อนุมัติแล้ว! ‘วาฬสีน้ำเงิน’ ขึ้นทะเบียนสัตว์ป่าสงวน หวั่นใกล้สูญพันธุ์ 

อนุมัติแล้ว! ‘วาฬสีน้ำเงิน’ ขึ้นทะเบียนสัตว์ป่าสงวน หวั่นใกล้สูญพันธุ์ 

ครม.ไฟเขียวแล้ว อนุมัติให้ วาฬสีน้ำเงิน ขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวนอีกหนึ่งชนิด เพื่ออนุรักษ์และป้องกันเอาไว้ สาเหตุจากความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ระดับโลก ส่วนสถานะไทยก็ไม่ต่างกัน! 

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน (ฉบับที่…) พ.ศ….. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้วาฬสีน้ำเงิน (Balaenptera musculus) เป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม พร้อมกับอนุมัติให้รวมเป็นกฎหมายฉบับเดียวกันกับร่าง พ.ร.ฎ. ที่ ครม. ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดให้นกชนหิน หรือนกหิน เป็นสัตว์ป่าสงวน

วาฬสีน้ำเงินและนกชนหินจะเป็นสัตว์ป่าสงวนนี้เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของมาตรา 6 วรรคสอง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งบัญญัติว่าในกรณีที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว่าเห็นว่าสัตว์ป่าชนิดใดสมควรกำหนดเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติมจากที่บัญญัติไว้ในท้าย พ.ร.บ.ฯ ให้ออกเป็น พ.ร.ฎ.

ก่อนหน้านี้วาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ป่าควบคุมตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยวาฬสีน้ำเงินถือเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีแหล่งที่อยู่อาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ ในส่วนของประเทศไทยมีข้อมูลการค้นพบวาฬสีน้ำเงินเฉพาะทะเลฝั่งอันดามันเพียง 3 ครั้ง 

ทว่าในอดีตมันถูกล่าและจับเป็นจำนวนมากเพื่อนำเนื้อและไขมันมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน นอกจากนี้วาฬสีน้ำเงินยังประสบกับปัญหาแหล่งอาหารลดลงเนื่องด้วยสาเหตุการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและความเป็นกรดในทะเลด้วย ซึ่งนี่ส่งผลโดยตรงต่อการสืบพันธุ์และการดำรงชีวิต 

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จึงได้ขึ้นบัญชีให้วาฬสีน้ำเงินมีสถานะเป็นชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species : EN) หรืออยู่ในบัญชี IUCN Red List ซึ่งประเทศไทยก็ได้ขึ้นบัญชีวาฬสีน้ำเงินเป็นชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์เช่นกัน (Thailand Red Data) 

อย่างไรก็ดี วาฬสีน้ำเงิน และ นกชนหินหรือนกหิน จะได้รับการอนุรักษ์และดูแลอย่างเข้มงวดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เช่นเดียวกับสัตว์ป่าสงวน ที่ปัจจุบันมี 4 จำพวก 19 ชนิด ได้แก่ (1) สัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนำ เช่น กระซู่ กวางผา (2) สัตว์ป่าจำพวกนก เช่น นกกระเรียน (3) สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน เช่น เต่ามะเฟือง (4) สัตว์จำพวกปลา เช่น ปลาฉลามวาฬ

ทั้งนี้ เมื่อยกระดับวาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ป่าสงวนแล้ว ภาครัฐเองก็จะต้องเข้ามาดูแลและหามาตรการคุ้มครองอย่างเข้ามงวดเพื่อไม่ให้มันถูกรบกวนหรือถูกคุกคาม 

เนื่องจาก วาฬสีน้ำเงินถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก พวกมันเป็นนักล่าตัวท็อปในห่วงโซ่อาหารของมหาสมุทร หากสูญเสียพวกมันไปก็อาจนำไปสู่ปัญหาทางทะเลอันใหญ่หลวงที่จะตามมาได้

วาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ที่สร้างความสมบูรณ์ให้แก่ระบบนิเวศและสัตว์ทะเล ดังนั้นเมื่อมันได้เป็นสัตว์สงวนแล้ว นอกจากมาตรการป้องกันทางกฎหมาย รัฐยังต้องส่งเสริมชุมชนและประชาชนทั่วไปให้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์วาฬสีน้ำเงินต่อไปด้วย เพื่อที่จะให้ท้องทะเลของโลกเรามีความสมดุลในระบบนิเวศมากที่สุด 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ