เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ชาวบ้านห้วยประสิทธิ์ หมู่ 12 ต.ป่าหุ่ง อ.พาน จ.เชียงราย ประมาณ 300 คน มารวมตัวกัน ณ สนามโรงเรียนเก่าของหมู่บ้าน เพื่อจัดทำประชาคมโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ซึ่งมีเอกชนขออนุญาตก่อสร้างในพื้นที่หมู่บ้าน
ชาวบ้านที่มาในครั้งนี้รวมกันถือป้ายข้อความต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ผลการทำประชาคมนั้น ส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นและลงมติไปในทิศทางเดียวกันคือ ไม่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว
ชาวบ้านหลายคน กังวลต่อผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะได้รับจากโรงไฟฟ้าฯ หากมีการก่อสร้างขึ้นมา ซึ่งจริง ๆ แล้ว ครั้งนี้ถือเป็นการทำประชาคมครั้งแรก เพื่อแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีใครเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว
ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ดำเนินการและทำกิจกรรมเรียกร้องประเด็นดังกล่าวมาตลอด อย่างเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ชาวบ้านก็ได้รวมตัวกันกว่า 500 คน เข้ายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือกับ น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ว่าที่ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เรื่ององค์การบริหารส่วนตำบลป่าหุง อำเภอพาน จ.เชียงราย ซึ่งมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ที่ดำเนินการอยู่ใกล้ชุมชน ใกล้วัดโบราณสถาน โรงเรียน แหล่งน้ำ ชลประทาน ป่าไม้ อุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านรอบโครงการจำนวน 11 หมู่บ้าน และพี่น้องชาวอำพานได้รับผลกระทบ จากโครงการดังกล่าว ชาวบ้านจึงรวมตัวกันมาเพื่อคัดค้านการสร้างในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ในการทำประชาคมในครั้งนี้ ไร้วี่แววผู้นำจากฝ่ายปกครองในพื้นที่เข้าร่วมแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การลงมติของชาวบ้านเป็นการลงอย่างไม่เป็นทางการ
นายสุบิน เป็งเฟย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยประสิทธิ์ กล่าวว่า ชาวบ้านยังคงยืนยันและแสดงการคัดค้านอย่างต่อเนื่อง เพราะหากโครงการเกิดขึ้นจริงอาจก่อให้เกิดมลพิษ และจะทำให้มีการนำขยะจากนอกพื้นที่เข้าไปจำกัดในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้โครงการก่อสร้างไฟฟ้าพลังงานขยะดังกล่าว ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 1,800 ล้านบาท ซึ่งโรงไฟฟ้าสามารถรองรับขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.เชียงราย เพื่อกำจัดได้ราว ๆ 400-500 ตันต่อวัน และในแผนการก่อสร้างระบุไว้เป็นโรงงานระบบปิดที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 9.9 เมกะวัตต์
ทำไมโรงไฟฟ้าพลังงานขยะถึงถูกคัดค้าน
โรงไฟฟ้าพลังงานขยะนั้นจะผลิตพลังงานจากขยะ (Waste to Energy) ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดการกำจัดขยะจากปัญหาขยะล้นเมืองที่เกิดขึ้น โดยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาเป็นส่วนช่วยในการผลักดัน ทำให้มีการนำขยะหมุนเวียนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้านั่นเอง
ข้อดีของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะคือ เป็นพลังงานทางเลือก ในกรณีที่พื้นที่หรือประเทศนั้น ๆ ต้องการจัดหาพลังงานให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้งานของประชาชน นอกจากนี้มันยังช่วยประชาชนในด้านการเกษตรและการกำจัดขยะในพื้นที่ด้วย
ทว่าข้อเสียของมันกลับมากกว่าข้อดี เมื่อตรวจสอบโรงไฟฟ้าขยะบางแห่ง พบว่ามีสารพิษอันตรายสูงอยู่มาก เช่น ไดออกซิน สารหนู แบริลเลียม แคดเมียม โครเมียม ตะกั่ว ปรอท ฝุ่นละอองขนาดเล็ก และก๊าซมีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนรอบโรงไฟฟ้า
ยกตัวอย่างเช่น สารไดออกซิน ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ และมีส่วนในการก่อให้เกิดมะเร็ง พิษต่อระบบประสาท รวมถึงทำให้เกิดความผิดปกติในทารกด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอยู่หลายแห่ง ซึ่งในหลายที่ก็ยังคงมีการคัดค้านอยู่ตลอด หรือในบางพื้นที่มีการคัดค้านจนไม่สามารถดำเนินการต่อได้จนต้องระงับโครงการไว้ชั่วคราว
ด้วยข้อเสียที่กล่าวมาข้างต้น แน่นอนว่าประชาชนหลายฝ่ายย่อมที่จะไม่เห็นด้วยหากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เราจึงต้องจับตาดูต่อไปว่า ความขัดแย้งนี้จะจบลงอย่างไร
อ้างอิง
- ต้านไม่เลิก! ชาวเชียงรายลุยขวางโรงไฟฟ้าขยะ 1,800 ล้าน นัดชูป้ายทำประชาคมเองไร้เงาผู้นำ
- ชาวเชียงรายกว่า 500 คน ร้องค้านสร้างโรงไฟฟ้าขยะอบต.ป่าหุง ต่อ “วิสาระดี” ยกเหตุใกล้ชุมชน
- เพราะอะไร “โรงไฟฟ้าขยะ” ถึงถูกคัดค้านแทบทุกที่
- ภาพประกอบ Zero Waste Europe
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ