ไทยเจอศึกหนัก! ประชาชนเตรียมตัว ‘เอลนีโญ’ อาจทำไทยแล้งขึ้นช่วงฤดูฝน

ไทยเจอศึกหนัก! ประชาชนเตรียมตัว ‘เอลนีโญ’ อาจทำไทยแล้งขึ้นช่วงฤดูฝน

ปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ ในไทยเริ่มต้นขึ้นแล้ว! องค์การอุตุนิยมวิทยา หรือ WMO ออกเตือนรัฐบาลทั่วโลกให้เตรียมรับมือกับเอลนีโญที่จะสร้างผลกระทบต่อสภาพอากาศอย่างรุนแรง

เอลนีโญ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนตัวและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปทวีปอเมริกาใต้แทน

ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่ออุณหภูมิผิวน้ำบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันออก ทำให้ประเทศทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเกิดความแห้งแล้งมากขึ้นกว่าปกติ หรือเอลนีโญอาจก่อให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนในหลายพื้นที่ด้วย เช่น ในพื้นที่ที่เคยมีฝนตกชุก อาจต้องเผชิญหน้ากับภัยแล้ง หรือการขาดแคลนน้ำ จนส่งผลกระทบต่อภาคอื่น ๆ ในประเทศได้

Petteri Taalas เลขาธิการ WMO กล่าวว่า ปรากฏการณ์ในครั้งนี้จะส่งผลกระตุ้นให้เกิดความร้อนสะสมตัวมากขึ้นบนผิวโลก ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าทุกปี ทั้งนี้ทาง WMO ได้ออกเตือนรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ให้เตรียมรับมือกับเอลนีโญ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ร่วมถึงเศรษฐกิจที่เป็นอีกผลกระทบของปรากฏการณ์ในครั้งนี้

แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในแต่ละปี จะไม่ได้มีผลต่อปรากฏการณ์เอลนีโญมากเท่าไหร่ ทว่าเอลนีโญกลับมีอิทธิพลต่ออุณหภูมิโลกโดยตรง กล่าวคือ ปรากฏการณ์นี้จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น จากทั้งไฟป่าและการละลายของเพอร์มาฟรอสต์ (ชั้นดินเยือกแข็งคงตัวที่กักเก็บคาร์บอนเอาไว้) ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้น เอลนีโญอาจจะนำมาซึ่งหายนะทางธรรมชาติอย่างรุนแรงในอนาคตอันใกล้นี้ได้ ไม่ว่าจะเป็น พายุรุนแรง น้ำท่วมฉับพลัน หรือภาวะแห้งแล้ง

ด้านประเทศไทยไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น เนื่องจากไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศในพื้นที่แปซิฟิกตะวันตก กองอำนวยการน้ำแห่งชาติเริ่มประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญอย่างเป็นทางการ และจะทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็น ฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำ หรือน้ำท่วม ทางการจึงอยากให้ทุกหน่วยงานติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยจะต้องเตรียมแหล่งกักเก็บน้ำสำรองและแผนจัดสรรน้ำเพื่อรองรับสถาการณ์น้ำที่กำลังจะเกิดขึ้น

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้มีการจัดเวที “การจัดการน้ำภายใต้ปรากฏการณ์เอลนีโญ 2566-2570” ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมีตัวแทนคณะวิจัยและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องับการบริหารจัดการน้ำและภูมิอากาศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวโน้มของสภาพน้ำและทางออกการจัดการปัญหาด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักวิจัยศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นสลับไปมา ทำให้ฝนมีปริมาณมากหรือน้อยกว่าปกติ ทั้งนี้เอลนีโญมีอยู่ 3 สภาวะ คือ ร้อน กลาง และเย็น แต่ละแบบก็จะส่งผลกระทบแตกต่างกันไป เอลนีโญสภาวะร้อนเกิดขึ้นทุก 2-7 ปี โดยน้ำอุ่นจะเคลื่อนตัวขึ้นมาที่ผิวน้ำบริเวณชายฝั่งอเมริกาใต้ ก่อนที่จะกระจายไปทั่วทั้งมหาสมุทร ทำให้ทั่วโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น

ในประเทศไทย ดร.ชลัมภ์ คาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2566 – 2571  จะเกิดปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ในปี 2568  ภาคใต้จะแล้งรุนแรง  และในปี 2571  จะเกิดความแห้งแล้งเป็นบริเวณกว้าง

ผศ.ดร.จุติเทพ วงษ์เพ็ชร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากการประเมินผลกระทบระยะยาวของปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยยกความสามารถในการกักเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำภายในประเทศ พบว่า หากสถานการณ์เอลนีโญไม่บรรเทาลง อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำต่อเนื่องในระยะยาวได้

หลังจากนี้ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการหรือการดำเนินการรับมือกับปรากฏการณ์เอลนีโญอย่างไร ปรากฏการณ์ธรรมชาติในครั้งนี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง กระทบต่อทุก ๆ ภาคส่วน ดังนั้น นี้จึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของผู้นำประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องร่วมกันหาทางป้องกันและรับมือให้ดีที่สุด 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ