7 กรกฎาคม 2566 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย ปลัดจังหวัดนครราชสีมา อุตสาหกรรมจังหวัดฯ ศูนย์ดำรงธรรม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.ด่านขุนทด ได้เดินทางมายังวัดสระขี้ตุ่น ต.หนองบัวตะเกียด เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดกว่า 200 คน ในกรณีปัญหาผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โปแตช บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ตามที่ได้ตกลงไว้กับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา
เวลาประมาณ 09.15 น. ตัวแทนชาวบ้านได้นำเสนอถึงเหตุผลและข้อห่วงกังวลในด้านต่างๆ เช่น
ผลกระทบทางน้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลหนองไทร ที่แพร่กระจายลงสู่คลองลำมะหลอด ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นน้ำของแม่น้ำลำเชียงไกร และหากมีการขุดเจาะอุโมงค์ใหม่ที่ดอนหนองโพซึ่งเป็นพื้นที่สูงที่สุดในชุมชน หากเกิดผลกระทบทางน้ำ น้ำเค็มย่อมไหลไปได้ทุกทิศทาง และเส้นทางหลักก็คือการไหลลงพื้นที่ฝายสระขี้ตุ่น
ผลกระทบจากปัญหาดินเค็ม ที่เริ่มแพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้างมากขึ้น พื้นที่ลุ่มของหมู่บ้านหนองไทรแทบทั้งหมดได้รับผลกระทบจากดินเค็ม ซึ่งชาวบ้านสระขี้ตุ่นและสระสมบูรณ์นั้นมีอาชีพหลักในการทำเกษตรกรรม หากมีปัญหาดินเค็มเกิดขึ้นในพื้นที่ ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อย่างมาก
ผลกระทบจากการขุดเจาะสำรวจแร่ โดยทางตัวแทนได้มีการยกตัวอย่างให้เห็นว่าเมื่อ 10 ปีก่อน มีการเข้ามาขอขุดเจาะสำรวจแร่ แต่ผลปรากฏว่าพื้นที่ที่ทำการขุดเจาะปรากฏความเค็มเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง ไม่สามารถทำกินได้อีก เมื่อบริษัทจะดำเนินการขุดเจาะในพื้นที่บ้านสระขี้ตุ่นและสระสมบูรณ์ ชาวบ้านจึงไม่ยินยอมเพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบ เพราะจุดเจาะอยู่ใกล้น้ำและตลอดการได้รับผลกระทบก็ไม่มีใครรับผิดชอบ
ผลกระทบจากการไม่ดำเนินการตามมมาตรการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการปกปิดข้อมูล ไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการให้ชาวบ้านในพื้นที่ทราบ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนคือการปล่อยให้น้ำไหลออกมานอกพื้นที่ ปล่อยปละละเลยต่อมาตรการ EIA หรือการสร้างโรงต้มเกลือที่เพิ่มภาระในการแบกรับผลกระทบของชาวบ้านในพื้นที่
ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ประกอบกับผลกระทบที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนที่หมู่บ้านหนองไทร ต.หนองไทร ทำให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยืนยัน ไม่เห็นด้วยให้บริษัทดำเนินการทำเหมืองต่อ นอกจากนี้ทางกลุ่มฯ ยังได้ดำเนินการยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ ต.หนองบัวตะเกียด ต.หนองไทร ต.โนนเมืองพัฒนา อ.ด่านขุนทด จากกรณีสนับสนุนให้มีการล่ารายชื่อสนับสนุนโครงการเหมืองแร่โปแตช แลกรับเงิน 2,000 บาทอีกด้วย
ด้านนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้แสดงความขอบคุณชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ที่เป็นประชาชนที่ตื่นตัวในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรับว่าจะนำประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ชาวบ้านได้นำเสนอหรือตั้งคำถามไปดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องการปิดเหมืองนั้น ด้านผู้ว่าฯ ยังคงยืนยันว่าไม่มีอำนาจในการกระทำการ แต่จะทำความเห็นตามข้อเท็จจริงส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน
หลังจากการพูดคุย ก่อนลงพื้นที่ทางกลุ่มฯ เน้นย้ำว่า เราไม่เอาโครงการเหมืองแร่โปแตชอีกต่อไป หากทางผู้ว่าฯ ทำความเห็นเรียบร้อยแล้วทางกลุ่มฯ จะไปร่วมรับฟังการสรุปความเห็นดังกล่าวที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ส่วนประเด็นเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้นำชุมชนนั้น ทางชาวบ้านขอให้ดำเนินการโดยเร็ว และจะส่งหลักฐานเพิ่มเติมให้หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการเรียบร้อยแล้ว
10.30 น. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้นำพาหน่วยงานราชการลงพื้นที่ใน 4 จุดสำคัญ คือ 1. จุดพิพาทกรณีเทแท่นขุดเจาะของบ้านสระขี้ตุ่น ที่ชาวบ้านมีการปรับสภาพพื้นที่คืนสภาพเดิมแล้ว 2. จุดดอนหนองโพ ซึ่งปรากฏว่ามีการเจาะสำรวจไปแล้ว 2 จุด พร้อมทั้งปรากฏคราบเกลือเป็นบริเวณกว้างรอบแท่นขุดเจาะ 3.จุดบ่อน้ำนอกโครงการโรงต้มเกลือ ที่ปรากฏเป็นสระน้ำขนาดใหญ่จำนวน 2 สระ ลักษณะน้ำเป็นสีเขียวมรกต ขอบบ่อด้านในปรากฏคราบเกลือขาวชัดเจน อีกทั้งยังพบว่ามีการซึมของเกลือออกมานอกบ่ออีกด้วย และ 4. บ่อน้ำสาธารณะหนองมะค่าในที่อยู่ติดที่นาของชาวบ้าน ที่ปรากฏเป็นภาพต้นไม้ยืนต้นตายและคราบเกลือปรากฏชัดเจน
ภายหลังการลงพื้นที่ผู้ว่าฯ ได้มีการชี้แจงย้ำอีกครั้งว่าหลังจากลงพื้นที่ 7 – 10 วัน จะรีบทำสรุปข้อมูล ทั้งข้อมูลที่ตัวแทนชาวบ้านชี้แจงในช่วงเช้า ข้อมูลผลกระทบ รวมถึงข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และหากยังมีพื้นที่อื่นๆที่อยากให้ลงตรวจสอบให้ทางชาวบ้านแจ้งต่อนายอำเภอด่านขุนทดได้โดยตรง ส่วนการสรุปข้อมูลนั้น หากไม่กระทบสิทธิผู้อื่น ก็สามารถเปิดเผยให้ชาวบ้านทราบได้ ส่วนการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางผู้ว่าฯ ก็จะติดตามให้ โดยหลังจากพบชาวบ้าน ทางผู้ว่าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเข้าไปในบริษัทฯพิพาท เพื่อรับฟังความเห็นของอีกฝั่งหนึ่งเช่นกัน
การลงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าหน่วยงานราชการของจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะระดับท้องถิ่น อย่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะเลิกพฤติกรรมนิ่งนอนใจต่อปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เลิกพฤติกรรมการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต และใส่ใจต่อกระบวนการตรวจสอบการทำเหมืองแร่โปแตชให้มากขึ้น
เรื่อง/ภาพ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จ.นครราชสีมา