ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทย เลิกขี่ช้าง-ดูโชว์ช้าง

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทย เลิกขี่ช้าง-ดูโชว์ช้าง

แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการแก้ปัญหาสวัสดิภาพช้างไทยอย่างต่อเนื่องแต่ปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ก็ยังเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน อย่างที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสาธารณะหลาย ๆ ครั้ง

‘สวนดุสิตโพล’ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลว่า คนไทยส่วนใหญ่มองขี่ช้าง-โชว์ช้าง เป็นการทารุณสัตว์ จากกลุ่มตัวอย่างชาวไทยอายุระหว่าง 16-55 ปี จำนวน 1,116 คน โดยส่วนใหญ่ มองว่ากิจกรรมที่มีการนำช้างมาสร้างความบันเทิง เช่น การขี่ช้าง หรือแสดงโชว์ช้าง เป็นการทารุณกรรมสัตว์ โดยผู้ที่ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 76.60 มองว่า การแสดงโชว์ช้างเป็นการบังคับให้ช้างแสดงพฤติกรรมที่ผิดไปจากธรรมชาติของสัตว์ป่าและเป็นการทรมานช้าง

ดร.ณัฐพล แย้มฉิม ประธานสวนดุสิตโพล

คนไทยร้อยละ 88 มองว่า ควรมีควรมีกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพในแหล่งท่องเที่ยวที่ชัดเจน

“ผลการสำรวจจากสาธารณะชน กลุ่มตัวอย่าง 1,116 คน  ในกลุ่มภาคกลาง กรุงเทพฯ ปริมณฑล ชลบุรี อยุธยา และสมุทรปราการ พบว่าร้อยละ 88.60 บอกว่าควรมีกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพในแหล่งท่องเที่ยวที่ชัดเจน และบังคับอย่างจริงจัง 

ต้องเน้นย้ำครับว่าเรามีกฎหมาย แต่การบังคับใช้ยังไม่เข้มแข็ง ยังไม่ทั่วถึง และยังไม่จริงจังมากพอ 

ถ้าเราอยากเห็นการบังคับใช้ที่จริงจัง ก็ต้องให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามากำกับดูแล ถ้าเรามองว่า ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เป็นสัตว์ที่มีค่าต่อวัฒนธรรมของคนไทย เราก็ควรที่จะดูแลช้างให้เป็นอย่างดี ควรให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพช้างที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จริง ๆ แล้วไม่ใช่ช้างเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงสัตว์อื่น ๆ อีกด้วย 

ปกป้องช้างให้มีความสุข อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่ว่าจะเป็นช้างในแหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งธรรมชาติ” ดร.ณัฐพล แย้มฉิม ประธานสวนดุสิตโพล กล่าว

คุณแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม

มนุษย์ใช้ช้างเป็นเครื่องมือสร้างความบันเทิง แต่กลับไม่ตระหนักถึงความทุกข์ทรมานของสัตว์

“ช้างอยู่กันเป็นโขลงและอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว การฝึกช้างในอดีตไม่ได้หนักเหมือนในปัจจุบัน เมื่อก่อนมีการฝึกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการทำไม้ แต่หลังจากที่มีการปิดป่าแล้วในปี 2532 เราก็นำช้างเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปัจจุบันมีการใช้ลูกช้างเพื่อเอามาฝึก แน่นอนว่าต้องมีการแยกลูกออกจากแม่ เพื่อทำให้ช้างแสนรู้ และต้องกลัวมนุษย์ด้วย การนำลูกช้างออกจากแม่ช้างเป็นสิ่งที่ทุกข์ทรมานที่สุด 

การแยกลูกช้างออกมาแต่ละครั้ง ลูกช้างจะได้รับบาดเจ็บอย่างหลังจากได้รับการฝึก เช่น ผหให้เล่นฮูล่าฮูป วาดรูป  ปาเป้า ไต่เชือก มันเป็นโปรแกรมที่ต่อเนื่องไม่หยุด เมื่อฝึกเสร็จก็ต้องเข้าสู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีโปรแกรมต่ออีก  มีใครเคยตั้งคำถามไหมว่า “ลูกช้างอยู่ตรงนี้ แล้วแม่ไปไหน?”  ช้างให้ความบันเทิงกับเรา แต่กว่าจะผ่านมาในวันนี้ ความทุกข์ทรมานของสัตว์มันหนักหนาสาหัสแค่ไหน” คุณแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม กล่าว

คุณฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย

กฎหมายล้าหลัง บางตัวมีอายุเกือบร้อยปี ที่มีอยู่กลับมีช่องโหว่มากมายที่เปิดให้ปางช้างทำร้ายช้าง

“กฎหมายไทยในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับช้าง โดยเฉพาะช้างเลี้ยงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ค่อนข้างจะซับซ้อนมากทีเดียว กฎหมายมีหลายฉบับเกินไป แล้วก็เน้นในเรื่องการกำหนดให้ช้างเป็นพาหนะ สินค้า รวมไปถึงการกำหนดในการช้งานเขาแบบไหนได้บ้าง กฎหมายบางตัว ไม่มีการอัปเดตมาเกือบร้อยปี และมีน้อยมากที่พูดถึงสวัสดิภาพช้างอย่างจริงจัง 

รัฐบาลไทยเพิ่งจะมีมาตรฐานปางช้างเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าที่ดีในการกำหนดมาตราฐานปางช้างในไทย แต่ก็ยังเป็นมาตรฐานที่ต่ำอยู่ ยังมีช่องโหว่มากมายที่ยังเปิดให้ปางช้างทำร้ายช้างอย่างทารุณ เราจึงอยากจะเสนอกฎหมายใหม่เข้าไปเพื่อที่ปกป้องช้างไทย โดยเฉพาะช้างเลี้ยง อย่างเป็นระบบมากขี้น ชื่อว่าร่าง พ.ร.บ ช้างไทย (ฉบับภาคประชาชน) ซึ่งร่างตัวนี่เราใส่เนื้อหาที่เรามองว่ามีความเป็นไปได้ของไทยในอนาคตในการที่จะปกป้องช้าง อย่างเช่น ยุติการผสมพันธ์เชิงพาณิชย์ หรืออะไรก็ตามที่ไม่มีประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์ช้าง เรามองว่าควรค่อย ๆ fade out และมันจะค่อย ๆ หมดไปในอนาคต เป็นการเดินไปด้วยกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป 

อีกหนึ่งเรื่องที่เราเสนอเข้าไปก็คือการจัดตั้งกองทุนเพื่อสวัสดิภาพช้างไทยโดยเฉพาะ เราคาดหวังว่าจะให้เป็นกองทุนรายย่อยที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนการดำเนินงานของเขา จากปางช้างทั่วไปให้มีสวัสดิภาพสูงได้เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น รวมไปถึงเข้าองค์ความรู้จากคนอื่น ๆ เพื่อให้ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานได้จริง ร่างพ.ร.บ เหล่านี้เราร่างขึ้นมาแล้ว เราใช้สิทธิตาม พ.ร.บ เข้าชื่อต่าง ๆ ต้องใช้ 10,000 รายชื่อ ในการสนับสนุนรายชื่อเข้าสู้สภา แต่มีผู้ให้ความสนใจเข้ามากว่า 20,000 คน” คุณฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าว

สวัสดิภาพช้างเลี้ยงในประเทศไทย

ทั้งนี้องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้มีการเสนอกลไกหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลช้างคือ ร่าง พ.ร.บ. ช้างไทย (ฉบับภาคประชาสังคม) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. การปกป้องการทารุณกรรม เช่น มีการระบุอย่างชัดเจนว่า ลักษณะไหนบ้างที่เป็นการทำร้ายช้าง เช่น การใช้ตะขอสับอย่างรุนแรง การล่ามโซ่ตลอดเวลาไม่ให้มีการพักผ่อน การไม่ปล่อยให้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติโดยอิสระ หรือบังคับแสดง รวมไปถึงการยุติผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์และดูแลช้างรุ่นปัจจุบันที่อยู่ในรูปแบบสวัสดิภาพสูง 

2. ผลักดันกองทุนช้างแห่งชาติ เพื่อช่วยเหลือทั้งในเรื่องของการดูและสวัสดิภาพช้าง การดูแลช้างของกลาง การชดเชยกรณีประชาชนถูกช้างทำร้าย หรือแม้แต่กิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมสวัสดิภาพช้าง 

3. จัดตั้งคณะกรรมการช้างแห่งชาติ สมัชชาแห่งชาติ กลไกป้องกันการค้าขายชิ้นส่วนของช้าง ซึ่งเป็นแนวทางที่เสนอกับสังคมที่จะแก้ไขปัญหาช้างทั้งระบบ

ขณะนี้ร่างดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการรัฐสภาแล้วเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา และยังรอการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี

สวัสดิภาพช้างเลี้ยงในประเทศไทย

เนื้อหาทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งบนเวทีเสวนาในหัวข้อ “ถึงเวลาคนไทย เลิกขี่ช้าง-ดูโชว์ช้าง” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองในประเด็นสวัสดิภาพช้าง ตลอดจนร่วมเสนอแนะแนวทางปรับปรุงพัฒนาต่อภาครัฐ และภาคเอกชน จัดโดย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกประเทศไทย ร่วมกับสวนดุสิตโพล และมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม

ผู้เขียน

+ posts

นัก (อยาก) เขียน ผู้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านภาษาและเหตุการณ์ทางเมือง