติดกับพื้นที่มรดกโลก นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกอีกด้วย

การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-25 กันยายน 66 ณ กรุงริยาด เมืองหลวงของประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ นายพืชภพ มงคลนาวิน รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ทำหน้าที่แทนหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในระหว่างวันที่ 10-17 กันยายน และ 21-25 กันยายน ส่วนนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณผู้แทนไทย ในระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 66

ประเด็นก่อนหน้านี้คณะกรรมการมรดกโลกมีข้อห่วงกังวลและเน้นย้ำให้ไทยดำเนินการตามแนวทางการดำเนินงานของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก หากยังเพิกเฉยอาจนำไปสู่การขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตรายได้

ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยในวาระการประชุมครั้งนี้ ได้แก่

1. การพิจารณารายงานฯ พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ของประเทศไทย ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบต่อข้อเสนอของไทย ในการปรับแก้ไข (ร่าง) ข้อมติ เพื่อชี้ให้เห็นว่า การปรับขอบเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณค่าของพื้นที่ และสถานภาพของแหล่งมรดกโลก

2. กรณีสร้างเขื่อนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ซึ่งกับติดพื้นที่มรดกโลกแก่งกระจาน หลังยูเนสโกให้ทำเอกสารชี้แจงภายใน 1 ธันวาคม 67 คณะผู้แทนไทยมีวาระชี้แจงต่อคณะกรรมการมรดกโลก เรื่อง สถานภาพการอนุรักษ์พื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศไทยที่ได้รับการประกาศแล้ว คือ กลุ่มป่าแก่งกระจาน

สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ คณะกรรมการมรดกโลกแสดงความกังวล เกี่ยวกับการการสร้างเขื่อนภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี บริเวณที่ติดกับพื้นที่มรดกโลก และในพื้นที่นำเสนอแรกเริ่ม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ของแหล่งมรดกโลก

นอกจากนี้คณะกรรมการมรดกโลก ยังกังวลสถานภาพการอนุรักษ์ที่ไม่ชัดเจนของป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี โดยขอให้ประเทศไทยส่งรายงานที่เป็นปัจจุบัน ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 เพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลกได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 47

3. ส่วนการประชุมวันที่ 18-20 กันยายน 66 จะมีวาระการพิจารณาเมืองโบราณศรีเทพเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแหล่งที่ 4 ของประเทศไทย การประชุมครั้งนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมประชุมคาดว่า จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพราะได้ชี้แจงและจัดส่งเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์แล้วใน (ร่าง) ข้อมติ แต่อาจมีการสอบถามเพิ่มเติมจากคณะกรรมการมรดกโลก 21 ประเทศได้หากมีข้อสงสัย ซึ่งประเทศไทยพร้อมชี้แจงในทุกเรื่องทุกประเด็น

ทั้งนี้ หากเมืองโบราณศรีเทพได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะทำให้ไทยมีแหล่งมรดกโลกเพิ่มขึ้นเป็น 7 แห่งต่อจากกลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งเป็นมรดกโลกแห่งที่ 6 ของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2564 อย่างไรก็ตามต้องมาติดตามกันต่อว่าข้อกังวลที่เกิดขึ้น รัฐไทยจะมีวีธีแก้ไขปัญหาอย่างไร

เรื่อง หัสซาน นิยมเดชา

อ้างอิง