เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2565 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้จัดกิจกรรม “Kick off ป่าชุมชนแห่งแรก สู่ตลาดคาร์บอนเครดิต” เปิดตัวป่าชุมชนแห่งแรกที่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ ที่ “ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง บ้านโค้งตาบาง หมู่ 10 ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของประเทศไทยในการผลักดันประเทศให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 หรือ Net Zero ให้ได้ภายในปี 2608
ทั้งนี้มูลนิธิสืบฯ กำลังพัฒนาและผลักดันให้เกิดตลาดคาร์บอนเครดิตในเขตป่าชุมชนรอบผืนป่าตะวันตก เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันได้ของชุมชนและป่าอย่างยั่งยืน
เพื่อความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว บทความนี้จะอธิบายความหมายของคาร์บอนเครดิต และรายละเอียดของกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
คาร์บอนเครดิตคืออะไร
ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่าคาร์บอนเครดิตคืออะไร โดยคาร์บอนเครดิต คือ สิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม องค์กรต่าง ๆ จะดำเนินโครงการหรือมาตรการที่มีเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้สิทธิดังกล่าวจะสามารถคำนวนปริมาณและสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้
อาจเปรียบเทียบได้ว่าคาร์บอนเครดิตคือการปล่อยสินเชื่อ เพียงแต่เปลี่ยนจากวงเงินปล่อยกู้เป็นสิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดราคาสินค้าบนพื้นฐานของการคำนึงถึงปริมาณการปล่อยมลภาวะสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังก่อให้เกิดการตระหนักต่อสังคมในแง่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจะมี “ตลาดคาร์บอน” ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการนำคาร์บอนเครดิตมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ ที่จะมีกฎระเบียบข้อบังคับมากำกับการซื้อขายอย่างชัดเจน และมีผลผูกพันทางกฎหมาย 2. ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ มีการตั้งเป้าหมายกันขึ้นเองตามความสมัครใจ และไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย
ป่าชุมชนซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตแห่งแรกของไทย
ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบางนับเป็นป่าชุมชนแห่งแรกที่มีการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558
กรมป่าไม้ได้ร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง นำร่องจัดทำโครงการ T-VER ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง โดยมีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน
คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านโค้งตาบางทำหน้าที่ควบคุมดูแลและฟื้นฟูป่าชุมชนมาโดยตลอด 7 ปี ส่งผลให้ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบางสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 5,259 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบางจึงเป็นป่าชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย ที่พร้อมจะเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต
ทางนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้เตรียมเสนอร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการใช้ประโยชน์จากผลผลิตและบริการป่าชุมชน โดยกำหนดสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตให้แก่คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนประจำป่าชุมชนที่ขึ้นทะเบียน ร้อยละ 90 และเป็นของรัฐโดยกรมป่าไม้ ร้อยละ 10
การเปิดให้ซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของไทย เพราะในปัจจุบันตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยยังมีการซื้อที่ค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นภาคสมัครใจ ประกอบกับมีต้นทุนที่สูง
อย่างไรก็ดี ด้วยเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero จึงทำให้ทส.จำเป็นต้องผลักดันและขับเคลื่อนการปลูกป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าชุมชน ที่ปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 12,117 แห่งทั่วประเทศ เพื่อนำไปสู่กระบวนการคาร์บอนเครดิต ซึ่งนายสุรชัยกล่าวว่า “ถ้าหากเราดำเนินการทุกพื้นที่รวมกันนี้ เราจะสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไว้ได้ 42 ล้านตันคาร์บอน โดยคาดว่าจะสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ราว 6.27 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี”
เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างการตระหนักต่อความสำคัญของป่าไม้แก่ชุมชนจึงเป็นอีกงานที่สำคัญของทส. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในแต่ละชุมชนได้เห็นประโยชน์ของป่าไม้ที่มากกว่าแค่มิติด้าน สิ่งแวดล้อม แต่ยังมีประโยชน์ต่อในด้านประชาชน สังคม และเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากคาร์บอนเครดิตนั้นสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่เป็นเจ้าของป่าได้ตามที่กล่าวไปข้างต้น เพราะฉะนั้นแล้วการผลักดันให้ป่าชุมชนสามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ จึงนับเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญของประเทศ
ดังนั้นป่าชุมชนบ้านโค้งตาบางจึงเป็นต้นแบบที่สำคัญให้แก่ชุมชนอื่น ๆ ในการปลูกป่าชุมชนเพื่อนำมาสร้างผลประโยชน์ให้กับชุมชน ตลอดจนการอาศัยความร่วมมือจากชุมชนให้นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศด้วย
คาร์บอนเครดิตและโมเดลการจัดการป่าชุมชนรอบผืนป่าตะวันตก
นายนริศ บ้านเนิน เจ้าหน้าที่งานป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้ความเห็นถึงความการผลักดันเรื่องนี้ว่า “การที่ป่าชุมชนสามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้นั้น นอกจากจะเป็นก้าวสำคัญในการจัดการปัญหาโลกร้อนแล้ว ยังมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสร้างผลประโยชน์ให้แก่ชุมชน เนื่องจากการดูแลรักษาป่าชุมชนนั้น เดิมทีไม่ได้มีทุนมาช่วยดูแลตรงนี้มากมายเท่าไหร่นัก เพราะปกติแล้วกรรมการป่าขุมชนจะมาดูแลป่าชุมชนกันด้วยความสมัครใจ ดังนั้นการเปิดให้ซื้อขายคาร์บอนเครดิตโดยป่าชุมชนได้นั้น จึงถือเป็นการเพิ่มแหล่งทุนในการดูแลรักษาป่าชุมชนมากขึ้นด้วย นอกจากนี้การมีป่าชุมชนยังเป็นการสร้างเครดิตแก่ชุมชนให้สังคมทั่วไปได้รับรู้ถึงความรับผิดชอบของชุมชนต่อการดูแลรักษาผืนป่าและการรับมือกับสถานการณ์โลกร้อนด้วย ทั้งหมดนี้เป็นขับเคลื่อนสำคัญของชุมชนในการดูแลรักษาป่าอย่างยั่งยืน”
จากการที่ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบางได้เปิดให้ซื้อขายคาร์บอนเครดิตถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการจัดการป่าชุมชนในพื้นที่อื่น ๆ โดยป่าชุมชนรอบผืนป่าตะวันตกเอง ก็กำลังนำประเด็นเรื่องโลกร้อนและคาร์บอนเครดิตมาเป็นแผนการปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ นายนริศกล่าวถึงการผลักดันการสร้างตลาดคาร์บอนเครดิตของป่าชุมชนโดยรอบผืนป่าตะวันตกว่า “ปัจจุบันโครงการป่าตะวันตกเองก็มีการผลักดันเรื่องคาร์บอนเครดิตอยู่เหมือนกับป่าชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศ ขณะนี้ป่าชุมชนในเขตพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรกำลังทดลองนำโมเดลตลาดคาร์บอนเครดิตมาปรับใช้ โดยกำลังอยู่ในขั้นตอนของการหารือกับหลายภาคส่วน เนื่องจากการผลักดันเรื่องนี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนอื่น ๆ และความร่วมมือจากหลายฝ่าย”
การที่ป่าชุมชนเป็นตลาดคาร์บอนเครดิตนั้นเป็นประโยชน์ต่อทั้งคนและป่า โดยคนในชุมชนสามารถสร้างรายได้จากตลาดคาร์บอนได้ จนส่งเสริมให้เศรษฐกิจภายในชุมชนดีขึ้น ผืนป่าเองก็จะได้รับผลประโยชน์เช่นกัน ป่าชุมชนทำหน้าที่เสมือนป่ากันชนระหว่างชุมชนและป่าใหญ่ เมื่อป่าชุมชนสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน ชุมชนก็จะช่วยกันดูแลรักษาป่า ผืนป่าจะมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ดังนั้น การผลักดันป่าชุมชนรอบผืนป่าตะวันตกให้เป็นตลาดคาร์บอนเครดิตจึงเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่สำคัญของมูลนิธิสืบฯ ที่จะช่วยให้ผืนป่าและชุมชนอยู่ร่วมกันได้ โดยที่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่รบกวนกันและกัน
อ้างอิง
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ