ประกาศแล้ว! ผืนป่าอนุรักษ์แห่งใหม่ของประเทศไทย ‘เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ’

ประกาศแล้ว! ผืนป่าอนุรักษ์แห่งใหม่ของประเทศไทย ‘เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ’

นับเป็นอีกหนึ่งข่าวน่ายินดี เมื่อมีการประกาศให้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลา และป่าห้วยคอกควาย เป็น เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ พื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งใหม่ของประเทศไทย ที่อยู่ภายในผืนป่าตะวันตกของเรา  

ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ได้กำหนดให้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลา และป่าห้วยคอกควาย ในพื้นที่ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด 16,207 ไร่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป (วันที่ 27 เมษายน 2566)  

ภายในแนวเขตห้ามล่าสัตว์ป่านี้ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการล่าสัตว์ป่า เก็บหรือทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่าทุกชนิด ตามภาพบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลา และป่าห้วยคอกควาย ในท้องที่ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า  

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าคืออะไร?  

ก่อนที่จะกล่าวถึงเขตห้ามล่าสัตว์ป่าน้องใหม่ เรามาว่ากันถึงนิยามทั่วไปของเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากันก่อน แท้จริงแล้ว พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มิได้นิยามความหมายของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเป็นการเฉพาะ เฉกเช่นเดียวกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หากแต่ตามมาตรา 62 ได้ให้ความหมายไว้ว่า  

“บริเวณพื้นที่ใดที่มิได้เป็นที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นของบุคคลใด เว้นแต่เป็นที่ดินของหน่วยงานของรัฐ สมควรอนุรักษ์ไว้ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหรือแหล่งหากินของสัตว์ป่าชนิดใดหรือประเภทนั้นได้ โดยทำเป็นประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้มีแผนที่แสดงแนวเขตนั้นด้วย”  

ส่วนในมาตรา 66 ระบุไว้ว่า “ในกรณีที่มีการกำหนดเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งใด ครอบคลุมบริเวณสถานที่ที่ใช้ในราชการ หรือใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์หรือประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หน่วยงานของรัฐและประชาชนยังคงมีสิทธิเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่่เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่านั้นได้ ตามแผนการอนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามมาตรา 68 ทั้งนี้ ในกรณีที่การใช้ประโยชน์ดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสัตว์ป่าที่ห้ามล่าหรือระบบนิเวศของเขตห้ามล่าสัตว์ป่านั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้งดเว้นการกระทำดังกล่าวหรือสั่งให้ออกไปจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าได้ เป็นคราว ๆ ไป”   

เราอาจนิยามสั้น ๆ ได้ว่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าส่วนใหญ่มักจะเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก อาจตั้งอยู่โดดเดี่ยวหรืออยู่ในชุมชน เว้นแต่ว่า พื้นที่ดังกล่าวจะเป็นแนวกันชน (buffer zone) หรือพื้นที่แนวเชื่อมต่อป่าอนุรักษ์ (corridor) ให้กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ   

โดยวัตถุประสงค์หลักของเขตห้ามล่าสัตว์ป่า คือ เพื่อคุ้มครองชนิดพันธุ์และแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติให้เหมาะสมต่อการดำรงอยู่ของสัตว์ป่า ตลอดจนส่งเสริมให้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติและการวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สู่การสร้างความสมดุลของการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ  

ความสำคัญของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ 

ดังที่กล่าวถึงนิยามของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าไปในเบื้องต้นแล้ว ต่อมาเรามาลงรายละเอียดถึงป่าอนุรักษ์แห่งใหม่ของผืนป่าตะวันตกกันบ้าง  

“ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ” มีพื้นที่ติดกับพื้นที่เตรียมผนวกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและติดกับอ่างเก็บน้ำทับเสลา ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดการจายตัวของสัตว์ป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งด้วย และพบสัตว์ป่ามากมายเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่กว่า 184 ชนิด (ตามตารางที่แนบไปด้านบน) 

ภายในตัวเลขเกือบสองร้อยนั้น มีสัตว์ป่าจำนวนไม่น้อยเป็นสัตว์ป่ามีสถานภาพการอนุรักษ์ EN – Endangered – ใกล้สูญพันธุ์มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ โดยการจำแนกจาก IUCN (International Union for Conservation of Nature) ไม่ว่าจะเป็น วัวแดง ช้างป่า เสือโคร่ง เป็นต้น  

สัตว์ป่านานาชนิดเหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก อันดับแรก สัตว์บางชนิดเป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในพื้นที่ต่าง ๆ อย่าง เสือโคร่ง ซึ่งเป็นผู้ล่าลำดับสูงสุด ถือเป็นผู้ที่ควบคุมจำนวนประชากรสัตว์ชนิดอื่น ๆ ไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป เพราะถ้าหากสัตว์บางชนิดมีจำนวนมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าได้ เป็นต้น  

ดังนั้น เขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศป่าและผืนป่าตะวันตกของเรา เพราะเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำถือเป็นแหล่งรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพและคุ้มครองสัตว์ป่าหายากอีกมากมาย ตามตารางข้างต้น ตลอดจนเป็นพื้นที่กันชนและพื้นที่เชื่อมต่อให้กับผืนป่าอนุรักษ์อื่น ๆ ด้วย ซึ่งสำคัญอย่างมากในฐานะพื้นที่ป้องกันการบุกรุกหรือรุกรานสู่ผืนป่าใหญ่ด้านใน  

อ้างอิง  

  • ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลา และป่าห้วยคอกควาย ในท้องที่ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า  
  • เขตห้ามล่าสัตว์ป่าในประเทศไทย 
  • ภาพประกอบ นางสาวเกศรินทร์ เจริญรักษ์ 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ