การประชุมจากกรณีชาวบ้านชุมชนบ้านห้วยตาด หมู่ 4 บ้านจำปุย ต.บ้านดง อ.แม่มาะ จ.ลำปาง เรียกร้องขอให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านกว่า 40 ครอบครัว ที่ถูกอ้างว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวน ได้ผลสรุปการประชุมแล้ว โดยได้ให้การคุ้มครองและทำกินในพื้นที่เดิมได้ชั่วคราว ระหว่างรอกลไกสำรวจแนวเขตร่วม
เกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ชาวบ้านชุมชนบ้านห้วยตาด หมู่ 4 บ้านจำปุย ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เดินทางไปยื่นหนังสือถึงศูนย์ดำรงธรรม อ.แม่เมาะ และศูนย์ดำรงธรรม จ.ลำปาง เพื่อให้เร่งเข้าแก้ไขปัญหาของชุมชนที่ถูกหน่วยเฉพาะกิจค่ายประตูผาและหน่วยป่าไม้ท่าสีบุกยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านกว่า 40 ครอบครัว รวมแล้วราว ๆ 359 ไร่ โดยถูกอ้างว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวน
ทั้งนี้ ชาวบ้านยืนยันว่าที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินทำกินดั้งเดิม และอยากให้ทางการเร่งตรวจสอบโดยด่วน และในเบื้องต้นอยากให้ทางการผ่อนปรนก่อน เนื่องจากใกล้ช่วงฤดูเพาะปลูกแล้ว ทำให้ชาวบ้านหลายคนเกิดความกังวลว่าจะไม่มีข้าวกินและไม่มีรายได้จากพืชเกษตรในไร่หมุนเวียน
ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมและมีพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยเฉพาะหมู่บ้านจำปุย หมู่ 4 ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง และมีขมุบ้าง โดยอาศัยมาก่อนจะมีค่ายประตูผา ชาวบ้านมีอาชีพทำไร่หมุนเวียนและนำของป่ามาจำหน่าย
ชาวบ้านรายหลายกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เข้ามาไม่เข้าใจวิถีชีวิตของชาวบ้าน คิดว่าชาวบ้านทำไร่หมุนเวียนทำลายป่า บุกเบิกพื้นที่ใหม่ แต่พวกเขาไม่รู้ว่าชาวกะเหรี่ยงมีวิถีที่ไม่ทำลายป่า
มีการตกลงกันมาแล้วหลายครั้งกับผบ.ค่ายประตูผา แต่ก็ไม่ได้มีหลักประเด็นชัดเจน ทำให้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทหารกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้บุกเข้ายึดที่ดินชาวบ้านทั้งหมดราว ๆ 63 แปลง
นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งเพิ่มเติมระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ด้วย กล่าวคือ ชาวบ้านยอมรับว่ามีส่วนหนึ่งบุกรุกพื้นที่บางส่วนจริง แต่ที่เหลือก็เป็นที่ดินทำกิน ทว่าชาวบ้านก็กล่าวเพิ่มเติมว่า ณ ตอนนี้มีขบวนการลักลอบตัดไม้เข้ามาในเขตป่าสงวน เชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐก็รู้เห็น แต่พอเป็นข่าวกลับเอาชาวบ้านที่ทำกินมาเป็นแพะ ทำให้ชาวบ้านต้องยื่นหนังสือไปที่ศูนย์ดำรงธรรม และผู้ว่าราชการ จ.ลำปาง ซึ่งทางผู้ว่าฯ ก็รับรองจะดำเนินการให้ โดยมอบหมายให้ป่าไม้ที่ 3 จ.ลำปาง รีบตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เร็วที่สุด
แหล่งข่าวได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มว่า ขณะนั้นชาวบ้านเกิดความหวาดระแวงเป็นอย่างมาก เนื่องจากทหารนำสำเนาบัตรประชาชนของชาวบ้านไปทั้งหมด โดยที่ยังไม่ได้แจ้งความอะไร ฝั่งชาวบ้านเองก็ต้องการคืน ชาวบ้านต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่จัดการให้ชัดเจน ไม่งั้นพอเปลี่ยนผบ.ค่ายใหม่ก็มีนโยบายใหม่อีก ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวบ้านจึงต้องจัดประชุมขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน 2566
สรุปผลการประชุม 6 มิถุนายน 2566
การประชุมครั้งนี้เพื่อชี้แจง สร้างความเข้าใจ และแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกองทัพบก โดยกองร้อยพิเศษที่ 3 (ค่ายประตูผา) และชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน จัดขึ้นที่ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยมีนาย อบต. บ้านดง เป็นผู้แทนจากอำเภอแม่เมาะ ผู้แทนกองร้อยพิเศษที่ 3 จากค่ายประตูผา, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และชาวบ้านห้วยตาด หมู่ที่ 4 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
ผู้แทนทหารได้ให้คำชี้แจงจากภาพถ่ายทางอากาศในปี 2545 ว่า ชาบ้านนั้นได้ขยายพื้นที่ทำกินจากประมาณ 2,000 ไร่ เป็น 4,000 ไร่ โดยพื้นที่ดังกล่าวนั้นทหารมีการขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้มาตั้งแต่ปี 2516 แล้ว ทั้งนี้พบว่าชาวบ้านมีการบุกรุกเพิ่มเติมอีกจึงได้ดำเนินการเข้าตรวจสอบ
ชาวบ้านได้ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารกันพื้นที่ให้ชาวบ้านไม่ครอบคลุม จึงได้เรียกร้องให้มีการสำรวจแนวเขตชุมชนร่วมกันอีกครั้ง โดยชุมชนเองต้องเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังเรียกร้องให้ทางทหารคืนเอกสารที่ให้ชาวบ้านลงลายมือยอมรับว่าบุกรุกพื้นที่ “ฝึกทางยุทธวิธี” ด้วย เนื่องจากหวั่นผลกระทบที่อาจตามมาได้ เช่น อาจถูกดำเนินคดี
ท้ายที่สุด การประชุมในครั้งก็ได้ ผลการประชุมร่วมกันว่าให้การคุ้มครองชั่วคราวชาวบ้านห้วยตาดสามารถทำกินในที่ดินเดิมได้ ในระหว่างรอกระบวนการตั้งกลไกขึ้นมาสำรวจแนวเขตร่วมกัน ส่วนการจะกันแนวเขตทหารออกจากพื้นที่ชุมชนหรือการสำรวจแนวเขตใหม่นั้น จำเป็นต้องมีคำบัญชาจากผู้บัญชาการทหารบกเท่านั้น
ชาวบ้านเองก็อยากให้ภาครัฐหรือบุคคลภายนอกเข้าใจวิถีชีวิตของชาวบ้านด้วยเช่นกัน นายสมชาติ รักษ์สองพลู จากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.ลำปาง กล่าวว่า “คนบ้านห้วยตาดอยู่ก่อนเกิดค่ายประตูผา และป่าสงวนแห่งชาติด้วยซ้ำ กลับเป็นชาวกะเหรี่ยงที่ทำไร่หมุนเวียนที่ถูกมองว่าบุกรุกป่า เวลาพิสูจน์สิทธิ์กันทีไรก็ถูกมองว่าไร่หมุนเวียนเป็นพื้นที่ป่า ตอนนี้ชาวบ้านทิ้งไร่หมุนเวียนเก่า ๆ ไปเยอะมาก ที่ทำกินตอนนี้อาจจะมีไม่พอแล้วด้วยซ้ำ หน่วยงานรัฐเข้าไปบีบ เสียที่ทำกินปีละน้อย ๆ จนไม่รู้จะเสียอย่างไรแล้ว พอกลับไปทำกินในพื้นที่ไร่หมุนเวียนเดิมก็ถูกมองว่าบุกรุกป่า เป็นการรุกล้ำ แต่แนวเขตมันไม่เคยชัดเจนเลยตั้งแต่ต้น เป็นความผิดทั้งป่าไม้ทั้งทหาร”
อ้างอิง
- ชุมชนป่าแม่เมาะ เตรียมประชุมขอคืนที่ดินทำกิน แฉขบวนการลักลอบตัดไม้
- “คุ้มครองชั่วคราว-ทำกินในพื้นที่เดิมได้” ผลการประชุม “กองทัพบก-ชาวห้วยตาด ลำปาง” กรณีพื้นที่ทับซ้อนชุมชน-อุทยาน
- ภาพประกอบ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ